สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยปีละ 400 ตัว เหตุจากขยะพลาสติกและติดเครื่องมือประมงสูงเป็นอันดับ 1

สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยปีละ 400 ตัว เหตุจากขยะพลาสติกและติดเครื่องมือประมงสูงเป็นอันดับ 1

ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับสัตว์ทะเลเกยตื้นออกมาให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 มีข่าววาฬขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 10 เมตร น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2 ตัน เกยตื้นหน้าหาดแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวาฬบรูด้าซี่งเป็นวาฬที่ใหญ่ที่สุดในทะเลอ่าวไทย

28 กุมภาพันธ์ 2562 เต่าเทรสซี่ เหยื่อขยะทะเล รศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ้คส่วนตัว Nantarika Chansue ระบุว่า 

“เหยื่ออีกรายหนึ่งของขยะทะเล โชคดีที่เจ้า Trashy มาเกยตื้นแล้วมีสัตวแพทย์ของ ทช. Pornthipa Hardwises จากสงขลาไปรับมาดูแล ไม่กินไม่ถ่ายมาเดือนนึงแล้ว โทรมมาก หมอจึงพาไปถ่ายเอ็กซเรย์ รวมทั้งนำส่งมาที่จุฬา ร่วมกับน้องหมอทีม ทช. อีก 4 ท่าน”

ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลจากศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ซึ่งรายงานสถานการณ์เต่าทะเลเกยตื้นพบว่าในช่วง 2 เดือนระหว่าง พ.ค.-ก.ค.นี้ มีทั้งเต่าทะเลตาย และเกยตื้นยังมีชีวิตอยู่ระหว่างการรักษา รวม 10 ตัว

 

ภาพจากเฟซบุ้ก : Nantarika Chansue

26 เมษายน 2562 พะยูนมาเรียม ลูกพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 6 เดือน ที่ออกมาเกยตื้นหน้าหาด จ.กระบี่ ขณะนี้อยู่ในความดูแลของทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) โดยพบว่าลูกพะยูนอาการแข็งแรงมากขึ้น

1 กรกฎาคม 2562  พบลูกพะยูนเกยตื้นอีกครั้ง ซึ่งได้ชื่อใหม่ในชื่อว่ายามีล เกยตื้นบริเวณชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นพะยูนเพศผู้ ความยาว 111 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก.  อายุประมาณ 3 เดือน

2 กรกฎาคม 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับรายงานพบซากวาฬหัวทุยลอยตายอยู่กลางทะเล บริเวณระหว่างเกาะลันตาใหญ่-เกาะไหง ห่างจากเกาะลันตาประมาณ 3 ไมล์ทะเล โดยเจ้าหน้าที่ได้ลากวาฬตัวดังกล่าวเข้ามาที่บริเวณเกาะกวง หน้าบ้านสังกะอู้ หมู่ 7 ต.เกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่ จากชันสูตรซากวาฬพบขยะพลาสติกจำนวน 4 ใบ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นตามสื่อต่าง ๆ เท่านั้น ยังไม่นับรวมเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกพูดถึง

 

ภาพ : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภาพจากเฟซบุ้ก : Somboon Temchuen

สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นในช่วง 3 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยปีละ 400 ตัว

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยจากผลการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 54% โลมาและวาฬ 41% และพะยูน 5%

สถิติการเกยตื้นสัตว์ทะเลหายากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2546 – 2560) พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 3,702 ตัว โดยพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 – 2560 มีแนวโน้มการเกยตื้นเพิ่มขึ้น พบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายาก มากที่สุดในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 566 ครั้ง รองลงมาในปี พ.ศ. 2559 จำนวน 449 ครั้ง 

สาเหตุเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนเกิดจากติดเครื่องมือประมง เป็นอันดับหนึ่งถึง 74% และ 89% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มโลมาและวาฬป่วยตามธรรมชาติมากกว่า 60% นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์เต่าทะเลที่ลดจำนวนลง จำเป็นต้องจัดการแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งวางไข่อย่างเร่งด่วน

 

 

ขยะพลาสติกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ต้องจบชีวิตลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ค่าเฉลี่ยของเต่าทะเลและโลมาเกยตื้น ร้อยละ 2 – 3 เกิดจากการกลืนขยะทะเลเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ส่วนเต่าทะเลที่เกยตื้นจากผลกระทบของขยะทะเล เช่น การเกี่ยวพันของอวน มีสัดส่วนการเกยตื้นสูงถึงร้อยละ 20 – 40

หากย้อนสถิติในปี 2561 พบว่า ไทยติดอันดับ 6 ประเทศผู้ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด จากการรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอย กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในปี 2560 ประมาณ 27.40 ล้านตันต่อปี 

สถานการณ์ขยะทะเลพบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด เกิดขึ้น 11.47 ล้านตัน กําจัดอย่างถูกต้อง 6.89 ล้านต้น นําไปใช้ประโยชน์ 3.02 ล้านต้น และกําจัดไม่ถูกต้อง 1.55 ล้านตัน ส่วนสาเหตุหลัก ๆ ของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากการทิ้งขยะจากชุมชน นักท่องเที่ยว การประกอบอาชีพทางทะเล และโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังพบว่าขยะที่พบมากที่สุดในทะเล 5 อันดับแรก คือ ถุงพลาสติก ขวดน้ำดื่ม โฟม หลอด และเศษเชือก

นอกจากภัยจากขยะแล้วสัตว์ทะเลยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามอื่น ๆ ทั้งการล่า การคมนาคมทางทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยและการดำรงเผ่าพันธ์ุ ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เราอาจจะเห็นเต่าทะเล วาฬ โลมา และพะยูน เป็นเพียงแค่ภาพถ่ายในตำราเรียน ไม่มีอะไรที่จับต้องได้อีกต่อไป

 


ที่มา : พบซากวาฬ 10 เมตรเกยตื้นตายแหลมตะลุมพุก
เหยื่อตัวล่าสุด ! ผ่าตัดสำเร็จ “เทรสซี่” เต่าทะเลเกยตื้นขยะเต็มท้อง
สถานการณ์สัตว์ทะเลหายากไทย ปี 2560
ข้อมูลชี้วัด “สถิติสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น”
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง Diver saves turtle from plastic bag