ในแผนยุทธศาสตร์การทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ประจำปี 2559 – 2562 ปรากฎเนื้อหาในแผนงานหนึ่งไว้ว่า “การจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่” ซึ่งจากที่เราทราบกันดีว่า “กลุ่มป่าตะวันตก” อันประกอบไปด้วยพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง และอุทยานแห่งชาติ 11 แห่งเชื่อมร้อยต่อกันเป็นกลุ่มป่าขนาดพื้นที่ 12,215,159 ไร่ ฉะนั้นแล้ว 20 ล้านไร่ ตัวเลขนี้คืออะไร และมีที่มาอย่างไร ?
“ความหมายของคำว่า ’20 ล้านไร่’ ก็คือขยายจากผืนป่าอนุรักษ์ 12 ล้านไร่ที่ดูแลโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมเข้ากับผืนที่ป่าสงวนแห่งชาติภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ จนครบ 20 ล้านไร่” ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นผู้ให้คำตอบ
ก่อนจะมาเป็นแผนงาน การจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่
หากย้อนไปนับตั้งแต่วันการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เลขาธิการเล่าว่า การทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แบ่งเป็น 3 ช่วงการทำงานใหญ่ๆ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้แนวคิดการจัดการพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง ของสืบ นาคะเสถียร
“คุณสืบมองว่าผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง คือ หัวใจที่ต้องรักษาไว้ ฉะนั้นการรักษามรดกโลกควรมีระบบการจัดการร่วมกัน ซึ่งพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งนั้นได้พัฒนาเรื่องการบริหารจัดการจนทีมเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงสามารถดูแลพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แต่ถามว่าพอไหม คำตอบคือไม่พอ เพราะถ้าหากจะรักษาพื้นที่มรดกโลกไว้ให้ได้ ก็ต้องรักษาผืนป่าโดยรอบเอาไว้ให้ได้ด้วย”
งานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในระยะแรก คือ การสนับสนุนเสริมศักยภาพประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกทั้ง 3 แห่งเพื่อการดูแลรักษาพื้นที่เหล่านี้เป็นหลัก ต่อมาในปี 2546 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเริ่มขยายแนวคิดไปการทำงานในรูปแบบกลุ่มป่า จึงขยายพื้นที่ทำงานเป็นทั้งผืนป่าตะวันตกเพื่อมองกลุ่มป่าใหญ่ให้เป็นระบบเดียวกัน พร้อมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดชัดเจน โดยมีโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่อนุรักษ์โดยรอบให้เป็นเหมือนกับเจ้าหน้าที่ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง และทำอย่างไรถึงจะรักษาพื้นที่โดยรอบให้มีระบบนิเวศเหมาะสมต่อการเป็นบ้านของสัตว์ป่าได้ทั้ง 12 ล้านไร่
“รูปแบบการทำงานจึงเป็นการพยายามหนุนเสริมศักยภาพของการทำงานให้เจ้าหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มการทำงานร่วมกับชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่าเข้าไปด้วย จนเกิดเป็นโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตกตอน พ.ศ. 2547 รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชนที่อยู่บริเวณแนวขอบป่าโดยวิธีการจัดตั้งป่าชุมชนบริเวณขอบป่าตะวันตกทั้งหมด” เลขาธิการมูลนิธิฯ อธิบาย
จากการร่วมงานกับชุมชนรอบผืนป่าโดยการจัดตั้งป่าชุมชน ทำให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีโอกาสในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติร่วมกับกรมป่าไม้ ซึ่งสามารถถอดบทเรียนออกมาได้ว่า กระบวนการรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นไม่สามารถทำได้ด้วยการทำงานเรื่องป่าชุมชนเพียงอย่างเดียว จึงเป็นที่มาของ ป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ ซึ่งก็คือการทำงานร่วมกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดไม่เพียงเฉพาะพื้นที่ป่าชุมชนอย่างที่ผ่านมา
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเป้าหมายใหญ่ที่ต้องเร่งรักษา
ปัจจุบันพื้นที่อนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตกค่อนข้างมีระบบในการจัดการในตัวเองค่อนข้างดี เพราะมีกระบวนการทำงานที่พัฒนามาโดยตลอดนับตั้งแต่การเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร แต่เมื่อมาเทียบกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้แล้วพบว่ายังขาดการจัดการที่ดี ซึ่งส่งผลกระทบทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างมาก
“ภัยคุกคามพื้นที่ป่าในปัจจุบันเกิดในพื้นที่ผืนป่าสงวนแห่งชาติเป็นหลัก เนื่องจากบุคลากรมีน้อยและงบประมาณไม่เพียงพอ และสิ่งสำคัญคือการขาดระบบในเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ชัดเจน” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรอธิบาย
จากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวว่า สิ่งที่ควรเร่งจัดการ คือ เรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำงานให้เกิดระบบในส่วนนี้ขึ้นมา โดยมีพื้นที่ทำงาน คือ 15 กลุ่มป่าสงวนแห่งชาติรอบผืนป่าตะวันตก
“บทบาทและภารกิจการทำงานคล้ายๆ พื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในป่าตะวันตกทั้งหมด มีเรื่องของการทำข้อมูล วิเคราะห์ และก็การจัดการบริหารข้อมูลตามที่มีและวิเคราะห์ร่วมกัน รวมถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าว
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สะท้อนภาพพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ไว้ว่า ป่าประเทศไทยเหลือราวๆ 102 ล้านไร่กระจายไปตามแนวเขาที่เป็นต้นน้ำอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประมาณ 70 ล้านไร่ อยู่ในความดูแลกรมป่าไม้ ราวๆ 30 ล้านไร่ ซึ่ง 30 ล้านไร่ของกรมป่าไม้นี่น่าจะหมดแน่ๆ
“ตอนแยกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชออกจากรมป่าไม้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว กำลังคน และงบประมาณไปอยู่ที่กรมอุทยานฯ เกือบหมด แต่นั่นก็ส่งผลให้อัตราการบุกรุกป่าของกรมอุทยานฯ น้อยกว่ามาก เพราะมีการบริหารจัดการที่ง่ายกว่า มีคนมากกว่า งบประมาณมากกว่า มีหน่วยพิทักษ์ป่าของพื้นที่อุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ประมาณว่าพื้นที่อุทยานแห่งหนึ่งอาจจะมีสิบหน่วย มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยละสิบคน มีนโยบายให้เดินตรวจตราลาดตระเวนพอสมควร แต่กรมป่าไม้ในพื้นที่ดูแลเท่าๆ กันจะมีหน่วยเดียวเรียกว่าหน่วยป้องกันรักษาป่า มีกำลังคนเท่าๆ กับหน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยเดียวของอุทยานและไม่มีความพร้อมในการออกตรวจตราลาดตระเวนเท่ากับของกรมอุทยานฯ”
“อนาคตจะมีป่าได้ต้องหาทางช่วยกรมป่าไม้ให้ทำงานรักษาป่าให้ได้เป็นวาระสำคัญ” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าว
แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่
ในแผนการทำงานยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ ระบุคำอธิบายไว้ว่า “เป็นองค์กรที่สามารถให้ข้อมูลแผนการจัดการผืนป่าตะวันตกควบคู่ไปกับการทำงานเชิงปฏิบัติการ และการจัดทำข้อมูล โดยการพัฒนาระบบงานลาดตระเวน มีแผนการทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลิตเอกสารวิชาการ ผลักดันให้เอกสารข้อมูลการจัดการผืนป่าตะวันตกเข้าไปอยู่ในโครงสร้าง หรือแผนงานของสำนักนวัตกรรม เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำแผนของสำนัก รวมถึงเอกสารการจัดการผืนป่าตะวันตกสามารถเป็นเอกสารประกอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ ในการจัดทำแผนการจัดการกลุ่มป่ามรดกโลก เพื่อเสนอป่าตะวันตกเป็นมรดกโลกทั้งผืนป่าต่อไปในอนาคต”
จากคำอธิบายดังกล่าว ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขยายความเพิ่มเติมถึงรูปแบบการทำงานในเชิงพื้นที่ว่า สามารถแบ่งการทำงานออกเป็น 5 เรื่องใหญ่ๆ ประกอบด้วย (1) การดูแลขอบเขตการใช้ประโยชน์ชุมชนที่มูลนิธิฯ เคยสำรวจไว้กับชุมชนและเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก ต้องไม่ให้มีการขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้นจากเดิมที่ตกลงกันไว้
(2) สนับสนุนการเดินลาดตระเวนร่วมระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ โดยเป็นการร่วมกันระหว่าง 17 พื้นที่อนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก ตลอดจนการดึงเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้เข้ามาร่วมลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ โดยมีการกำหนดพื้นที่การลาดตระเวนไว้ทั้งหมด 13 พื้นที่โดยเลือกเอาพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่สำคัญหรือพื้นที่ที่มีภัยคุกคามสูงเป็นตัวกำหนดว่าจะลาดตระเวนตรงจุดไหนบ้าง
(3) การทำงานร่วมกับป่าสงวนแห่งชาติ ใน 3 เรื่อง คือ การจัดทำข้อมูลกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติให้เกิดความชัดเจน กำหนดรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับกรมป่าไม้ เช่น กลุ่มป่าสงวนกลุ่มหนึ่งอาจจะต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงาน เพิ่มจำนวนจุดสกัด และหนุนเสริมกิจกรรมป่าชุมชนที่ทำไว้อย่างต่อเนื่อง
(4) สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครองและคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งและมีการประชุมในทุกพื้นที่ ซึ่งที่แล้วมาได้จัดตั้งและดำเนินการประชุมในส่วนของพื้นที่อนุรักษ์ไปแล้ว แต่ในส่วนของพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อจัดตั้ง
และ (5) หนุนเสริมและพัฒนางานด้านวิสาหกิจชุมชน ซึ่งนอกจากจะทำกับชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์แล้วยังมีแผนเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในรูปแบบของการทำงานพื้นที่เรียนรู้เป็นการนำร่องเพื่อพัฒนารูปแบบชุมชนวิถีชีวิตเป็นผืนป่าต่อไปในอนาคต
จากกลุ่มป่าตะวันตก สู่การเป็นมรดกโลกทั้งกลุ่มป่า
ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงความคาดหวังในงานว่า ต้องการเห็นการเชื่อมผืนป่าทั้งหมด 20 ล้านไร่ เป็นผืนเดียวกันเพื่อเป็นบ้านที่มั่นคงของสัตว์ป่า “ผมคิดว่าพื้นที่มันมีศักยภาพในการรองรับการขยายตัวของสัตว์ป่าจากห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรออกไปสู่ผืนป่าโดยรอบได้ อย่างที่ตอนนี้มีข่าวว่าเสือโคร่งได้กระจายตัวไปที่ผืนป่ารอบๆ อย่างป่าแม่วงก์ ป่าคลองคลาน หรือแม่แต่ป่าสลักพระ“
สิ่งที่คิดจะเป็นจริงได้ นั่นหมายความว่า ผืนป่าตะวันตกทั้งหมดต้องเกิดการบริหารจัดการให้ได้ทั้งผืน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่สำคัญกว่านั้นเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมองว่า ข้อมูลการบริหารจัดการที่ได้จากการทำงานนี้จะถูกเสนอให้เป็นนโบายเพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง
มากไปกว่านั้น เป้าหมายสำคัญ คือ ข้อมูลที่จัดทำจะนำไปสู่การเสนอให้กลุ่มป่าตะวันตกเป็นมรดกโลกทั้งผืน อันหมายถึงหลักประกันสำคัญที่จะดูแลกลุ่มป่าตะวันตกไว้ได้อย่างที่ สืบ นาคะเสถียร เคยเสนอให้ทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกมาแล้ว
“ป่าอนุรักษ์ผืนนี้ นับได้ว่าเป็นผืนป่าธรรมชาติที่มีคุณค่าและมีความสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์ ไว้ในรูปแบบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้ยังคงสภาพธรรมชาติที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายของสภาพป่า ชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ตลอดจนเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่จะสามารถคุ้มครองความอยู่รอดของสัตว์ป่ามิให้ สูญพันธุ์ไปจากการถูกทำลายโดยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการล่า การตัดไม้ทำลายสภาพป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่เฉพาะของสัตว์ป่าแต่ละชนิด รวมกระทั่งถึงการพัฒนาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาระบบนิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิต“ – สืบ นาคะเสถียร