ผมขอพูดในนามสัตว์ป่า – สืบ นาคะเสถียร กับผลงานด้านสัตว์ป่า

ผมขอพูดในนามสัตว์ป่า – สืบ นาคะเสถียร กับผลงานด้านสัตว์ป่า

สัตว์ป่าหนึ่งในธรรมชาติอันงดงามที่โลกสร้างสรรค์มาให้ นับวันกลับถูกทำลายล้างจนเกือบหมดสิ้น บางชนิดสูญพันธ์ บางชนิดร่อยหรอลงไปอย่างมาก หากวันนี้เราไม่เร่งหาทางอนุรักษ์อีกไม่ช้าไม่นาน สัตว์ป่าเมืองไทยที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็คงเหลือไว้แต่เพียงตำนานที่ทรงคุณค่าอย่างมหันต์ สัตว์ป่าทุกชนิดมีคุณค่า มีความหมาย หากคิดผลาญทำลาย โปรดยั้งใจไว้บ้าง

ความตอนหนึ่ง ในบทความเรื่อง สัตว์ป่า สูญพันธุ์ เพราะใคร โดย สืบ นาคะเสถียร เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ปี 2533

ตลอดชีวิตการทำงานในฐานะข้าราชการกรมป่าไม้ และในความเป็นนักอนุรักษ์ด้วยกาย วาจา ใจ ของ สืบ นาคะเสถียร มีหลายต่อหลายครั้งที่พาให้ชายคนนี้ได้ผ่านพบผูกผันกับชีวิตสัตว์ป่านานาชนิด

ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่เคยเป็นปริศนาในผืนป่าไทยอย่างกวางผา นกที่ไม่เคยถูกค้นพบและเขียนรายงานมาก่อนอย่างนกกระสาคอขาวปากแดง

ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญอย่างการช่วยเหลือสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน ก็นับเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจมีใครประสบพบได้บ่อย

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ในแต่ละเหตุการณ์ สืบ นาคะเสถียร ได้บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นได้สม่ำเสมอ ทั้งในรูปแบบของบทความและงานวิชาการ ตลอดจนภาพถ่าย อันกลายเป็นรากฐานสำคัญต่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์เหล่านั้นในภายภาคหลัง

ในโอกาส วาระครบรอบ 60 ปี วันคุ้มครองสัตว์ป่า 26 ธันวาคม 2563 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอนำสรุปเรื่องราวการอนุรักษ์สัตว์ป่า ตลอดช่วงชีวิตการทำงานของ สืบ นาคะเสถียร ไว้เป็นหมุดหมายสำคัญตอนหนึ่งอีกครั้ง

เพื่อระลึกถึงผลงาน และสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดงานอนุรักษ์ต่อไป

สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นชีวิตการทำงานอนุรักษ์ โดยสอบเข้ากรมป่าไม้ได้ในปี 2518 และเลือกเข้ามาทำงานในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ด้วยเหตุผลว่า “ผมสนใจงานวิจัยมากกว่าวิ่งไล่จับคน”

ความสนใจเรื่องสัตว์ป่าของสืบเริ่มฉายแววนับตั้งแต่ในปีที่เริ่มงาน – เขาร่วมส่งบทกลอนเกี่ยวกับสัตว์ป่าเข้าประกวดคำขวัญด้านสัตว์ป่า-ป่าไม้ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยคณะวนศาสตร์ และได้รางวัล

เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่แบกไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา
โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา
ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม
ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่ไฉน
โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน

สำหรับผลงานวิชาการสัตว์ป่าของ สืบ ได้เริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าครั้งแรกในอีก 6 ปีให้หลัง เมื่อดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ในเรื่อง การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

ต่อมา เดือนเมษายน 2528 สืบ นาคะเสถียร เดินทางขึ้นดอยม่อนจองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เพื่อทำวิจัยเรื่องกวางผา – ในการสำรวจพบกวางผาประมาณ 20 ตัว

สืบ ตั้งข้อสังเกตว่า “โอกาสที่สัตว์ป่าสงวนที่หายากชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิมย่อมมีอยู่มาก หากไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปราศจากการล่าจากมนุษย์และการทำลายหรือรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยที่มันสามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ได้แล้วนั้น สัตว์ป่าบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะรู้คุณค่าของมัน” บันทึกไว้ในรายงานชื่อ หนึ่งชีวิตให้กับการแกะรอยกวางผา

ผลงานชิ้นดังกล่าวนับได้ว่า เป็นรายงานฉบับต้นๆ ของเมืองไทยที่ได้บันทึกถึงรายละเอียดและสถานะของกวางผาไว้อย่างน่าสนใจ

ในปี 2529 สืบ ยังได้เผยแพร่ผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าอีก 2 ชิ้น อันได้แก่ เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และการจับเนื้อทรายที่เกาะกระดาด

ในปีเดียวกัน ยังเป็นช่วงเวลาที่สืบ รับเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันถือเป็นโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนครั้งแรกของประเทศไทย

เหตุการณ์นั้น ทำให้สืบได้ทราบว่า ผลของการสร้างเขื่อนกระทบต่อสัตว์ป่ามากเพียงไร

สืบ และทีมงาน สามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่า ได้ 1,364 ตัว แต่ก็แทบไม่มีความหมายใดเลยกับจำนวนที่สูญเสียไปอย่างหาที่เปรียบไม่ได้

สืบ อธิบายว่า มันเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงไปในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น ทั้งยังไม่อาจนำมาประเมินผลได้ผลเสียกับสิ่งที่สูญเสียไปจากากรสร้างเขื่อน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกับการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่กำลังจมน้ำตาย ด้วยสายตาความเป็นนักวิชาการ ทำให้ สืบ ได้ค้นพบนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

สืบ ได้บันทึกเรื่องราวที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อน และรายงานฉบับนั้น – การพบนกกระสาคอขาวปากแดง ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Forktalk Journal of The Oriental Bird Club No.3 ประเทศอังกฤษ

จากประสบการณ์แห่งความสูญเสียของการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้สืบกระโดดเข้าร่วมเวทีคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

แม้ภารกิจจะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยตรง แต่บทเรียนความล้มเหลวของภารกิจช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ไม่อาจช่วยเหลือสัตว์ป่าได้ทั้งหมด ทำให้สืบให้ความสำคัญกับการร่วมปกป้องป่าใหญ่ผืนนี้ ทั้งเร่งทำรายงานการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างเขื่อนเชี่ยวหลาน อันในที่สุดได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญ – เป็นหลักฐานทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ – ในการคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน และชะลอโครงการออกไปได้สำเร็จ

และเป็นที่มาของวาทะ “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”

เช่นเดียวกับในเหตุการณ์ คัดค้านการทำไม้ในป่าห้วยขาแข้ง แม้จะไม่ได้เจาะจงในประเด็นของสัตว์ป่าอย่างโจ่งแจ้ง แต่ผลของสิ่งที่สืบได้ร่วมลงมือทำ ก็ยังผลให้ผืนป่าห้วยขาแข้งในวันนี้ ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของสัตว์ป่า และมีสถานะมรดกโลกทางธรรมชาติอันเป็นรากฐานของความอุดมมาจนถึงปัจจุบัน

โดย สืบ ได้เขียนระบุถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าไว้ในรายงาน การเสนอชื่อ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เพื่อเข้าร่วมเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก หลายประการ

นอกจากผลงานด้านวิชาการเกี่ยวกับสัตว์ป่าแล้ว สืบ ยังผลิตบทความและรายงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าไว้อีกหลายชิ้น เช่น เก้งหม้อ สัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ กับการค้นพบที่ จ.สุราษฎร์ธานี, ตามรอยกระซู่ แรดสองนอแห่งเทือกเขาสก, ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ป่า และสถานภาพของสัตว์ป่าในปัจจุบัน

และบทความลำดับท้ายๆ ในชีวิต “สัตว์ป่า สูญพันธุ์ เพราะใคร” ตีพิมพ์ใน หนังสือประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ปี 2533

ผลงานส่วนใหญ่ของ สืบ ตีพิมพ์ผ่านเอกสารประกอบการสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย หรืออาจเป็นบทความลงในนิตยสารฉบับต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พร้อมกันนั้น อีกหนึ่งความสามารถและความสนใจส่วนตัว สืบ มักบันทึกภาพสัตว์ป่าโดยใช้กล้องถ่ายรูปไว้อย่างสม่ำเสมอ

เช่น ในการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อเชี่ยวหลาน แม้จะเป็นภารกิจที่ยากลำบาก แต่ สืบ ก็ยังอาศัยเวลาอันน้อยนิดบันทึกภาพเหตุการณ์ตรงหน้าไว้ประกอบการทำรายงานอย่างไม่ขาดตกบกพร่องในหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง – ดูได้ที่ ภาพถ่าย อพยพสัตว์ป่าตกค้างที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน

หรือเมื่อครั้งทำวิจัยกวางผา สืบ ก็ได้บันทึกภาพกวางผาไว้ได้เป็นจำนวนมาก

และแน่นอนว่า ในช่วง 8 เดือนสุดท้ายของชีวิต ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบ ไม่พลาดบันทึกภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าห้วยขาแข้ง เพื่อนำเสนอเรื่องราวของผืนป่าที่สำคัญแห่งนี้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

นอกจากนี้ ด้วยความชื่นชอบในงานศิลปะ รักการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก สืบ มักเสก็ตซ์ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่พบเจออยู่เสมอๆ – ชมผลงานภาพวาดลายเส้นของสืบ ที่ ภาพวาดสัตว์ป่า

ตลอดชีวิตการทำงาน แม้อาจเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก แต่อาจกล่าวได้ว่า ในทุกลมหายใจ สืบ ได้อุทิศทุกวินาทีให้กับสัตว์ป่าและผืนป่าไทย อย่างเต็มความสามารถ

ร่วมสนับสนุนการทำงานและรักษาป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม