“คนอยู่ได้เพื่อป่าอยู่ได้” เป็นแนวคิดหลักในการทำงานในผืนป่าตะวันตกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่นำมาจากพื้นฐานความเป็นจริงปัญหาเรื่องบุกรุกทำลายป่านั้นมีสาเหตุใหญ่อันเนื่องมาจากการหาเลี้ยงปากท้อง
จากการทำงานในผืนป่าตะวันตก พบว่า สาเหตุการบุกรุกป่าส่วนใหญ่มาจากคนมีความต้องการพื้นที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน โดยในผืนป่าตะวันตกมีอยู่ชุมชนตั้งรกรากอยู่ทั้งสิ้น 131 ชุมชน และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นผืนป่าสงวนแห่งชาติยังมีชุมชนรายล้อมรอบป่าอีก 128 ชุมชน
เพราะปากท้องเป็นเรื่องสำคัญและห้ามกันไม่ได้ แต่จะกินอยู่อย่างไรให้ถูกกฎกติกาโดยไม่เบียดเบียนป่า ?
สาเหตุปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อผืนป่าตะวันตก
(1) การเพิ่มขึ้นของประชากร เช่น การมีทายาทเพิ่มทำให้คนแก่ต้องแบ่งที่ทำกินให้ลูกหลาน เมื่อแบ่งแล้วพื้นที่ตัวเองจะลดลง จึงมีความต้องการใช้พื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและพื้นที่ผลิตอาหารมากขึ้น จึงบุกรุกป่าอีกทั้งคนเมืองเองก็มีความต้องการพื้นที่นันทนาการใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
(2) ขาดจิตสำนึกและความเข้าใจในเรื่องทรัพยากร อันเนื่องมาจากระดับการศึกษาของคนในชุมชนที่ไม่รับรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังจากทำลายป่า รวมถึงความแตกต่างของรายได้ส่งผลให้เกิดการแปรรูปทรัพยากรนำออกมาขายเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่าย
(3) ปัญหาอันเนื่องจากนโยบายภาครัฐ เช่น การประกันราคาข้าวโพด เมื่อข้าวโพดมีราคาสูงทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากเกษตรดั้งเดิมมาปลูกข้าวโพด ขยายพื้นที่ทำกินในเขตป่าเพื่อให้ได้บริมาณสินค้าสำหรับขายในจำนวนที่มากขึ้น
ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์
(1) กระทบต่อฐานทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เนื่องจากพืชเชิงเดี่ยวที่บุกรุกเข้าไปในป่าอนุรักษ์ และด้วยความต้องการเลี้ยงปากท้องหากมีการจับกุมแปลงพื้นที่ปลูก ชาวบ้านก็จะขยายพื้นที่ไปปลูกแปลงใหม่ เป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น ทำให้ผืนป่าถูกเจาะไปเรื่อยๆ
(2) การปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำ ทุกวันนี้ปนเปื้อนด้วยสารเคมีทางการเกษตรได้แก่ ยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสตกว่า 60 ล้านขวดซึมลงสู่พื้นดิน เมื่อฝนตกเกิดการชะล้างทำให้ดินไหลพาสารเคมีลงสู่แม่น้ำแม่กลองซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำผลิตน้ำประปา
(3) หนี้สินจากการทำเกษตร เมื่อเข้าสู่วงจรพืชเชิงเดี่ยวแล้วมักจะเลิกไม่ได้ เพราะติดหนี้นายทุนจากการยืมเงินมาปลูกข้าวโพด ทุกวันนี้รายจ่ายส่วนใหญ่ของชาวบ้านจะเป็นค่าศึกษาของลูกและอุปกรณ์การเกษตร เช่น การซื้อรถไถมาใช้เป็นของตัวเอง
ทางเลือกให้คนอยู่ได้เพื่อป่าอยู่ได้
“เพื่อให้คนอยู่ได้เพื่อป่าอยู่ได้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงคิดรูปแบบการจัดการพื้นที่ให้คงอยู่เท่าเดิม หรือได้ผลตอบแทนต่อพื้นที่ที่สูงขึ้น” ยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวนำถึงโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก โครงการที่ในอนาคตจะเป็นหลักสำคัญของการทำให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้านั้น โดยโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนฯ นี้เป็นเหมือนการต่อยอดจากโครงการเดิมที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้าไปหนุนเสริมความรู้ รูปแบบ ตลอดจนทักษะการประกอบอาชีพอย่างไรให้เป็นมิตรกับผืนป่า โดยที่ไม่ได้ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน แต่เป็นการปรับอะไรบางอย่างให้เข้าที่เข้าทาง ตลอดจนฟื้นคืนภูมิปัญญาเก่าแก่ของบางชุมชนซึ่งเป็นของดีอยู่แล้วให้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง
รูปธรรมโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า เช่น เกิดการเปลี่ยนอาชีพจากพืชเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรอินทรีย์ ฟื้นคืนภูมิปัญญาการทอผ้าและจักรสาน การปลูกกาแฟแทนพืชเชิงเดี่ยวเพื่อรักษาป่าต้นน้ำ เกิดศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า
สำหรับโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เสนอทางเลือกในอาชีพเกษตรกรรมให้ชุมชนด้วยการส่งเสริมกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการทำงาน ให้รู้จักกระบวนการจัดการต่างๆ ทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
การทำงานของมูลนิธิฯ ได้เพิ่มเติมองค์ความรู้เทคโนโลยีและเงินทุนหมุนเวียน ก่อให้เกิดการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อนสมาชิกที่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน
“เราใช้เกษตรอินทรีย์เป็นตัวนำ เพื่อดูแลสุขภาพของคนในชุมชน เน้นวิถีลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ สร้างความยั่งยืนและอยู่ร่วมระหว่างคนกับป่าเป็นหลัก และยังฟื้นฟูภูมิปัญญาเดิมที่มีเพื่อปลูกฝังให้ชุมชนรักษาวิถีวัฒนธรรมตัวเอง” แต่สิ่งที่ยุทธนาย้ำมากที่สุด คือ “การมุ่งพัฒนาความสุขมากกว่ารายได้ ผลิตและทำการตลาดเองระดับชุมชน”
วันนี้แม้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะยังเพิ่งก้าวเดิน แต่ก็พอเห็นความหวัง ยุทธนาได้แนะนำส่วนงานส่งเสริมงานกาแฟให้ฟัง
“มูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำต้นทุนเดิมที่ชาวบ้านมีมาพัฒนา เช่น การปลูกกาแฟ มาช่วยส่งเสริมกระบวนการทางการตลาดให้สามารถขายได้จริง ปัจจุบันมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นำกาแฟจากชุมชนบ้านแม่กลองน้อย จังหวัดตาก มาขายที่ร้าน Jompa Coffee House สำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ภายใต้แบรนด์ ‘จอมป่า กาแฟรักษาป่า’
จากต้นกาแฟที่ถูกทิ้งลืม วันนี้ได้พัฒนากลายเป็นแบรนด์สินค้า แม้จะยังมีกำลังการผลิตไม่มาก และยังไม่แพร่หลายนัก แต่ก็เป็นก้าวเล็กๆ สำคัญที่ทำให้เห็นว่าคนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้หาก “รู้” ว่าควรอยู่อย่างไร
“สุดท้ายเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้ทางด้านเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม และมีภูมิคุ้มกันรู้ทันสถานการณ์ประเทศหรือโลก ความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรก็จะลดลง คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและและยั่งยืน” ยุทธนากล่าวปิดท้าย