การเติบโตของกาแฟที่หมู่บ้านแม่กลองน้อย

การเติบโตของกาแฟที่หมู่บ้านแม่กลองน้อย

เดือนพฤษภาคม ต้นฤดูฝน หมู่บ้านแม่กลองน้อย อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เกษตรกรหลายคนลงมือทยอยนำต้นกล้ากาแฟที่เพาะกันไว้ไปปลูกในแปลงเกษตรเชิงเดี่ยวเดิมหลังจากเตรียมการกันมาหลายปี

พื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน (เพื่อการเพาะปลูกทำเกษตรกรรมหาเลี้ยงชีพ) ประมาณ 104 ไร่ที่เดิมเคยเป็นแปลงปลูกกะหล่ำปลีกำลังทยอยเปลี่ยนสภาพเป็นสวนกาแฟ ไปพร้อมๆ กับการเติบใหญ่ของพันธุ์ไม้พื้นถิ่นที่เกษตรช่วยกันปลูกไว้ก่อนหน้า

หมู่บ้านแม่กลองน้อย เป็นชุมชนชาติพันธุ์ม้ง พื้นที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ทางตอนเหนือในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ละแวกชุมชนเดิมมีสภาพเป็นผืนป่าต้นน้ำ เป็นที่ให้กำเนิดแม่น้ำแม่กลอง การประกอบอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยวควบคู่ไปกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่้ต้นน้ำรวมถึงสุขภาพของคนในชุมชน

การปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกกาแฟอินทรีย์เพื่อลดใช้สารเคมีและลบพื้นที่แล้งร้อนให้มาเป็นผืนป่าสีเขียวของหมู่บ้านแม่กลองน้อย เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2553 โดยการทำโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และต่อยอดมาเป็นโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ในปัจจุบัน

โดยโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าเป็นการชักชวนให้ชุมชนปรับวิถีชีวิตด้วยการประกอบอาชีพให้เป็นมิตรกับผืนป่า อาศัยทรัพยากรที่ชุมชนมี องค์ความรู้ ภูมิปัญญา ฯลฯ มาสร้างอาชีพ ส่วนโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนนั้น เป็นการพัฒนาต่อยอดให้การประกอบอาชีพเป็นไปอย่างเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการตนเอง และมีกระบวนการจัดการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน

สำหรับหมู่บ้านแม่กลองน้อยเลือกใช้กาแฟเป็นเครื่องมือในการอยู่กับผืนป่าอย่างสันติสุข เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของชุมชนมีความเหมาะสมต่อการปลูกกาแฟ และแต่เดิมชุมชนเคยได้รับการส่งเสริมเรื่องการปลูกกาแฟมาก่อนแล้ว ทำให้มีต้นกาแฟเติบโตอยู่ในพื้นที่เป็นทุนเดิม หากแต่ยังขาดองค์ความรู้เรื่องการจัดการ เช่น แปรรูป การขาย

และด้วยการปลูกกาแฟจำเป็นต้องมีร่มเงาของไม้ใหญ่เพื่อลดทอนความแรงของแสงแดด จึงเป็นตัวเลือกที่ดีของชุมชนที่มีอาณาเขตตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การปลูกไม้ใหญ่ที่เป็นพืชพื้นถิ่นนอกจากจะช่วยให้ต้นกาแฟสามารถให้ผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังเป็นการรักษาระบบนิเวศของพื้นที่ให้คืนกลับมาเสมือนวันที่ยังเป็นป่าอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ผลผลิตต่างๆ ที่ได้จากไม้ใหญ่ยืนต้นก็ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามในการปลูกกาแฟเพิ่มเติมนี้ ต้องเป็นไปตามมติที่ประชุมของชุมชนที่หารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำความเข้าใจกันว่าทำตรงได้ ตรงไหนไม่ได้ ทำอย่างไรที่จะแปลงพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวเดิมเป็นสวนกาแฟ และไม่รุกป่าเพิ่มเพื่อขยายผลผลิตตรงนี้ และต้องห้ามใช้สารเคมี ฯลฯ ไม่เช่นนั้นสวนกาแฟของที่นี่ก็คงไม่ต่างอะไรกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในแบบที่ผ่านๆ มา

ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การปลูกกาแฟเพื่อรักษาป่าของหมู่บ้านแม่กลองน้อยอยู่ในขั้นตอนของการปรับเปลี่ยน เรียนรู้ และการทำกระบวนการกลุ่ม จะช่วยกันปลูกอย่างไร ช่วยกันขายอย่างไร และแบ่งสันปันส่วนร่วมกันอย่างไร รวมถึงการรอให้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นเติบใหญ่เป็นร่มเงาให้ต้นกล้ากาแฟ

ส่วนผลผลิตกาแฟที่ออกจำหน่ายภายใต้ชื่อกาแฟทีลอซูก่อนหน้านี้ เกินครึ่งของผลผลิตนั้นมาจากต้นกาแฟดั้งเดิมที่ถูกปลูกทิ้งไว้เมื่อครั้งอดีต และบางส่วนจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่เป็นคนในชุมชนเริ่มต้นปลูกและทดลองทำมาก่อน

การปลูกเพิ่มในวันนี้หมายถึงจำนวนปริมาณผลผลิตกาแฟที่จะเพิ่มมากขึ้น (อีก 3 ปี จะออกผล) และนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นผ่านกระบวนการจัดการร่วมกันของสมาชิกในชุมชน

เป็นการเติบโตทั้งรายได้ วิถีชีวิต และพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมๆ กัน

 

ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรสมาชิกบัตรเครดิต

 


รายงาน ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานกาแฟ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร