คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่ร่วมจึงอยู่รอด (ตอนที่ 1)

คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่ร่วมจึงอยู่รอด (ตอนที่ 1)

วันนี้เรามาพบกันเพื่อแสดงความคารวะต่อมิตรผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งจากไปเมื่อ 20 ปีก่อน ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่อุทิศชีวิตให้กับการพิทักษ์สัตว์ป่าและผืนป่าในประเทศไทย ตลอดจนเป็นผู้จุดประกายที่เรืองโรจน์โชติช่วงที่สุดให้กับขบวนอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศของเรา

ปัจจุบันชื่อของท่านยังคงสถิตสถาพรอยู่ในนามของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

หลายท่านคงจำได้ว่าในปี 2533 ความตายของคุณสืบเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งบดขยี้หัวใจของคนทั้งประเทศ มันเป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้หลายคนต้องหันมาสนใจเรื่องป่าและสัตว์ป่าเป็นครั้งแรกในชีวิต และจำนวนไม่น้อยต้องหันมาถามตัวเองว่าได้ทำอะไรบ้างแล้วหรือยัง ในการช่วยรักษามรดกธรรมชาติไว้ให้ลูกหลาน

ภาพของสืบ นาคะเสถียร เป็นภาพของข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็กๆ ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการพิทักษ์ผืนป่า แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรครอบด้าน ตั้งแต่ความไม่จริงใจของนักการเมืองที่เรืองอำนาจ ระบบราชการอันเย็นชา งบประมาณทำงานอันน้อยนิด การคุกคามของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นที่ลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้ ไปจนถึงชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ต้อง ’บุกรุก’ ป่าอย่างไม่มีทางเลือก ทั้งหมดนี้นับเป็นภารกิจอันหนักหนาสาหัส เกินกว่าที่คนๆ เดียวจะแบกรับไว้ได้

ในที่สุด ความคับแค้นที่สั่งสมก็ทำให้คุณสืบตัดสินใจส่งข่าวสารต่อสังคมไทย ด้วยวิธีการเฉียบขาดที่สุด และมีราคาแพงที่สุด

วันที่ 1 กันยายน 2533 เป็นวันที่ฟ้าหลั่งฝน คนหลั่งน้ำตา…

แน่ละ ความตายของคนเรานั้น อาจพิจารณาได้จากหลายมิติ และอาจค้นหาความหมายได้ในหลายระดับ เพราะฉะนั้นในกรณีของสืบ นาคะเสถียร จึงพูดได้ในบางมุมมองว่าแท้จริงแล้วคุณสืบไม่ได้จากไป หากเพียงเปลี่ยนรูปแบบในการดำรงอยู่ หรือ ‘จากไปเพื่อจะได้อยู่ร่วมชั่วนิรันดร์’

ใช่หรือไม่ว่าทุกวันนี้ สืบ นาคะเสถียรยังคงอยู่กับพวกเรา ทั้งในฐานะจิตวิญญาณที่เชื่อมร้อยกับทุกอณูของสรรพชีวิตในผืนป่า อีกทั้งในฐานะแรงบันดาลใจของผู้รักธรรมชาติทุกคน

ใช่หรือไม่ว่าสืบ นาคะเสถียรไม่ได้หายไปไหน หากในรูปของมูลนิธิ คุณสืบยังคงเฝ้าดูแลผืนป่าตะวันตก ตลอดจนดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติในอีกหลายๆ ด้าน

อย่างไรก็ตาม… ทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่า 20 ปีที่ผ่านมา การสานต่อเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียรได้กลายเป็นกระแสหลักในสังคมไทยแล้ว และยิ่งมิได้หมายความว่าสถานการณ์อนุรักษ์ธรรมชาติทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยกำลังประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

เมื่อ 20 ปีก่อน แม้ว่า ‘เสียงตะโกนจากพงไพร’ ของคุณสืบจะดังกึกก้องไปทั่วทั้งประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะขานรับคำขอร้องของเขา ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่ยึดถือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเป็นแนวทางแห่งชีวิต

ผมจำได้ว่า เคยเขียนเตือนเรื่องนี้ไว้แล้วในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งอุทิศให้กับสืบ นาคะเสถียรโดยตรง

