ก่อนจะเป็นผ้าทอ

ก่อนจะเป็นผ้าทอ

ก่อนหน้านี้เราได้บอกเล่าเรื่องราวการก้าวสู่อนาคตผ้าทอจอมป่า ถึงทิศทางการทำงานในรูปแบบใหม่ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตผลงานให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอจอมป่าให้มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้น

แต่กว่าจะได้เรียนรู้ กว่าจะได้ทดลองทอผ้ากันจริงๆ เรื่องนี้ไม่ง่าย

เพราะอุปสรรคระหว่างการทำงานเกิดขึ้นได้เสมอ

เรื่องราวต่อจากนี้ น้องพัช พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะมาเป็นผู้เล่าเบื้องหลังการเปิดงานใหม่ที่ประเดิมด้วยอุปสรรคให้เราฟัง

การได้ทำอะไรใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนุก น่าลอง น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์อย่างฉัน”

เดิมทีสมาชิกกลุ่มผ้าทอจอมป่าจะทอผ้าด้วยเครื่องทอกี่เอว ซึ่งการทอในลักษณะแบบนี้ ใช้เวลานานตามความยากง่ายของลวดลาย ผ้าที่ออกมาได้หน้าแคบ กลุ่มผ้าทอฯ ก็อยากพัฒนาการทอผ้าด้วยเครื่องทอกี่กระตุก ที่จะช่วยย่นเวลาในการทอเร็วขึ้น สะดวกขึ้น สามารถทอหน้ากว้างได้ เพื่อรองรับลูกค้าในการสั่งจองผ้าทอในปริมาณที่เยอะขึ้นได้

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เห็นความตั้งใจของสมาชิกกลุ่มจึงได้สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อเครื่องทอผ้าแบบกี่กระตุก และเตรียมจัดอบรมโครงการทอผ้าด้วยเครื่องกี่กระตุก แต่ว่าพอถึงวันอบรมจริงๆ กลับติดปัญหาว่าวิทยากรไม่สามารถเดินทางมาอบรมการทอผ้าได้ ครั้นจะลองผิดลองถูกกันเองก็ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่มีใครมีความรู้ด้านการทอผ้าด้วยเครื่องมือใหม่ ไม่รู้จะเริ่มจับตรงไหนก่อน ฉันจึงต้องประสานหาวิทยากรคนใหม่เข้ามาฝึกสอนสมาชิก บังเอิญว่าที่อุ้มผางพอจะมีคนมีความรู้เรื่องการทอผ้าด้วยเครื่องกี่กระตุกอยู่บ้าง ฉันจึงจัดกระบวนการอบรมกันใหม่

วิทยากรคนใหม่เป็นหนุ่มโสดคนอุ้มผาง รุ่นราวคราวเดียวกันฉัน ชื่อนิคม ถกลกวิน มีชื่อเล่นว่านุเอ อยู่ที่หมู่บ้านกล้อทอ (ดูในคลิป)

ตอนแรกฉันคิดว่าเราจะผ่านอุสรรคนี้ไปแล้ว แต่พอนุเอมาเห็นเครื่องทอผ้า คำแรกที่นุเอบอกกับฉัน คือทอไม่เป็น ไม่เคยเห็นเครื่องทอแบบนี้ ในความคิดของฉันตอนนั้นดังขึ้นแต่เพียงว่าแล้วทีนี้เราจะทำยังไงกันดีในหัวมีแต่คำถาม เวลานั้นฉันคิดหาทางออกไม่เจอเลย

ที่นุเอทำไม่เป็นเพราะว่าเครื่องทอที่มูลนิธิสืบฯ สนับสนุนมานั้นเป็นเครื่องทอผ้าแบบของคนไทย ส่วนนุเอทอเป็นแต่เครื่องทอแบบพม่า ถึงจะเป็นเครื่องทอกี่กระตุกเหมือนกัน แต่รายละเอียดการทำงานต่างกัน

ฉันคิดทบทวนอยู่สักพัก เลยเอ่ยถามนุเอว่าเราจะพอมีวิธีดัดแปลงอะไรได้บ้าง ไม่อย่างนั้นโครงการที่เราฝันร่วมกับสมาชิกกลุ่มจะไม่มีทางสำเร็จแน่ๆ”

ตอนแรกฉันกับสมาชิกปรึกษากันว่า เราจะส่งตัวแทนไปเรียนที่อุทัยธานีกับวิทยากรคนแรกที่ชวนไว้แล้วเขาไม่สามารถมาอุ้มผางได้ ฉันกับยี่ (เพื่อนของฉัน เป็นคนมีฝีมือด้านการทอผ้ามาก ตอนนี้เป็นอาสาสมัครมูลนิธิสืบฯ) จะไปเรียนวิธีการขึ้นด้าย ทอผ้า กับวิทยากรคนที่เตรียมไว้ในครั้งแรก แต่คิดไปคิดมาก็คงจะมีงบประมาณค่อนข้างเยอะ และมีเวลาในการเรียนรู้จำกัด อาจเป็นการเดินทางที่ไม่ได้ผลตามเวลาและงบประมาณที่เสียไป

ระหว่างกำลังนั่งครุ่นคิดหาวิธีแก้ไขปัญหากันนุเอก็แนะนำว่าให้กลุ่มผ้าทอจะซื้ออุปกรณ์การทอในแบบพม่ามาใช้แทนเขาจะได้สอนได้ และมาช่วยแนะนำได้เรื่อยๆ

แต่ต้องเดินทางไปซื้อแถวชายแดนพม่านะ” นุเอบอกเงื่อนไข แต่ก็ช่วยคลายความกังวลลงมาหน่อยว่าเขามีคนรู้จักที่ช่วยพาไปหาซื้อได้ เป็นครูสอนทอผ้าของเขาเอง

ฉันกับสมาชิกจึงปรึกษากันอีกหน และสรุปร่วมกันว่าจะซื้ออุปกรณ์เพิ่มอีก 1 ชุด เพื่อใช้ในการอบรมและนำร่องงานให้เดินต่อไปก่อน

บ่ายของวันอันแสนวุ่นวาย ฉัน ยี่ พี่นือบือ ประธานกลุ่มผ้าทอบ้านหม่องกั๊วะ และนุเอ พากันออกเดินทางไปที่หมู่บ้านเตอะวอซอ (หมู่บ้านนี้อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านบ่อแร่ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ฝั่งไทยไม่กี่ร้อยเมตร) ซึ่งเป็นบ้านของอาจารย์สอนทอผ้าของนุเอ

นุเอได้พาไปทำความรู้จักกับครูสอนทอผ้าของเขา ครอบครัวนี้อาศัยอยู่บ้านทั้งหมด 5 คน เป็นคู่สามีภรรยาและลูกๆ ครอบครัวนี้ทอผ้าเป็นเกือบทุกคน ฝ่ายสามี อาจารย์ของนุเอ นอกจากทอผ้าเก่งแล้วยังสามารถซ่อมอุปกรณ์เครื่องทอ และทำอุปกรณ์บางชิ้นได้ด้วย

หลังแนะนำตัวกันเสร็จเรียบร้อย ฉันก็สอบถามว่าช่วยหาซื้อเครื่องทอผ้าให้เราได้ไหม เขาก็ให้คำแนะนำและถามฉันกลับมามากมาย เพราะเครื่องทอผ้าหนึ่งตัวนั้นมีรายละเอียดเยอะ ทั้งขนาด คุณภาพของไม้ และจิปาถะอื่นๆ แต่ในใจของฉันอยากจะไปซื้อเสียเดี๋ยวนั้นเลย จะได้แก้ปัญหาให้จบไปสักที

จนแล้วจนรอดฉันก็ต้องผิดหวังอีกหน เพราะการเดินทางในช่วงบ่ายนี้ไม่น่าจะทำได้ทัน เราต้องใช้เวลาในการเลือกอุปกรณ์กันอีกพอสมควร และไหนจะเดินทางไปกลับอีกกว่าจะเสร็จคงจะมืดค่ำการเดินทางจะไม่ปลอดภัย เป็นอันว่าต้องเดินทางไปซื้อในวันรุ่งขึ้นแทน โดยมีอาจารย์สอนทอผ้าและภรรยาอาสานำทางไปซื้อให้

จากอุ้มผาง การเดินทางไปฝั่งพม่าสามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ จากตัวเมืองเส้นทางอุ้มผางแม่สอด ถึงอำเภอพบพระ และอีกเส้นทางคือไปทางฝั่งพม่าจากบ้านใหม่ไปโผล่ที่วะเล่ย์ อำเภอพบพระ เราเลือกเส้นทางที่สองเพราะคนนำทางกลัวว่าจะเมารถหากต้องผ่านโค้งจำนวนมากบนนถนนอุ้มผาง-แม่สอด และเส้นทางที่สองก็ใกล้กว่าใช้เวลาไม่นาน แต่เส้นทางนี้ก็ต้องเผชิญทั้งฝุ่น ทั้งหลุม เจอหินก้อนใหญ่ๆ ขับรถข้ามแม่น้ำ ฉันรู้สึกผิดที่ต้องวานให้ยี่เอารถคันใหม่ของเธอมาลุยอะไรแบบนี้ แถมเจ้าตัวยังมีสีหน้าราวกับจะร้องไห้มาตลอดเส้นทาง เธอยังกำชับกับฉันว่าว่าขากลับเรากลับเส้นลอยฟ้ากันนะ

เราไปถึงที่หมายโดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อไปถึงก็พบว่าชาวบ้านในละแวกนั้นส่วนใหญ่ทอผ้าด้วยเครื่องทอกี่กระตุกเป็นหลัก ฝ่ายสามีก็ออกไปไปถามหาซื้อเครื่องทอให้ ส่วนทางภรรยาก็พาไปดูการขึ้นด้าย การทอ การม้วนด้าย ผ่านไปสักพักใหญ่ฝ่ายสามีก็กลับมาพร้อมกับข่าวดีว่ามีเครื่องทอนะ ฉันรู้สึกโล่งอกมากที่เรามาไม่สูญเปล่า

แต่ปัญหาก็ไม่จบเสียทีเดียว เพราะชิ้นส่วนอุปกรณ์นั้นเยอะมาก เห็นครั้งแรกฉันกับยี่จินตนาการไม่ออกเลยว่าจะขนกลับอุ้มผางกันอย่างไร ความที่เดินทางกันไปแบบสองสาวหากเกิดอะไรขึ้นมาก็จะลำบากไม่น้อย แต่ว่าเมื่อเดินหน้าแล้ว ยังไงก็ต้องลุยต่อ

สุดท้ายเราก็ใช้รถของยี่ขนกลับจนหมด โดยต้องเปิดกระบะท้าย หากระดาษลังมารองไม่ให้รถเป็นรอย ขนท่อนไม้ทั้งใหญ่ ทั้งยาว ทั้งหนักขึ้นรถแล้วค่อยๆ ขับกลับกัน ตอนแรกที่ว่าจะขับทางอุ้มผาง-แม่สอดก็ต้องเปลี่ยนไปอีกทางหนึ่งเพราะคู่สามีภรรยาที่นำทางเรามา เขากลัวว่าเดี๋ยวจะคลื่นไส้อาเจียนจนเปรอะรถเสียอีก ยี่ก็เห็นใจและเข้าใจเพราะเธอก็มีประสบการณ์เมารถอยู่บ่อยๆ จึงจำใจเดินทางกลับทางเดิม โดยขับอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น กว่าจะกลับมาถึงหมู่บ้านหม่องกั๊วะที่ตั้งศูนย์ผ้าทอจอมป่าก็ฟ้ามืดพอดี

การเดินทางของฉันครั้งนี้ค่อนข้างจะเหนื่อยและมีกังวลตลอดทาง แต่ก็ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ตอนนี้เราเริ่มอบรมการทอผ้าแบบกี่กระตุกกันแล้ว และเริ่มทอกันได้บ้าง ส่วนเครื่องทอผ้าแบบไทยก็กำลังหาลู่ทางในการเรียนรู้ในครั้งต่อไป ซึ่งในโอกาสหน้าฉันจะกลับมาเล่าเรื่องการอบรมทอผ้าให้ฟังกันต่อ

 

ร่วมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านการบริจาคด้วยบัตรเครดิต

 


รายงาน พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรียบรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร