เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กวางผา 6 ชีวิต จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ได้ย้ายมายังบ้านหลังใหม่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฎิบัติภารกิจสำคัญ
ในพื้นที่กรงฝึกขนาด 1 ไร่ จำนวน 2 กรง กวางผาทั้ง 6 ชีวิต ใช้พื้นที่ตรงนี้ในการปรับตัวกับบ้านหลังใหม่ เริ่มจากการหาอาหารกินเองและปรับตัวในกรงฝึก
จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของกวางผา พบว่าเมื่อย้ายกวางผามาได้เพียง 5 วัน มีกวางผาในธรรมชาติเริ่มเข้ามาใกล้พื้นที่กรงฝึก และหลังจากนั้นก็เริ่มมีพฤติกรรมการยึดครองพื้นที่ระหว่างกวางผาตัวผู้ในธรรมชาติและกวางผาตัวผู้ในกรงฝึก โดยเห็นได้ชัดเจนจากกรณีของกวางผา ชื่อ ไชยา
ซี่งเมื่อมีกวางผาในธรรมชาติเข้ามา พฤติกรรมหนึ่งที่แสดงต่อกันในการประกาศอาณาเขตคือ การส่งเสียงร้องเคาะเท้า และการชนกัน แม้จะชนกันผ่านกรง แต่ ไชยา ก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าเกรงกลัวกวางผาเจ้าถิ่น
จากข้อมูลการสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว สำหรับการปรับตัวของกวางผาทั้ง 6 ตัว นั้น ใน ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีการปรับตัวได้อย่างดี ไม่วิ่งชนกรงเหมือนช่วงแรกที่นำมาปล่อย และเริ่มมีพฤติกรรมคล้ายกับกวางผาในธรรมชาติคือ มีพฤติกรรมการหาที่หลบในไม้พุ่มที่ขึ้นหนาแน่นภายในกรงในช่วงเวลากลางวัน มีการออกมาหากินในช่วงกลางคืนจนถึงเช้ามากขึ้น มีการแสดงพฤติกรรมการผิงแดดในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เปิดโล่งหรือบนต้นไม้ที่ล้มเพื่อให้ได้รับแสงแดดมากขึ้น มีการปรับตัวในการยึดครองพื้นที่ในกวางผาตัวผู้ซึ่งเลือกพื้นที่ราบและมีหญ้ายูงขึ้นหนาแน่น
การปรับตัวด้านอาหาร
กวางผาในกรงฝึกทั้งสองกรงภายหลังการปล่อยหากินและปรับสภาพ กวางผามีการปรับพฤติกรรมการกินจากอาหารข้นมากินพืชมากขึ้น แม้ว่าเจ้าหน้าที่จากสถานีวิจัยฯจะยังคงให้อาหารข้นในถาดอาหารในปริมาณที่ลดลง(ตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้กวางผากินหญ้าในปริมาณที่มากขึ้น)
การปรับตัวด้านพฤติกรรม
จากการสังเกตพฤติกรรมกวางผาพบกวางผามีความระมัดระวังภัยจากคนมากขึ้น เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ผ่านด้านนอกกรงจะวิ่งไปหลบในพุ่มไม้ทันที ส่วนในพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เป็นกิจวัตรการออกหากินกวางผาจะเริ่มคล้ายกวางผาในธรรมชาติมากขึ้น คือ กวางผาออกหากินตั้งแต่มืดจนถึงประมาณ 11.00 น. แล้วกวางผาจะหลบไปนอนพักผ่อนและเคี้ยงเอื้องในพุ่มไม้หรือข้างต้นไม้ที่หนาแน่นตั้งแต่ 11.00น. ถึงประมาณ 14.00 น. แล้วจะลุกเดินออกมาจากที่หลบซ่อนออกมาหากินหญ้าสลับกับการหลบไปนอนในพุ่มไม้เป็นช่วง ๆ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมากวางผาเริ่มแสดงพฤติกรรมมายืนพิงแดดในจุดที่แสงแดดส่องลงมาถึงพื้นโดยมายืนนิ่งเป็นเวลาประมาณ 30 นาที
ส่วนพวกพฤติกรรมทางสังคมอื่น ๆ
พบว่ากวางผาเริ่มมีการป้องกันอาณาเขตในตัวผู้ ซึ่งหากมีกวางผาเพศผู้มาอยู่ใกล้จะแสดงพฤติกรรมขับไล่โดยใช้เท้ากระทืบพื้นดินและส่งเสียงร้องขับไล่ แต่หากตัวผู้อีกตัวยังอยู่ใกล้กรงจะแสดงออกพฤติกรรมต่อสู้โดยการใช้หัวชนกันจนกว่ากวางผาอีกตัวจะเดินหนีไปพื้นที่อื่น ส่วนกวางผาเพศผู้กับกวางผาเพศเมียจะมีพฤติกรรมการขับไล่น้อยกว่า จะไม่ขับไล่ในช่วงปกติที่ไม่ใช่ช่วงกินอาหารจะมีการเข้ามาคลอเคลียบ้างในช่วงเช้า
หัวหน้ามงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า “จากที่ผ่านมาพฤติกรรมหนึ่งของกวางผา ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนคือเรื่องการกินอาหาร ส่วนเรื่องอื่นๆยังไม่ชัดนัก แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็เก็บข้อมมูลทุกอย่างอย่างละเอียดไว้ก่อนเพราะยังไม่รู้ว่าพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆที่เราเก็บมีอะไรที่มองข้ามไปไหม บางอย่างอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งครั้งนี้เป็นเหมือนบทเรียนแรกที่เราจะนำมาใช้กับโครงการต่อๆไป หลังจากนี้เราจะนำข้อมมูลมาเปรียบเทียบด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในอนาคตอาจมองถึงช่วงเวลาที่เราจะนำกวางผามาฝึกด้วยว่า 6 เดือนที่นำมาฝึกมันน้อยไปไหม หรือควรจะมีระยะเวลาเท่าไหร่”
นอกจากที่มีการเก็บข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ในช่วงระยะเวลากลางวัน ทางทีมวิจัยก็มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ เพื่อดูพฤติกรรมในเวลากลางคืนด้วย (กวางผามีการหากินตั้งแต่ช่วงเวลา 15.00 น. ถึง 16.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเช้า ก่อนที่จะพักผ่อนในช่วง 10 โมง ถึงบ่ายๆ ) พฤติกรรมบางอย่างที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ก็จะได้กล้องดักถ่ายภาพเป็นตัวช่วยในการเก็บข้อมูล
ปัจจุบันได้มีการติดกล้อง 5 ตัว รอบกรงฝึก ซึ่งเราจะเก็บข้อมมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากที่ผ่านมาพบว่า ไชยา มีสัญญาตญาณของกวางผาอย่างเต็มที่ แม้ว่ามันจะเกิดในกรงก็ตาม จึงมีการตั้งข้อสังเกตุว่าการมาครั้งนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ไชยาเกิดสัญชาตญาณของมัน
ขั้นตอนต่อไป
ระยะเวลาหลังจากนี้ทางโครงการกำลังดำเนินการเรื่องของการส่งตัวคอล่าห์ (ปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียม GPS Satellite Collars ) ที่จะนำเข้ามาในช่วงต้นเดือนมกราคม และจะดำเนินการติดกับกวางผาที่คัดเลือกไว้ จำนวน 4 ตัว โดยทางทีมวิจัยฯจะเชิญผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการใช้เครื่องมือตัวนี้ อย่างทีมวิจัยเสือโคร่งจากเขานางรำ มาเป็นพี่เลี้ยงด้วย
ส่วนกวางผาที่จะทำการปล่อยก็จะมีการตรวจสุขภาพอีกครั้งเพื่อให้กวางผามีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่สุด โดย ไชยา น่าจะเป็นเป้าหมายแรกๆในการใส่ปลอกคอ เพราะด้วยสภาพร่างกายที่มีความพร้อม และด้วยบุคลิกของไชยา น่าจะทำให้ได้ข้อมมูลจากการติดตามได้มาก
และจากสังเกตุพฤติกรรมของกวางผาที่ผ่านมา ทางโครงการฯอาจจับกวางผาตัวผู้ที่มาชนกับไชยาใส่ปลอกคอ เพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลเรื่องการยึดครองพื้นที่ ระหว่างกวางผาในธรรมชาติ กับกวางผาที่จะปล่อย ซึ่งครั้งนี้น่าจะตอบได้ว่ากวางผาที่เสียพื้นที่ตรงนี้ จะไปใช้พื้นที่ตรงไหน และไปไกลแค่ไหน แล้วไชยา ครอบครองพื้นที่จำนวนเท่าไหร่ ที่จะเหมาะสมกับเขา การที่ได้ครองพื้นที่นั่นหมายถึงการได้ตัวเมียด้วย ซึ่งเป้าหมายหนึ่งของโครงการนี้คือการสร้างความหลากหลายทางพันธุ์กรรม เพื่อแก้ไขปัญหาเลือดชิด ตรงนี้ก็จะตอบวัตถุประสงค์ของโครงการได้เป็นอย่างดี
สำหรับโครงการนี้จะเป็นครั้งแรก ที่มีการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบที่เรานำกวางผาที่ได้จากการเพาะเลี้ยง มาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และมีการติดตาม ซึ่งข้อมมูลตรงนี้จะเป็นต้นคู่มืองานวิจัยกวางผา หรือสัตว์ลักษณะเดียวกัน และแผนการจัดการสัตว์ป่าสงวน (กวางผา) ต่อไปในอนาคต
- ที่มาของโครงการนี้ สามารถอ่านรายละเอียดโครงการได้ที่ โครงการติดตามกวางผา เจตนาที่สืบต่อ – สู่งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร
- และติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการที่ผ่านมา ได้ที่ ความคืบหน้าโครงการติดตามกวางผาฯ ตอนที่ 1 จากอมก๋อย สู่เชียงดาว
ส่วนครั้งหน้าเรามาอัพเดทความเคลื่อนไหวของโครงการติดตามกวางผาฯ ให้ทราบกันต่อไป เร็วๆนี้…
ผู้ประสานงานโครงการ
นางสาวเกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่กิจกรรมพิเศษ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
140 ถ.ติวานนท์ ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 097-248-9717 / 02-580-4381
ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร