กรมควบคุมมลพิษ ประกาศยกเลิกการใช้แคปซีลบนฝาขวดน้ำดื่ม เริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้ เพื่อลดปัญหาขยะ
กรมควบคุมมลพิษร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สถาบันพลาสติก บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการขับเคลื่อนการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หรือ แคปซิล โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม นับจากสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจากการดำเนินงานในครั้งนี้คาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มได้ถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่ม ประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปีโดยประมาณ โดยมีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ร้อยละ 60 หรือ ประมาณ 2,600 ล้านขวดต่อปี พลาสติกหุ้มฝาขวดก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ
แคปซีลก่อให้เกิดขยะ 2,600 ล้านชิ้นต่อปี
น้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี
มีความยาว 260,000 กิโลเมตร
คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ
พลาสติกหุ้มฝาขวดผลิตจากพลาสติกพีวีซี (Polyvinyl Chloride: PVC) มีขนาดชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม แต่ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลและไม่คุ้มทุนในการดำเนินการ
ที่ผ่านมาทำให้พบขยะจากพลาสติกหุ้มฝาขวดถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทางทะเล ก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ และส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลจำนวนมาก
สำหรับประเทศไทยน้ำดื่มบรรจุขวดมีทั้งที่ใช้และไม่ใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม โดยนายวันชัย ศรีทองคำ (รักษาการ) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า น้ำดื่มบรรจุขวดเป็นผลิตภัณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นอาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ผู้ผลิตต้องขออนุญาตผลิต ขอรับเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ และแสดงฉลากให้ถูกต้อง โดยน้ำดื่มที่สะอาดต้องเป็นน้ำที่ผ่านมาตรฐาน ทั้งนี้ การใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไม่ได้เป็นข้อบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท