ไฟป่า ฝุ่นควัน เชียงใหม่ : ถอดบทเรียนจากเมืองเหนือ กับแนวคิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ไฟป่า ฝุ่นควัน เชียงใหม่ : ถอดบทเรียนจากเมืองเหนือ กับแนวคิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า ในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่เรื้อรังมาร่วมทศวรรษ นอกจากปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว สถานการณ์ยังดูเหมือนจะแย่ลงอีก เมื่อค่าดัชนีคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ พุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับเชียงใหม่ ปีนี้นอกจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ยังมีวิกฤตไฟป่า ที่เกิดขึ้นและลุกลามเข้าใกล้เขตตัวเมือง ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในหลายภาคส่วน หลายคนตั้งข้อสังเกตและพยายามหาต้นตอของปัญหา กลายเป็นเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสนใจ 

ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไฟป่า’ กับ ‘ฝุ่นควัน’

ฐิฏาพร สุภาษี รองหัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่า ในเชิงของการวิจัยได้มีการศึกษาความสัมพันธ์เรื่องจุดกำเนิดความร้อนพบว่า จุดความร้อนที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ อยู่ในพื้นที่ป่ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่เกิด ล้วนมีความเชื่อมโยงกันในเรื่องของข้อมูลที่ได้นำมาหาความสัมพันธ์กัน 

โดยนำข้อมูลความร้อนจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่อิงจากการตรวจวัดของดาวเทียม (ซึ่งดาวเทียมสามารถตรวจจับความร้อนได้) โดยฐิฏาพรได้ทดลองเอาข้อมูลจุดความร้อนกับข้อมูลฝุ่นละออง (โดยอ้างอิงจากกรมควบคุมมลพิษ) มาเปรียบเทียบกัน พบว่า ตรงไหนที่มีจุดความร้อนสูงก็จะมีค่าฝุ่นที่สูงตามขึ้นด้วย แสดงถึงความมีนัยยะสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ระหว่างไฟป่ากับฝุ่นควัน

ทั้งนี้ ในกลุ่มนักวิจัยเองก็กำลังพยายามศึกษา วิธีการลดจุดความร้อนและลดค่าฝุ่นในพื้นที่ แต่ความสำคัญมันอยู่ที่แหล่งของจุดกำเนิด ฐิฏาพรสมมติให้เห็นภาพว่า หาก 90 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งเกิดฝุ่นในภาคเหนือ มาจากการเผาในที่โล่ง ผนวกกับปัจจัยทางธรรมชาติ ส่งผลให้พื้นที่การเผาไหม้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นในลักษณะการลุกลามไปเรื่อย ๆ 

ซึ่งจะมีความแตกต่างกับกลุ่มควันทางภาคอีสานที่มักจะเกิดจากการเผาอ้อย ในขณะที่หมอกควันที่เกิดในภาคกลางหรือในกรุงเทพมหานคร มักจะเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม 

PHOTO : WEVO สื่ออาสา

เมื่อการห้ามเผาทำให้เกิดการทับถมของเชื้อไฟ

ภาคเหนือของประเทศไทย ถือเป็นพื้นที่ที่ต้องประสบกับปัญหาไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หลายจังหวัดได้มีมาตรการ ‘ห้ามเผา 60 วัน’ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

รองหัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าว จะมีการบังคับใช้โดยการแบ่งแต่ละจังหวัดว่าจะมีการห้ามเผาช่วงไหน ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีช่วงเวลาในการห้ามเผาที่แตกต่างกันไป และยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า อะไรคือที่มาและหลักเกณฑ์ในการแบ่งช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งกลายเป็นผลกระทบต่อเนื่อง เพราะมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มวลเชื้อเกิดทับถมและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีปริมาณมหาศาล พอเกิดการเผาเพียงครั้งเดียวไฟก็อาจจะเกิดการลุกลามขยายพื้นที่ออกไป และไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ง่าย 

“แม้จะมีมาตรการห้ามเผาแต่ก็ยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ในช่วงดังกล่าวกลับกลายเป็นช่วงที่มีจุดความร้อนและมีค่าฝุ่นสูงที่สุด แสดงให้เห็นว่ามาตรการห้ามเผาไม่ได้ผล ทางแก้มันอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าห้ามเผาเด็ดขาด แต่ควรจะมีการบริหารการจัดการเรื่องการเผาหรือเปล่า อย่างในปี 2563 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้มีมาตรการห้ามเผา แต่เกษตรก็ได้แจ้งกับหน่วยงานท้องถิ่น ว่าจะขอชิงเผา ซึ่งหน่วยจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้เกิดไฟป่าได้” ฐิฏาพร กล่าว

ในกรณีไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดอยสุเทพและดอยอินทนนท์ในปีนี้ฐิฏาพรอธิบายว่า ก็อาจจะมีผลมาจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ทราบจำนวนของมวลเชื้อที่ถูกทับถมว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ผนวกกับการที่สภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าผลัดใบ

PHOTO : WEVO สื่ออาสา

หรือในทางการบริหารควรมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ?

ฐิฏาพร มองว่าคนเมืองอาจต้องมองวิธีการจัดการปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันในมุมอีกมุมหนึ่ง ด้วยวิธีการจัดการควรมอบอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น โดยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาด้วย 

“ถ้าเป็นระบบท้องถิ่นจะทำให้การจัดการมันดีขึ้น แต่ว่าทุกวันนี้โครงสร้างของกฎหมายยังเป็นแบบ Single Command  หรือ การสั่งการตรง ซึ่งถ้าไม่มีหน้าที่รับผิดชอบก็จะไม่สามารถสั่งการได้ อย่างกรณีที่เกิดไฟไหม้ป่าในพื้นที่ชุมชน อบต.จะไม่มีสิทธิ์ในการเรื่องดังกล่าว ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าหน่วยงานท้องถิ่นบางหน่วยงานไม่สามารถเข้าถึงระบบการจัดการไฟป่าได้” ฐิฏาพร กล่าว

ทั้งนี้ การที่ท้องถิ่นไม่สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ อาจส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งพิจารณาพื้นที่ป่าทั้งหมดจะเห็นได้ชัดว่า อุปสรรคของการเฝ้าดูแลเต็มไปด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนบุคคากร และงบประมาณที่ไม่ครอบคลุม

เพราะทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศดีเท่ากัน 

ปัญหาที่ยังเรื้อรังของไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ส่งผลให้ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานครเวียงพิงค์แห่งนี้ต้องประสบกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มาโดยตลอด แต่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักจนเสมือนกลายเป็นเรี่องที่ภาครัฐและคนภายนอกชินชา จนกระทั่งกรุงเทพมหานครได้เริ่มประสบกับปัญหาดังกล่าวเมื่อในช่วงรอบปีที่ผ่านมา 

“ต้องมองว่า PM2.5 นั้นส่งผลกระทบในระยะยาว และมีผลต่อกลุ่มเสี่ยงเช่น เด็กและคนชรา หรือคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สำหรับคนทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันปรกติจะไม่ค่อยมีผลกระทบกับร่างกายในระยะสั้น ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” ฐิฏาพร กล่าว

PHOTO : ประชาชาติธุรกิจ

ในส่วนของสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ก็เริ่มมีการวางแผนมาตราการเยียวยาประชาชน อย่างเช่น หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน หรือ  เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีการแจกหน้ากากอนามัยให้กับคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ แต่เผอิญปีนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019  จึงทำให้ประเด็นเรื่องฝุ่นถูกหลงลืมไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่ภาครัฐต้องกลับไปทบทวนจากบทเรียนไฟป่า-ฝุ่นควัน คือ รูปแบบวิธีการดำเนินงานเชิงนโยบาย พร้อมทั้งหาจุดกึ่งกลางเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างเต็มที ซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

 


ภาพเปิดเรื่อง ทีมโดรนอาสา จ.เชียงใหม่
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร