ในวาระรำลึก 27 ปี สืบ นาคะเสถียร (พ.ศ. 2560) นอกจากการจัดทำรายงานสถานการณ์ป่าไม้ประจำปีของประเทศไทย ที่จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังได้จัดทำอีกหนึ่งรายงานสำคัญ ซึ่งก็คือ รายงานสุขภาพป่าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชิ้น
หลายท่านคงพอมาทราบมาบ้างว่า ประเทศไทยนั้นมีพื้นที่อนุรักษ์เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัด ซึ่งหากมองผ่านมุมของแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม จะพบว่าตำแหน่งของพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่และต่อเนื่องกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน หรือบางแห่งอาจกระจัดกระจายแต่ห่างกันไม่มากนัก เป็นไปตามลักษณะพื้นที่ที่อยู่ในแนวภูเขา หรือ เทือกเขาเดียวกัน มีพื้นที่ลุ่มน้ำหลายลุ่มน้ำที่ต่อเนื่องกัน อยู่ในบริเวณพื้นที่ซ้อนทับหรือเขตเชื่อมต่อระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ของพืช และสัตว์หลายเขต ฯลฯ
ด้วยรายละเอียดตามที่กล่าวมานั้น อาจสรุปง่ายๆ ว่า เป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดกลุ่มป่าหรือผืนป่าอนุรักษ์ ซึ่งในปัจจุบันสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 19 กลุ่มป่า
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘กลุ่มป่า’ หรือพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ มีความหลากหลายมากกว่าพื้นที่อนุรักษ์ แต่หากขาดการดูแลรักษา กลุ่มป่าที่สมบูรณ์ก็อาจแปรสภาพเป็นอื่นไปได้เช่นกัน
และเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้ป่าสมบูรณ์ต้องแปรเปลี่ยนสภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงได้จัดทำการวิเคราะห์ สุขภาพกลุ่มป่าขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดูป่า ป่ากลุ่มไหนยังดี กลุ่มไหนขาดอะไร หรือกลุ่มไหนป่วย ต้องรีบรักษาเยียวยา
ในการประเมินสุขภาพกลุ่มป่าครั้งนี้ ได้ทำการประเมินเพียง 17 กลุ่มป่า ประกอบไปด้วย กลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย – สาละวิน กลุ่มป่าศรีลานนา – ขุนตาล กลุ่มป่าดอยภูคา – แม่ยม กลุ่มป่าแม่ปิง – อมก๋อย กลุ่มป่าภูเมี่ยง – ภูทอง กลุ่มป่าภูเขียว – น้ำหนาว กลุ่มป่าภูพาน กลุ่มป่าพนมดงรัก – ผาแต้ม กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าชุมพร กลุ่มป่าคลองแสง – เขาสก กลุ่มป่าเขาหลวง กลุ่มป่าเขาบรรทัด และกลุ่มป่าฮาลา – บาลา โดยได้ตัดกลุ่มป่าหมู่เกาะฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มป่าหมู่เกาะสิมิรัน-พีพี-อันดามัน เนื่องจากมีสภาพนิเวศและการบริหารจัดการที่แตกต่างจากกลุ่มป่าอื่นๆ จึงคงไว้เพียงกลุ่มป่าทางบกเท่านั้น
ในการทำงานฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ตั้งคณะทำงานขึ้น โดยการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านป่าไม้และสัตว์ป่า ที่มีประสบการณ์และผลงานเป็นที่ยอมรับมาร่วม คิด วิเคราะห์ หาเหตุและผลในการอธิบายสุขภาพของกลุ่มป่า (ดูรายชื่อที่ท้ายบทความ) ซึ่งฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคณะทำงานได้กำหนดเครื่องมือในการประเมินเอาไว้ 4 ประเด็น ประกอบไปด้วย ขนาดพื้นที่ป่า ความหลากหลายสัตว์ป่า ภัยคุกคาม และประสิทธิภาพการจัดการ ในแต่ละหัวข้อ ยังมีรายละเอียดย่อยต่างๆ ประกอบการวิเคราะห์
โดยแต่ละรายละเอียดย่อยนั้น นอกจากคณะทำงานทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินแล้ว ยังอ้างอิงงานวิจัยอีกที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ตั้งด้วยกันหลายชิ้น เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะลงรายละเอียดแจกแจงไปตามหัวข้อที่ใช้ในการประเมิน
สำหรับเกณฑ์ต่างๆ ในการประเมินนั้น สามารถอธิบายได้ดังนี้
สุขภาพกลุ่มป่าด้านพื้นที่ป่า
สืบ นาคะเสถียร ได้อธิบายไว้ในรายงานนำเสนอให้ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเอาไว้ว่า “หลักประกันในการที่จะรักษาพันธุ์ของต้นไม้ พืช และสัตว์ป่าไว้ได้จำเป็นจะต้องอาศัยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่มีความต่อเนื่อง มิใช่มีหลายแห่งแต่กระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย เหมือนเกาะที่อยู่กลางสมุทรที่ขาดการเชื่อมโยงติดต่อกัน”
ขนาดของกลุ่มป่านั้นเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะบ่งบอกความสมบูรณ์ของผืนป่า ยิ่งป่ามีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างโอกาสเอื้อต่อการดำรงชีวิตแก่สรรพสิ่ง แต่กลุ่มป่านั้นต้องเป็นกลุ่มป่าขนาดใหญ่ที่มีความต่อเนื่องไม่ถูกตัดแบ่งออกจากกัน มีความเชื่อมโยงกันทางนิเวศวิทยาของแต่ละแห่งไปจนถึงแนวเชื่อมผืนป่าระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในผืนป่า
กลุ่มป่าที่มีขนาดพื้นที่ป่ามากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย – สาละวิน และกลุ่มป่าภูคา – แม่ยม (อ้างอิง แนวเชื่อมต่อระบบนิเวศในประเทศไทย. สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2557)
กลุ่มป่าที่มีความต่อเนื่องของผืนป่า มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย – สาละวิน และกลุ่มป่าภูเขียว น้ำหนาว (อ้างอิง โครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดทำแนวเชื่อมต่อทางนิเวศวิทยาของผืนป่าในกลุ่มป่าที่สำคัญของประเทศไทย)
กลุ่มป่าที่มีความหลากหลายของชนิดป่า มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าศรีลานนา – ขุนตาล และกลุ่มป่าแม่ปิง – อมก๋อย (อ้างอิง ฐานข้อมูลกลุ่มป่าที่สำคัญในประเทศไทย ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
กลุ่มป่าที่มีแนวเชื่อมผืนป่าระหว่างประเทศ มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ (อ้างอิง แนวเชื่อมต่อระบบนิเวศในประเทศไทย. สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2557)
เมื่อนำทั้ง 4 ประเด็นมารวมกัน สามารถอธิบายเป็นแผนภูมิสุขภาพป่าได้ดังภาพ
สุขภาพกลุ่มป่าด้านสัตว์ป่า
สัตว์ป่า ถือเป็นสิ่งชี้วัดความสมบูรณ์ความผืนป่าที่สำคัญ ดังเช่นที่มีคำอธิบายว่าผืนป่าที่มีเสือโคร่งนั้น ถือได้ว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะเสือแต่ละตัวต้องการพื้นที่หากินที่ไม่ซ้อนทับกับตัวอื่น ต้องมีสัตว์กีบ (อาหาร) เพียงพอ เช่นเดียวกันสัตว์กีบส่งต่อทอดยาวเป็นระบบห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเสือโคร่งก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือชี้วัดสุขภาพกลุ่มป่าในครั้งนี้ด้วย
ประเด็นในการประเมินสุขภาพด้วยสัตว์ป่านั้น ประกอบไปด้วย ความหลากหลายชนิดของสัตว์ป่า เช่น มีชนิดของสัตว์ป่ามาก (ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน) เช่นเดียวกับจำนวนสัตว์ป่าในชนิดเดียวกัน ถ้ามีมากก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกันได้มาก หากกลุ่มป่าไหนมีน้อย ก็อาจเกิดปัญหาการผสมพันธุ์กันเองจนเกิดลักษณะด้อยทางพันธุกรรมและนำไปสู่การลดลงของจำนวนประชากรในอนาคต
กลุ่มป่าที่มีความหลากหลายชนิดของสัตว์ป่า มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าภูเขียว – น้ำหนาว และกลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย – สาละวิน (อ้างอิง บัญชีรายชื่อสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / หมายเหตุ บางกลุ่มป่ายังขาดการสำรวจที่ครบถ้วนด้านความหลากหลายของสัตว์ป่า)
กลุ่มป่าที่สัตว์ป่าถูกคุกคาม มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าฮาลา – บาลา กลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย – สาละวิน (บมสรุปสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามในประเทศไทย พ.ศ. 2558 / หมายเหตุบางกลุ่มป่ายังขาดการสำรวจเรื่องภัยคุกคามที่มีต่อสัตว์ป่า)
กลุ่มป่าที่มีสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าฮาลา – บาลา และกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ (อ้างอิง สถานภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในประเทศไทย, กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
กลุ่มป่าที่มีสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ และกลุ่มป่าตะวันตก (อ้างอิง สถานภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในประเทศไทย, กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
สุขภาพกลุ่มป่าด้านภัยคุกคาม
เรื่องภัยคุกคามนั้นเป็นข้อถกเถียงในวงกลุ่มสุขภาพกลุ่มป่ามาก เนื่องจากในหลายๆ ประเด็นนั้นมีความไม่ชัดเจน เป็นต้นว่า จะนำภัยคุกคามที่เกิดจากการล่าสัตว์ป่า หรือจำนวนคดีที่จับได้ในแต่ละพื้นที่มาเป็นเกณฑ์ดีหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ต้องตัดออกไป เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่าการที่ไม่มีการดำเนินคดีในพื้นที่เพราะมีการดูแลที่มีประสิทธิภาพหรือไม่สามารถจับผู้กระทำความผิดได้กันแน่
ประเด็นเรื่องการทำปศุสัตว์ในป่าอนุรักษ์ หรือการแอบนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงในพื้นที่อนุรักษ์ ตลอดจนโรคระบาดที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ก็ยังคงคลุมเครือในข้อมูล ประเด็นนี้จึงลดเหลือเพียงเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า เพราะมีข้อมูลที่ชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียม
การวิเคราะห์ภัยคุกคามในครั้งนี้จึงมีเพียงประเด็นเดียวนั่นคือการบุกรุกพื้นที่ป่าเท่านั้น
กลุ่มป่าที่ถูกบุกรุก มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าชุมพร กลุ่มป่าเขาบรรทัด และกลุ่มป่าเขาหลวง (อ้างอิง ตารางแสดงข้อมูลพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่บุกรุกด้วยภาพถ่ายดาวเทียม THEOS ปี 2557 รายป่าอนุรักษ์)
สุขภาพกลุ่มป่าด้านประสิทธิภาพการจัดการ
ประเด็นสุดท้ายที่นำมาใช้ในการประเมินสุขภาพกลุ่มป่า คือ ประสิทธิภาพการจัดการ ซึ่งเน้นไปที่เรื่องของการป้องกัน กล่าวคือ กลุ่มป่าหรือพื้นที่อนุรักษ์ที่จะสามารถรักษาความสมบูรณ์ได้นั้นจำเป็นต้องมีการป้องกันที่เหมาะสม
ซึ่งการป้องกันในที่นี้วัดจากจำนวนหน่วยพิทักษ์ป่าว่ามีความเพียงพอต่อพื้นที่หรือไม่ หากพื้นที่ใหญ่และมีหน่วยพิทักษ์มาก ก็พอโล่งใจได้ว่าการดูแลสามารถทำได้ทั่วถึง แต่ถ้าหน่วยพิทักษ์ป่ามีน้อยสวนทางกับขนาดพื้นที่ที่มากย่อมไม่อาจทำให้ดูแลได้อย่างทั่วถึง
กลุ่มป่าที่มีหน่วยพิทักษ์ป่าเพียงพอต่อพื้นที่ 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าเขาบรรทัด และกลุ่มป่าภูพาน (อ้างอิง ฐานข้อมูลหน่วยพิทักษ์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
มาถึงตรงนี้จะเห็นว่า การประเมินสุขภาพกลุ่มป่านั้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากประกอบการประเมิน ซึ่งในการทำรายงานสุขภาพกลุ่มป่าในครั้งแรกนี้ ทางฝ่ายวิชาการและคณะผู้ทำงานอธิบายยังไม่ถือว่าเป็นรายงานที่สมบูรณ์มากนัก เนื่องจากยังขาดข้อมูลอยู่หลายส่วน ทั้งในส่วนของพื้นที่บางแห่ง หรือข้อมูลภาพรวมในบางประเด็นที่ยังไม่มีการจัดทำรายงานอย่างเป็นทางการออกมา
หากกล่าวโดยสรุป จากรายงานที่เห็นในภาพรวมใหญ่ ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ทำรายงานสรุปเอาไว้ว่า สุขภาพกลุ่มป่าในประเทศไทยสามารถแบ่งระดับกลุ่มป่าได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด (3 คะแนน) ทั้งหมด 4 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก, ภูเขียวน้ำหนาว, ตะวันออก และดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก (2 คะแนน) ทั้งหมด 12 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าฮาลา-บาลา, แก่งกระจาน, ภูเมี่ยง-ภูทอง, ลุ่มน้ำปาย-สาละวิน, คลองแสง-เขาสก, ศรีลานนา-ขุนตาล, แม่ปิง-อมก๋อย, พนมดงรัก-ผาแต้ม, ภูพาน, เขาหลวง, เขาบรรทัด, ดอยภูคา-แม่ยม และชุมพร
จากข้อมูลข้างต้นมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคณะทำงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เกี่ยวข้องแก่การดูแลรักษาผืนป่าจะสามารถนำไปใช้เพื่อกำหนดทิศทางและวางแผนการบริหารจัดการกลุ่มป่าให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดไฟล์สรุปการประเมินสุขภาพกลุ่มป่าทั้งหมดได้ ที่นี่
รายชื่อคณะจัดทำรายงาน สุขภาพกลุ่มป่าประเทศไทย
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษหัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมโภชน์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร และอาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ดร.ชวลิต วิทยานนท์ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และผู้เชี่ยวชาญด้านปลา โดม ประทุมทอง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ไพรวัลย์ ศรีสม ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รุ่งสุริยา บัวสาลี นักนิเวศวิทยา นพรัตน์ นาคสถิต กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพชร มโนปวิตร ผู้ประสานงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประจำประเทศไทย โชคนิธิ คงชุ่ม กลุ่มใบไม้ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร