สืบทอดเจตนา “สืบ นาคะเสถียร” (การก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

สืบทอดเจตนา “สืบ นาคะเสถียร” (การก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

เพื่อนที่เคยกอดคอกันช่วงคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจนดูเหมือนจะได้มาพบพร้อมเพรียงกันในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณสืบ นาคะเสถียร คาดว่าในใจของแต่ละคนคงจะมีความเสียใจอย่างยิ่ง และรู้สึกผิดที่หลังจากเดือนเมษายน 2531 เมื่อรัฐบาลชะลอการสร้างโครงการเขื่อนน้ำโจน เราไม่ได้ติดต่อกับคุณสืบเลย

จำได้ว่าในงานศพของคุณสืบฯ ชาววนศาสตร์ตั้งกล่องกองทุนรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณสืบฯ โดยมี ผศ.ดร.บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์ (วนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เป็นผู้สนับสนุนและผลักดันกิจกรรม

ในวันที่ 2 กันยายน 2533 เมื่อศพของสืบ นาคะเสถียร เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งที่วัดพระศรีมหาธาตุ เพื่อน 3 – 4 คน มาคุยกันและก็มอบหมายให้ คุณสุรชัย ท้วมสมบูรณ์ เพื่อนร่วมรุ่นคุณสืบจัดทำใบแถลง ชักชวนให้ร่วมกองทุนสืบนาคะเสถียร โดยตั้งกล่องรับบริจาคและสมุดลงรับหน้าศาลาไว้ศพ

จนกระทั่งก่อนวันเผา ได้มีการประชุมหน้าศพ และมีความเห็นให้ตั้งเป็นมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เงินจำนวนหนึ่งแสนกว่าบาทที่ได้รับหน้าศพจากการบริจาคจึงเป็นจำนวนจำนวนแรกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ในวันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรมราชานุเคราะห์ในการพระราชทานเพลิงศพ เป็นกรณีพิเศษ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปในงานวันพระราชทานเพลิงศพนายสืบ นาคะเสถียร ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

 

 

10 วันหลังวันพระราชทานเพลิงศพ คือ วันที่ 18 กันยายน 2533 เป็นวันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรื่องนี้ผู้เขียนสอบถาม ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้เขียนตราสารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความโดยสรุปว่า

มีการประชุมกันของเพื่อนๆ คุณสืบ ที่อยู่กรมป่าไม้ เพื่อนคณะวนศาสตร์ ผศ.ดร.สุรพล สุดารา และ ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ณ วัดมหาธาตุก่อนเวลาที่พระสวด โดยที่ประชุมเห็นชอบที่จะตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และมอบให้ ศ.ดร.ปริญญา เป็นคนเขียนเอกสารก่อตั้ง ตราสารมูลนิธิ วัตถุประสงค์ ฯลฯ เป็นคนจดทะเบียนและดำเนินการทุกอย่างจนแล้วเสร็จ

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ทำไมใช้เวลาเพียง 10 วันก็ก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้แล้วนั้น ศ.ดร.ปริญญา อธิบายว่า เรื่องราวของคุณสืบในเวลานั้นกำลังดังมาก การติดต่อขอตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติ

ข่าวการตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เดินทางมาถึงผู้เขียน โดยได้รับโทรศัพท์จาก ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ว่า “ที่ประชุมก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้มีมติให้ อ.รตยา จันทรเทียร เป็นประธานมูลนิธิฯ พี่ต้องรับนะ” ผู้เขียนจึงตอบกลับไปว่า “คุณสืบเสียสละชีวิตเพื่อรักษาผืนป่า สัตว์ป่า อาจารย์รตยา เป็นใคร จะไม่รับเกียรตินี้ได้อย่างไร” ซึ่งในเวลานั้นผู้เขียนกำลังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ

ในการเข้ารับตำแหน่งประธาน ก็ได้เขียนบันทึกเจตนารมณ์ไว้ว่า

“พร้อมที่จะทำงานในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานเจตนาของคุณสืบฯ ผู้เสียสละได้แม้ชีวิตของตน เพื่อชีวิตของสัตว์ป่าและป่า และเพื่อสนองคุณ แค่ทุกพระองค์และทุกท่าน ที่มีศรัทธาต่อคุณสืบฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำ ร่วมทำงาน รวมถึงร่วมบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อให้ได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลาง ในการสืบสานเจตนาของคุณสืบ นาคะเสถียรไปนานเท่านาน”

 

 

เมื่อเริ่มตั้งองค์กรได้มีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เห็นด้วยในเจตนารมณ์ของคุณสืบ เข้าร่วมตกลงเป็นกรรมการมูลนิธิฯ ขอบันทึกรายนามคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคณะแรกไว้ด้วยความคารวะ ดังนี้

คณะที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ประกอบไปด้วย ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.ดร.ระพี สาคริก, ศ.ดร.เสน่ห์ จามริก และดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง

คณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ประกอบไปด้วย นางรตยา จันทรเทียร ประธาน (ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ และสมาชิกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม)

นายไพโรจน์ สุวรรณกร รองประธาน (อธิบดีกรมป่าไม้ และสมาชิกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม) ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย รองประธาน (นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย อาจารย์แผนกวิศวกรรมธรณีเทคนิคและการขนส่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย) ศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ รองประธาน (ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เลขาธิการ (อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองเลขาธิการ (ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และสัตว์ป่า เขาเขียวจ.ชลบุรี) นายประพัตร แสงสกุล เหรัญญิก (ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สัตว์ป่า) นางสาวดวงดาว สุวรรณรังสี ประชาสัมพันธ์ (หัวหน้ากองบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. – องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

ดร.สุรพล สุดารา กรรมการ (อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กรรมการ (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นายบุญเลิศ อังศิริจินดา กรรมการ (หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปราบปราม กองอนุรักษ์สัตว์ป่า) ดร.ขวัญสรวง อติโพธิ กรรมการ (อาจารย์ประจำภาควิชาวางแผนภาคและผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์)

นางสาวเบลินดา สจ๊วต-ค็อกซ์ กรรมการ (Co-write the Nomination of the ThungYai-HuayKhaKhaeng Wildlife Sanctuary to be a UNESCO World Heritage Site) นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ กรรมการ (ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการ (หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ) นายสุรชัย ท้วมสมบูรณ์ กรรมการ (นักวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้)

นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ กรรมการ (บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี) นางสาวสุดารา สุจฉายา กรรมการ (นักเขียนและบรรณาธิการวิชาการ นิตยสารสารคดี) นายวีรวัธน์ ธีระประศาสน์ กรรมการ (หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี และจ.ตาก) นายชัชวาลย์ พิศดำขำ กรรมการ (หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี) นายประวิทย์ เจนวีระนนท์ กรรมการ (ประธานสภาจังหวัดกาญจนบุรี และประธานชมรมธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตกาญจนบุรี)

นายธีรพันธ์ วีระยุทธวัฒนะ กรรมการ (ประธานสภาจังหวัดอุทัยธานี กรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม จ.อุทัยธานี) นายกนิษฐ บุญทราพงษ์ กรรมการ (ผู้ประสานงาน คอทส. คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 16 สถาบัน) นางศรีพัชรินทร์ ธำรงราชภัฏ (นาคะเสถียร) กรรมการ (ตัวแทนของตระกูลนาคะเสถียร) นายสรสิทธิ์ กนิษฐสุต กรรมการ (หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี)

ในวงเล็บ คือตำแหน่งในหน้าที่ประจำของคณะกรรมการแต่ละท่าน จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อแรกก่อตั้งได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือจากกลุ่มคนที่หลากหลาย เพื่อเข้ามาร่วมสืบสานเจตนาของคุณสืบ นาคะเสถียร

ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้เขียนตราสารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ระบุวัตถุประสงค์เมื่อก่อตั้งมูลนิธิฯ ไว้ดังนี้

1. ส่งเสริมและสนับสนุนสวัสดิการและการดำเนินงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

2. ส่งเสริมและสนับสนุนสวัสดิการและการดำเนินงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอื่นๆ

3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เขตอนุรักษ์ ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น

4. ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ

5. ส่งเสริมและสนับสนุนการก่อให้เกิดความรู้ ความคิดเห็นและการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

6. เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

7. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

งานหนึ่งที่สำคัญเมื่อแรกตั้ง คือ การออกแบบตราสัญลักษณ์องค์กร ผู้ออกแบบสัญลักษณ์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คือ คุณปัณยา ไชยาคำ ศิลปินอิสระ รับอาสาทำหน้าที่นี้ให้ คุณปัณยานั้นเป็นคณะกรรมการชมรมนักนิยมธรรมชาติ ซึ่งคุณสืบก็เคยเป็นกรรมการอยู่ด้วย และเคยทำกิจกรรมร่วมกันหลายครั้ง

 

 

รูปแบบของตรามูลนิธิสืบฯ กรอบนอกเป็นรูปใบไม้ติดอยู่บนกิ่งไม้ โดยคำว่ามูลนิธิสืบนาคะเสถียรเขียนอยู่เป็นกิ่งไม้ ตัวใบไม้รวมรายละเอียดหลายประการ เริ่มจากกรอบใบที่เป็นลายยักเยื้องด้วยลายกนกต่างๆ แสดงว่าศิลปะนั้นงอกเงยมาจากธรรมชาติ ปลายใบเป็นรูปทรงใบปอสา หมายถึงป่าไม้บนยอดดอย

ตอนกลางใบมีกวางผา หนึ่งในสัตว์ป่าที่คุณสืบทำงานวิจัย กวางผากำลังกระโจนข้ามเปลวเพลิง แสดงถึงความยากลำบากและความมุ่งมั่นที่จะฝ่าฟันสู่ความสำเร็จสู่ความสำเร็จ ใต้กวางผาที่กำลังกระโจนคือกอหญ้า สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ที่ช่วยให้กวางผายังมีชีวิตอยู่

และสุดท้ายเหนือตัวกวางผา คือ ผืนฟ้าที่ประดับด้วยดวงดาว หมายถึง จักรวาลที่มีมาก่อนเราทั้งหลายและจะคงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน

เมื่อแรกตั้งสำนักงานในระยะสองสามเดือนแรก มูลนิธิสืบฯ ได้ขอใช้กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เป็นสถานที่ทำการ แต่สถานที่ของกองอนุรักษ์สัตว์ป่าคับแคบ ไม่สามารถให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ ไปอยู่ประจำได้ สหภาพการเคหะแห่งชาติจึงได้จัดงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ให้ในวันที่ 28 – 29 เดือนตุลาคม 2533 เพื่อหารายได้ให้มูลนิธิฯ จัดตั้งสถานที่ทำการของมูลนิธิฯ เป็นเอกเทศ และมอบรายได้จำนวน 265,709.75 บาท (สองแสนหกหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยเก้าบาท เจ็ดสิบห้าสตางค์) ให้แก่มูลนิธิฯ

เพื่อการนี้มูลนิธิฯ จึงย้ายที่ทำการจากกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ มาอยู่ที่อาคารสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900) และได้ดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ และวัสดุสำนักงาน โดยใช้เงินบริจาคดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นทำงานเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร

 


เรื่อง รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ตีพิมพ์ บนถนนงานอนุรักษ์ รตยา จันทรเทียร กันยายน 2561
สั่งซื้อออนไลน์ หนังสือ บนถนนงานอนุรักษ์