“วีรบุรุษนั้นเหมือนจะมาก่อนกาลเวลาเสมอ ทั้งนี้เพราะพวกเขาคือผลพวงจากความต่ำต้อยของผู้อื่น… สิ่งที่ชวนโศกสลดก็คือเมื่อวีรบุรุษล้มลงด้วยความเหนื่อยล้า โลกไม่อาจหามือผู้ใดไปประคองได้ นอกจากมือของผู้ต่ำต้อยที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ต่อจากนั้น… ทุกคนก็แบกร่างเขาไปบนเส้นทางที่ตนเองคุ้นเคย”

พูดก็พูดเถอะ ในฐานะเลขาธิการคนแรกของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ผมได้เห็นขบวนแห่แหน ’วีรบุรุษ’ ผู้นี้ด้วยตาของตนเอง ยามนั้นใครๆ ก็อยากได้ของขลังชิ้นใหม่ อยากได้ชื่อสืบ นาคะเสถียรไปแต่งแต้มกิจกรรมและกิจการของตน ไม่เว้นแม้แต่บริษัทห้างร้านที่ขายอุปกรณ์โค่นป่าตัดต้นไม้ และเวทีประกวดนางงาม

กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ หลายคนคิดว่าจะใช้ชื่อสืบไปทำอะไรก็ได้ ขอเพียงระบุว่า “รายได้บางส่วนมอบให้มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร” ก็พอแล้ว

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันนั้น แม้ผู้คนจำนวนมากจะสะเทือนใจอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่ช้าไม่นานพวกเขาก็รุดหน้าไปตามเส้นทางดั้งเดิมที่ปราศจากสำนึกเกี่ยวร้อยกับสิ่งใด… เส้นทางที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง และเห็นชีวิตอื่นเป็นเพียงวัสดุใช้สอย

นี่เป็นทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็นปัญหาจิตสำนึก ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นกระแสหลักทั้งในโลกและในประเทศไทยมาตลอดระยะ20ปี… แน่นอน สภาพดังกล่าวย่อมส่งผลให้โลกเลวลง

ถึงตรงนี้ ผมขออนุญาตชวนท่านมาทบทวนสถานการณ์ของโลกธรรมชาติในปัจจุบัน

หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าในอดีตเมื่อประมาณสองสามพันปีก่อน ป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rainforests) เคยครอบคลุมพื้นที่ราว 14 เปอร์เซ็นต์ของผิวโลกส่วนที่เป็นแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ในระยะไม่กี่ศตวรรษมานี้ รวมทั้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ป่าเขตร้อนในปัจจุบันกลับมีพื้นที่เหลือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของผิวโลกส่วนที่ไม่ใช่น้ำ

ตัวเลขที่เหลือเชื่อก็คือ ทุกวันนี้ ผืนป่าเขตร้อนในขอบเขตทั่วโลกยังคงถูกทำลายถึงวันละประมาณ 2 แสนเอเคอร์ (หนึ่งเอเคอร์เท่ากับ 2.5 ไร่) ซึ่งเท่ากับ 150 เอเคอร์ต่อนาที หรือ 78 ล้านเอเคอร์ต่อปี บรรดาผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าหากอัตราการทำลายป่ายังคงดำเนินไปในลักษณะนั้น ป่าเขตร้อนก็อาจหายไปจากโลกภายในเวลาอีกไม่ถึง 40 ปี

ป่าเขตร้อนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของพรรณพืชพันธุ์สัตว์และแมลงของโลก ซึ่งประเมินกันว่ามีอยู่ประมาณ 10 ล้านชนิด ล้วนอาศัยอยู่ในป่าแบบนี้ ดังนั้น การสูญเสียพื้นที่ป่าดังกล่าวจึงส่งผลให้สรรพชีวิตต้องจากไปอย่างเลี่ยงไม่พ้น มีการคำนวณว่าในแต่ละวัน พืช สัตว์และแมลงประมาณ 137 ชนิดต้องสูญพันธุ์ไปด้วยสาเหตุที่ป่าถูกทำลาย ซึ่งหมายถึงว่าในแต่ละปีโลกกำลังสูญเสียพรรณพืชพันธุ์สัตว์และแมลงถึง 5 หมื่นชนิดเลยทีเดียว

อันที่จริง ไม่เพียงพืชและสัตว์เท่านั้นที่ถูกคุกคามจากการทำลายป่า มนุษย์เองก็สูญเสียปัจจัยที่เกื้อหนุนความอยู่รอดของตนไปอย่างประเมินค่ามิได้ ทั้งนี้เนื่องจากอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ของอาหารในโลกที่พัฒนาแล้วล้วนมีแหล่งที่มาจากป่าเขตร้อน และตัวยาที่ใช้ในการแพทย์แผนตะวันตกก็มาจากป่าเขตร้อนถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าป่าเขตร้อนเป็นตัวแปรสำคัญในการผลิตออกซิเจน ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ช่วยควบคุมอุณหภูมิและความคงเส้นคงวาของภูมิอากาศโลก

ดังนั้น การสูญเสียผืนป่าจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการก่อภาวะโลกร้อนด้วย ซึ่งส่งผลต่อไปสู่ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ และได้กลายเป็นภัยร้ายแรงสำหรับมนุษยชาติอยู่ในปัจจุบัน

ในระยะหลังๆ นี้ ท่านทั้งหลายก็คงเคยได้ยินข่าวเรื่องน้ำท่วมใหญ่ในประเทศต่างๆ หรือพายุรุนแรงที่พัดเข้าถล่มในทุกภูมิภาคของโลก ตลอดจนภาวะแห้งแล้งผิดปกติ และคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนในหลายที่หลายแห่ง

กล่าวสำหรับในเมืองไทย แม้ว่าหลังจากสืบ นาคะเสถียรได้พลีชีพไปไม่นาน ผืนป่าตะวันตก อันประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรรวมกับป่าอนุรักษ์อีกจำนวนหนึ่งจะถูกยกฐานะเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก (คิดเป็นพื้นที่ราว 11 ล้านไร่) แต่ในสถานการณ์โดยรวมหลังปี 2533 พื้นที่ป่าก็ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ตกปีละประมาณหนึ่งล้านไร่เศษ กระทั่งเวลาผ่านมาถึงช่วง 2543 – 2547 พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกเพิ่มเติม ก็ยังกินบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล รวมแล้วเกือบ 4 ล้านไร่

ผมคงไม่ต้องพูดก็ได้ว่าผลที่เกิดจากการทำลายผืนป่าในประเทศไทยย่อมไม่ต่างจากการทำลายป่าเขตร้อนในประเทศอื่นๆ… สัตว์ป่าและพรรณพืชหลายชนิดล้มหายตายจาก อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ สภาพน้ำท่วมฉับพลันและภาวะฝนแล้งเกิดขึ้นในความถี่สูง กระทั่งเกิดขึ้นพร้อมกัน

ปัจจุบัน ประเมินกันว่าประเทศไทยมีป่าอนุรักษ์เหลืออยู่ร้อยละ 17.66 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 90.6 ล้านไร่ แต่นี่เป็นการนับรวมพื้นที่ป่าชายเลนเอาไว้ด้วย ซึ่งหมายถึงว่าป่าบกมีเหลือน้อยกว่านั้น

ถามว่าทำไมเราจึงหยุดยั้งการทำลายป่าไม่ได้ ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ทั้งปวงล้วนชี้ชัดว่านี่คือการฆ่าตัวตายรวมหมู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่บนพื้นพิภพแห่งนี้?

ผมเคยครุ่นคิดถึงปัญหาดังกล่าวมานานหลายปี แล้วสรุปได้ว่าประเด็นมันมิได้มีแค่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า หากยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับชีวิตของตนเอง

กล่าวเช่นนี้หมายความว่ากระไร? พูดง่ายๆ คือการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมอื่นโดยน้ำมือมนุษย์นั้น มิได้เกิดจากความไร้จิตสำนึกหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างเดียว (แม้ว่าข้อนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญ) แต่การที่ผู้คนทำลายป่าตลอดจนสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและสังคมด้วย

มันเป็นระบบที่ด้านหนึ่งปลุกเร้าให้มีการผลิตและการบริโภคอย่างปราศจากขอบเขตและในอีกด้านหนึ่งก็สร้างความไม่เป็นธรรมในด้านการกระจายทรัพย์สินตลอดจนโอกาสต่างๆ ในชีวิต จนกระทั่งคนจำนวนมหาศาลไม่มีทางเลือกเป็นอื่น นอกจากบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อแสวงหาความอยู่รอด

กล่าวอีกแบบหนึ่งคือผู้คนรุกล้ำทำลายธรรมชาติ เพราะถูกปลุกเร้าหรือไม่ก็ถูกขับต้อนจากคนด้วยกัน

อย่างไรก็ดี กระบวนการดังกล่าวจะเกิดได้ยาก หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ามุมมองที่มนุษย์มีต่อชีวิตของตนไม่โน้มเอียงไปในทางวัตถุนิยมสุดขั้วดังที่เป็นอยู่ ไม่เข้าใจชีวิตผิดๆ ว่าเป็นเพียงการดำรงอยู่แบบ ’ตัวกูของกู’ และคิดแต่จะอาศัยสิ่งภายนอกมาสร้างตัวตนหรือสนองความพอใจของอัตตา

ดังนั้น ผมจึงจำเป็นต้องยืนยันว่าการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอื่นๆ ไม่เพียงเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน หากยังถูกขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับชีวิตอีกอย่างหนึ่ง จากนั้นกระบวนการทั้งหมดจึงถักทอขึ้นเป็นสภาวะไร้จิตสำนึกอย่างสิ้นเชิง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล

แน่ละ เมื่อแยกแยะลงไปแล้ว การสูญเสียผืนป่าเขตร้อนอาจจะมาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การตัดไม้ไปขาย การเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับเกษตรกรรม การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ไปจนถึงการขุดแร่ทำเหมือง และการขยายตัวของแหล่งท่องเที่ยว

แต่ถ้าจะให้กล่าวอย่างสรุปรวบยอดแล้วก็คงต้องยืนยันว่าการทำลายผืนป่าและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอื่นๆ มีสาเหตุหลักมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และความไม่เป็นธรรมทางสังคม

การที่ป่าเขตร้อนมีอยู่เฉพาะในดินแดนใกล้เส้นศูนย์สูตร ผืนป่าแทบทั้งหมดจึงอยู่ในประเทศยากจน เพราะฉะนั้นวิธีหารายได้ง่ายๆ อย่างหนึ่งของประเทศเหล่านี้คือการตัดไม้ขายให้ประเทศที่ร่ำรวย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกตะวันตก สำหรับในซีกโลกตะวันออกนั้นมีญี่ปุ่นเป็นลูกค้าสำคัญ

ยิ่งไปกว่านี้ ป่าเขตร้อนบางแห่งเช่นแถบลุ่มน้ำแอมะซอนในอเมริกาใต้ ยังถูกทำลายอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อเปิดพื้นที่ให้กิจการปศุสัตว์ ซึ่งผลิตเนื้อวัวส่งไปยังประเทศมั่งคั่ง สภาพดังกล่าวนับว่าเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาป่าแอมะซอนได้ช่วยแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปเป็นออกซิเจนในปริมาณมหาศาล ออกซิเจนของโลกนั้นถูกสร้างขึ้นโดยป่าแอมะซอนถึงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้น คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการทำลายป่าเขตร้อนเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจโลก เกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยมของผู้คนในประเทศที่ร่ำรวย แม้ผู้คนในประเทศเหล่านั้นอาจไม่เคยตัดไม้หรือเผาป่าด้วยตนเอง แต่ก็อยู่เบื้องหลังการสูญเสียป่าเขตร้อนด้วยอำนาจซื้อที่เหลือเฟือ

ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้ประเมินไว้ว่าทรัพยากรของโลกประมาณ 4 ใน 5 ส่วน หรือร้อยละ 80 นั้นถูกบริโภคโดยประเทศที่มั่งคั่ง ซึ่งมีคนอยู่รวมกันแล้วแค่ร้อยละ 20 ของประชากรโลกเท่านั้นเอง

แต่ก็อีกนั่นแหละ ประเด็นดังกล่าวไม่ได้จบลงแค่ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ หากยังเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศโลกที่สามเอง และนั่นก็เป็นสาเหตุสำคัญไม่แพ้กันที่นำไปสู่การทำลายพื้นที่ป่า

ในประเทศที่มีผืนป่าเขตร้อนขนาดใหญ่อย่างบราซิล ปรากฏว่าที่ดินทำกิน 42 เปอร์เซ็นต์ถูกถือครองโดยคนแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชาวไร่ชาวนาไร้ที่ดินนั้นมีจำนวนมากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรบราซิลทั้งหมด ดังนั้น คงไม่สงสัยเลยว่าทำไมคนยากคนจนเหล่านี้จึงต้องรุกเข้าไปตั้งรกรากในป่าแอมะซอน

เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศไทย นักวิชาการประเมินกันว่าที่ดินที่ถือครองได้ (คือไม่ใช่ที่ดินของรัฐ) มีถึง 90 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในมือของคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประชากรไทย 90 เปอร์เซ็นต์ ต้องเอาที่ดินเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ไปแบ่งกันอยู่อาศัยหรือทำกิน ซึ่งก็แน่นอน คนจำนวนมากมายมหาศาลย่อมไม่ได้รับส่วนแบ่งอันใด ในประเทศไทยมีชาวนาไร้ที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก และที่รุกเข้าไปหาที่ทำกินในเขตป่าสงวนก็มีจำนวนนับล้านคน

พูดก็พูดเถอะ แม้แต่ในเขตป่าอนุรักษ์ก็ยังมีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย อาจจะมากกว่า 4 แสนครัวเรือน แต่ปัญหานี้มีความสลับซับซ้อนมากกว่าปัญหาอื่น เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านได้อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนการประกาศจัดตั้งเขตอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมักเป็นชาติพันธุ์ส่วนน้อย เช่นชาวกระเหรี่ยงในผืนป่าตะวันตก และชาวมลายูในผืนป่าทางใต้ เป็นต้น

ประชาชนเหล่านี้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอยู่ร่วมกับป่ามากกว่าพวกที่รุกเข้าไปจากภายนอก และถ้าหากไม่ถูกระบบทุนนิยมพาไปทางอื่นเสียก่อน ก็ไม่น่าจะก่อความเสียหายอะไร

อย่างไรก็ตาม กล่าวโดยรวมแล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการสูญเสียผืนป่าในประเทศไทยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาความยากจน และปัญหาความยากจนก็มีสาเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้คนจำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน หรือเข้าไม่ถึงฐานทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการหาเลี้ยงชีพ

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนเป็นผลมาจากแนวทางพัฒนาที่ไม่สมดุล ซึ่งหมายถึงว่าความยากจนในชนบทนั้นเกิดจากการถูกละเลยทอดทิ้ง กระทั่งถูกจงใจเอาเปรียบโดยนโยบายของรัฐด้วย ชาวไร่ชาวนาไทยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมกลับได้รับการสนับสนุนดูแลเป็นอย่างดี

ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างรายได้อย่างมหาศาล ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเอง ซึ่งยืนยันไว้ว่าในปี 2550 กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศถึงร้อยละ 54.9 ในขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 4.4 เท่านั้น สำหรับกลุ่มประชากรที่อยู่ภายใต้เส้นแบ่งความยากจน (ประมาณเดือนละ 1400 บาท) ซึ่งถือว่ามีรายได้ไม่พอเพียงในการดำรงชีวิตนั้น มีถึงประมาณ 5.4 ล้านคน

พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่า ยิ่งพัฒนาช่องว่างระหว่างรายได้ก็ยิ่งถ่างกว้างขึ้น แต่สิ่งที่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้บอกไว้คือรายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม… กระจุกตัวอยู่ในสังคมเมือง

ดังนั้นปัญหาความยากจนจึงเป็นสถานการณ์ในชนบทเสียส่วนใหญ่ จากการประเมินของ UNDP (สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) อย่างน้อย 1 ใน 10 ของครัวเรือนในชนบทไทยยังคงเป็นคนยากไร้

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยินเรื่องราวของชาวนาคนหนึ่งจากจังหวัดปราจีนบุรี เธอเล่าให้ฟังว่าหลังจากขายข้าวที่เกี่ยวเสร็จในฤดูหนึ่งได้หนึ่งแสนบาท ปรากฏว่ามีเงินเหลือกลับบ้านเพียง 25 บาทเท่านั้นเอง รายได้ทั้งหมดต้องนำไปใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่าพันธุ์ข้าวและยาฆ่าแมลง ในฤดูถัดมา การเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล เมื่อขายข้าวเสร็จแล้ว เธอยังต้องตกเป็นหนี้อีกสองแสนบาท

ผมเชื่อว่าเรื่องของชาวนาผู้นี้ สามารถเป็นภาพสาธิตของสถานการณ์ที่ชาวนาไทยกำลังเผชิญอยู่โดยรวม สิ่งที่น่าวิตกอย่างหนึ่งในเวลานี้ก็คือภาวะยากจนของชาวไร่ชาวนานั้นมักจะแยกไม่ออกจากการมีหนี้สิน และการมีหนี้สินก็มักนำไปสู่การสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งหมายถึงว่ากระบวนการสูญเสียที่ดินของชาวนายังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าในยุคโลกาภิวัตน์ การเข้ามาของกลุ่มทุนข้ามชาติบวกกับกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทย ยิ่งทำให้ที่ดินทำกินและฐานทรัพยากรอื่นๆ ถูกนำมาไว้ภายใต้กลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ที่ดินเปลี่ยนมือได้โดยง่าย และกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินยิ่งกระจุกตัวมากกว่าเดิม ทั้งเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ และการเก็งกำไร

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การรุกเข้าไปหาที่ทำกินใหม่ในผืนป่า หรือการรับจ้างนายทุนบุกรุกผืนป่าโดยผู้ยากไร้ คงจะยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป

เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม ตลอดเวลา 20 ปีหลังจากความตายของสืบ นาคะเสถียร ปัญหาการรุกพื้นที่ป่าและการสูญเสียผืนป่าในประเทศไทยจึงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อผืนป่าสูญหายสัตว์ป่าก็จากไป แต่ใครเล่าจะตำหนิคนยากคนจนได้ลงคอ… นี่เป็นความร้าวรานใจของคุณสืบมาตั้งแต่ต้น และเป็นความร้าวรานใจของนักอนุรักษ์ธรรมชาติเสมอมา

พูดถึงประเด็นนี้ ผมคงต้องขอแสดงความชื่นชมมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ภายใต้การนำของอาจารย์รตยา จันทรเทียร ที่ได้ขับเคลื่อนโครงการ ‘จอมป่า’ (JOMPA /Jointed Management of Protected Areas) หรือ ‘โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม’ มาเป็นกรอบการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวกระเหรี่ยง ผมเห็นว่านี่เป็นโครงการบุกเบิกที่สำคัญยิ่ง เพราะทิศทางของอนาคตนั้น การรักษาผืนป่า ตลอดจนฐานทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล หรือแม่น้ำ ลำธาร ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

บทเรียนของมูลนิธิสืบฯ ในการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยกำหนดแบบแผนของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ หรือจัดความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ต่อไปจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการชำระล้างพิษภัยจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล

คำขวัญของโครงการที่กล่าวว่า ‘คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสือก็อยู่ได้’ นั้น นับว่าจับประเด็นใจกลางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้อย่างคมชัดและงดงาม มันมีความหมายลึกซึ้งของการอยู่รอดร่วมกัน และสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของสรรพชีวิตที่เกี่ยวร้อยกันในฐานะบุตรหลานของจักรวาล

ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ คำขวัญดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวคิดของสืบ นาคะเสถียรเป็นอย่างยิ่ง

ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของคุณสืบที่ถูกบันทึกไว้

“ผมคิดว่าป่าไม้จะอยู่ได้ คนต้องอยู่ได้ก่อน เพราะคนที่ด้อยโอกาสในสังคมเขาไม่สามารถจะไปเรียกร้องอะไร คนพวกนี้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับป่าไม้ เขาควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากป่า ผมคิดว่าป่าจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับคนเหล่านี้ด้วย”

 

คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่ร่วมจึงอยู่รอด ตอนที่ 2

 


จากปาฐกถา คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่รอด จึงอยู่รอด โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวาระ รำลึก 20 ปี สืบ นาคะเสถียร วันที่ 1 กันยายน 2553 ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร