วิกฤติขยะไทย ครองอันดับ 6 ประเทศผู้ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ได้เผยตัวเลขการสำรวจปริมาณขยะทะเลทั่วโลก พบว่าประเทศไทยติดอันดับประเทศผู้ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด จัดอยู่ในอันดับที่ 6 จาก 192 ประเทศ ส่วน 3 อันดับแรก คือ จีน อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์
ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 67 ล้านคน แต่มีอัตราการสร้างขยะสูงถึง 27.40 ล้านตันต่อปี 1.03 ล้านตัน เป็นขยะที่ไม่สามารถจัดการได้ หรือขยะที่ออกสู่ทะเล ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอินเดียที่มีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน มากกว่าจำนวนประชากรในประเทศไทย 7 เท่าตัว แต่กลับมีอัตราขยะที่ออกสู่ทะเลอยู่ที่ 0.60 ล้านตันต่อปี จัดอยู่ในอันดับที่ 12 ส่วนประเทศสหรัฐฯ มีอัตราขยะที่ออกสู่ทะเลอยู่ที่ 0.28 ล้านตัน จัดอยู่ในลำดับที่ 20 ของงานวิจัยชิ้นนี้ นั่นหมายความว่าทั้ง 2 ประเทศมีการบริหารจัดการขยะภายในประเทศที่ดีกว่า จึงส่งผลให้ขยะที่ออกสู่ทะเลมีจำนวนน้อยกว่าประเทศไทย
แนวโน้มการจัดการขยะมูลฝอยและขยะทะเล ปี 2560
จากการรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอย ปี 2560 กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในปี 2560 ประมาณ 27.40 ล้านตันต่อปี หรือ 75,046 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.26 จากปี 2559 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของชุมชนเมือง พฤติกรรมการบริโภค ของประชาชน ตลอดจนการท่องเที่ยวซึ่งมีนักท่องเที่ยวกว่า 30 ล้านคนในปี 2560 ในขณะที่อัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อคน ลดลงจาก 1.14 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี 2559 เป็น 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน
ส่วนการจัดการขยะมูลฝอยในปี 2560 มีแนวโน้มการจัดการที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2559 พบว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกําจัดอย่างถูกต้อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จาก 9.57 ล้านตัน เป็น 11.7 ล้านตัน หรือ 32,069 ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 42.7 ของปริมาณ ขยะมูลฝอยชุมชนทั้งหมด
ด้านสถานการณ์ขยะทะเลพบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด เกิดขึ้น 11.47 ล้านตัน กําจัดอย่างถูกต้อง 6.89 ล้านต้น นําไปใช้ประโยชน์ 3.02 ล้านต้น และกําจัดไม่ถูกต้อง 1.55 ล้านตัน ส่วนสาเหตุหลัก ๆ ของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากการทิ้งขยะจากชุมชน นักท่องเที่ยว การประกอบอาชีพทางทะเล และโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังพบว่าขยะที่พบมากที่สุดในทะเล 5 อันดับแรก คือ ถุงพลาสติก ขวดน้ำดื่ม โฟม หลอด และเศษเชือก
คนไทยใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว มากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี
จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี แบ่งที่มาของถุงพลาสติกหูหิ้ว 3 แห่งด้วยกันคือ ร้อยละ 40 มาจากตลาดสดเทศบาล เอกชน และแผงลอย จำนวน 18,000 ล้านใบต่อปี ร้อยละ 30 มาจากร้านขายของชำ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี และร้อยละ 30 มาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี นอกจากนี้ยังพบอีกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย คนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน
แคมเปญ งดใช้ถุงพลาสติก ช่วยลดขยะมากน้อยแค่ไหน ?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น ซึ่งได้มีการวาง มาตรการลดละเลิกพลาสติกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีถุงพลาสติกของประเทศอังกฤษ การห้ามใช้อุปกรณ์ทานอาหารที่ทำจากพลาสติกของประเทศฝรั่งเศส หรือแม้แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศรวันดาที่มีคำสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกทั่วประเทศ ซึ่งหากใครฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกสูงสุดนาน 6 เดือน
ในส่วนของประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อวิกฤติการณ์นี้แต่อย่างใด เมื่อภาครัฐ และภาคเอกชน เริ่มออกแคมเปญรณรงค์งดใช้พลาสติกมากขึ้น เช่น ยกเลิกการใช้แคปซีลบนฝาขวดน้ำดื่ม ซึ่งคาดว่าแคมเปญนี้จะสามารถลดขยะพลาสติกได้ประมาณ 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี
ด้านกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดแคมเปญ “กรมการแพทย์รักษ์โลก พกถุงผ้าใส่ยากลับบ้าน”ทางสถาบันหรือโรงพยาบาลในสังกัดได้เริ่มใช้แคมเปญนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 โดยยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใส่ยา พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนผู้รับบริการให้นำถุงผ้ามาใส่ยา จากข้อมูลการใช้ถุงพลาสติกใส่ยาของหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ ปี 2560 พบว่า มีจำนวน 9,010,164 ใบ ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถที่จะลดถุงพลาสติกเกือบ 10 ล้านใบต่อปี
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็เริ่มออกมาขับเคลื่อนเช่นเดียวกัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งจะเน้นไปที่ตลาดสดเทศบาล (จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่าเป็นส่วนที่มีการสร้างขยะถุงพลาสติกหูหิ้วมากถึง 18,000 ล้านใบต่อปี) แคมเปญนี้ได้ดำเนินการแล้วเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ครอบคลุมตลาดสดเทศบาล 7,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะลดการใช้ถุงพลาสติก 20% หรือ 3,600 ล้านใบ ภายในปี 2562 ส่วนที่สองจะเน้นไปที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ (จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่าเป็นส่วนที่มีการสร้างขยะถุงพลาสติกหูหิ้วมากถึง 13,500 ล้านใบต่อปี) ได้มีการรณรงค์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ได้จัดแคมเปญงดการให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการเตรียมถุงผ้ามาใช้
คาด ปี 2562 สามารถลดถุงพลาสติกหูหิ้วได้มากถึง 17,109 ล้านใบต่อปี
จากการคาดการณ์เบื้องต้น หากเรานำตัวเลขที่ได้จากทั้ง 3 แคมเปญที่ลดการใช้ถุงหูหิ้วมารวมกัน ซึ่งก็คือยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใส่ยาในโรงพยาบาล จะสามารถลดถุงพลาสติก 9 ล้านใบต่อปี และงดการให้บริการถุงพลาสติกในตลาดสดเทศบาล จะสามารถลดถุงพลาสติก 3,600 ล้านใบต่อปี ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ จะสามารถลดถุงพลาสติกจำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี หากเรานำแคมเปญนี้ไปปรับใช้ในปี 2562 อย่างจริงจัง เราจะสามารถลดถุงพลาสติกหูหิ้วได้มากถึง 17,109 ล้านใบต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 37.77 ของขยะถุงพลาสติกทั้งหมด
ตัวเลขที่เห็นข้างต้นเป็นเพียงการคาดการณ์ของแต่ละฝ่ายเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการสร้างขยะภายในประเทศก็คือตัวเรา โดยเริ่มจากข้อปฏิบัติง่าย ๆ ด้วยการปฏิเสธการใช้พลาสติก เช่น ถุงหูหิ้ว หลอด หรือภาชนะใส่อาหารที่ทำจากพลาสติก
ข้อมูลเพิ่มเติม : Plastic waste inputs from land into ocean มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา