ระยะทางเพียง 50 เมตรจากแม่โขง บริเวณร่มเงาใต้เศษพลาสติกมีเจ้านกตัวน้อยพรางตัวอยู่กับผืนทรายเพียงลำพัง มันคือนกแอ่นทุ่งเล็ก ในจังหวัดบึงกาฬ ประเทศไทย
“เราพบว่ามีนกทำรังอยู่ริมแม่โขงกว่า 15 รัง ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา” รัชนีกร บัวโรย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มบึงกาฬรักนกที่ทำการสำรวจรังนกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาให้สัมภาษณ์ “ฉันกังวลมากเกี่ยวกับจำนวนนกแอ่นทุ่งเล็กและนกหัวโตเล็กขาเหลืองจะลดลงเนื่องจากพื้นที่ทำรังริมแม่โขงได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่กั้นแม่โขงสายหลัก”
นกแอ่นทุ่งเล็กเป็นหนึ่งในนกหลายสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ริมโขงซึ่งทำรังบนทรายในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนตุลาคมและพฤษภาคม แต่เมื่อปีที่ผ่านมา แม่โขงกลับเผชิญกับระดับน้ำที่ผันผวนเนื่องจากเขื่อนพลังงานไฟฟ้า
รัชนีกรและนพดล บัวโรย สามีของเธอได้ติดตามชีวิตนกในบึงกาฬมาเป็นเวลากว่า 12 ปี ทำการบันทึกการวางไข่ที่ริมหาดทรายของแม่โขง โดยเธอเล่าว่าปีนี้แม่โขงมีน้ำน้อยจนบางพื้นที่ไม่มีน้ำท่วมถึง ต่างจากเมื่อ 3 ปีก่อนที่รังซึ่งมีไข่นกกว่า 21 ใบถูกน้ำท่วมซึ่งนับว่าน่าเสียดายเพราะไข่เกินกว่าครึ่งหนึ่งสมบูรณ์แข็งแรงดี
.
แม่โขงที่ไม่เป็นธรรมชาติ
“นกพวกนี้จำเป็นต้องอาศัยช่วงเวลาหลายเดือนที่น้ำในแม่น้ำต่ำเพื่อฟักไข่และคอยดูแลลูกนก การที่ระดับน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติทำให้รังนกเหล่านี้อาจโดนน้ำท่วมแบบคาดไม่ถึง” อายุวัต เจียรวัฒนกนก จากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ “แม่น้ำจำเป็นต้องแห้งขอดและเกิดน้ำหลากในฤดูกาลที่เหมาะสม หากไม่เช่นนั้นชนิดพันธุ์ที่ต้องพึ่งพาการผันเปลี่ยนตามฤดูกาลมานานหลายศตวรรษอาจต้องสูญพันธุ์”
ปัจจุบัน มีเขื่อนทั้งสิ้น 12 แห่งเหนือลำน้ำโขงสายหลัก 11 แห่งอยู่ในประเทศจีนและอีก 1 แห่งในประเทศลาว ซึ่งอนาคตยังมีเขื่อนเหนือแม่น้ำโขงสายหลักอีกหลายแห่งที่อยู่ในระหว่างการวางแผนและพัฒนาโครงการในลาว
“การปล่อยน้ำจากเขื่อนจีนในช่วงฤดูน้ำแล้ง ส่งผลให้แม่โขงกลายเป็นแม่น้ำที่แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง” Phil Round นักวิจัยจาก Michigan State University Museum ให้สัมภาษณ์ “ไข่ในรังจำนวนมาก รวมถึงลูกนกที่ยังไม่สามารถบินได้ต่างต้องตายลงเพราะกระแสน้ำที่มาอย่างไม่ทันตั้งตัว”
ระดับน้ำในฤดูแล้งปัจจุบันกลับกลายเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา เนื่องจากการบำรุงรักษาและทดสอบเขื่อนจิ่งหง เขื่อนขนาดยักษ์ของจีนที่อยู่ใกล้กับชายแดนไทยและลาว
ข้อมูลจาก Stimson Center เปิดเผยว่าระดับน้ำท้ายเขื่อนจิ่งหงขยับขึ้นลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของเขื่อน ซึ่งจะปล่อยน้ำปริมาณมากเพื่อปั่นไฟในเวลากลางวันและหยุดเดินเครื่องในเวลากลางคืน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าของพื้นที่ชุมชนในเขตยูนนาน
การเดินเครื่องเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อนกหลายชนิดพันธุ์ตลอดสองฝั่งโขง ไม่ว่าจะเป็นนกแอ่นทุ่งเล็กที่มีจำนวนเหลือน้อยกว่าพันคู่ นกกระแตหาดที่อาจมีเพียงหลักร้อยชีวิต รวมถึงนกหัวโตเล็กขาเหลืองและนกกระแตแต้แว้ดที่จะได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน
ความสิ้นหวังที่ปลายน้ำ
“เราจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบของนกจากการขึ้นลงที่ผิดแผกไปของระดับน้ำจากเขื่อน ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่ามันร้ายแรงแค่ไหน แต่ผมทราบว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีใครศึกษาเรื่องผลกระทบดังกล่าว” Phil Round แสดงความเห็น
ผลกระทบจากเขื่อนเหนือน้ำ เช่น การรุกล้ำของน้ำเค็มบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หรือการลดจำนวนลงของประชากรปลาในโตนเลสาบต่างส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตประชาชน อย่างไรก็ดี เรายังขาดแคลนการสำรวจประชากรนกในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศกัมพูชา ทำให้ไม่สามารถสรุปผลกระทบได้
นกนางนวลแกลบแม่น้ำ คือหนึ่งในนกหายากของแม่น้ำโขงซึ่งมีจำนวนประชากรลดลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในกัมพูชาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาตามรายงานของ WWF (World Wide Fund for Nature) โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ WWF ได้ประกาศว่าประชากรนกดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเนื่องจากความพยายามอนุรักษ์นกของท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ไม่มีการรายงานการพบเห็นนกนางนวลแกลบแม่น้ำหรือนกนางนวลแกลบท้องดำ ในประเทศไทยและลาวบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง
“ตอนนี้ยังมีหลายพื้นที่ริมฝั่งน้ำโขงที่ยังไม่ได้รับการสำรวจอย่างถี่ถ้วนในประเทศกัมพูชาและทางตอนใต้ของประเทศลาว แต่มีแนวโน้มว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของเหล่านก” Dr Ding Li Yong จาก BirdLife International ให้สัมภาษณ์และกล่าวเสริมว่าการรุกล้ำถิ่นอาศัยของมนุษย์กำลังทำให้หลายสายพันธุ์ตกอยู่ในสภาวะอันตราย “ตอนนี้เหลือพื้นที่ริมฝั่งน้ำไม่มากแล้วที่ยังพบนกริมน้ำเหล่านี้”
ประเทศไทยและกัมพูชายังเป็นบ้านของชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นอย่างนกเด้าลมแม่น้ำโขง ซึ่งมีการยอมรับว่าเป็นชนิดพันธุ์ใหม่เมื่อ พ.ศ. 2544 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มอนุรักษ์มองว่านกชนิดดังกล่าวคือสัตว์ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างยิ่งต่อการก่อสร้างเขื่อน
สามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชายแดนไทย ลาว และพม่าบรรจบกันเป็นพื้นที่ที่จีนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำล้านช้าง (ชื่อเรียกแม่น้ำโขงในประเทศจีน) จำนวนรวม 11 แห่ง พื้นที่ดังกล่าวยังต่อเนื่องสู่เขื่อนไซยะบุรีที่ไทยสร้างในลาว นอกจากนี้ ทางตอนเหนือของลาวยังมีแผนก่อสร้างเขื่อนปากเบ็ง ปากเล หลวงพระบาง สานะคาม และปากชม ซึ่งส่วนใหญ่มักมีจีนเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการก่อสร้าง
“พื้นที่ตั้งแต่เชียงแสนถึงเชียงของมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ระดับน้ำในฤดูแล้งสูงผิดธรรมชาติ ทำให้หาดทรายริมน้ำซึ่งปกติจะเต็มไปด้วยนกริมน้ำหดหายไป” อายุวัตรกล่าว
สำหรับนักอนุรักษ์ไทย พื้นที่เชียงแสน–เชียงของเป็นจุดที่มีปัญหากับประเทศจีนเพราะแผนระเบิดแก่งหินในแม่โขงเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินเรือ
.
การพยากรณ์ที่ไร้ค่า
Brian Eyler เล่าว่า “ระบบเฝ้าระวังแม่น้ำโขง (The Mekong Dam Monitor) มีศักยภาพในการส่งสัญญาณเตือนหากมีการปล่อยน้ำหรือกักน้ำจากเขื่อนจิ่งหงในระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในเชียงแสนและเชียงของ” เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง ทำให้สามารถคาดคะเนระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อย่างแม่นยำระดับเซนติเมตร อย่างไรก็ดี การพยากรณ์ดังกล่าวนับว่าไร้ค่าสำหรับเหล่านักอนุรักษ์นก
“ข้อมูลดังกล่าวไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราไม่สามารถต่อรองกับคนที่มีอำนาจในการปล่อยน้ำ หากจะลดผลกระทบต่อสัตว์และพืชที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงจริงๆ มีทางเดียวคือการปล่อยให้แม่โขงไหลตามธรรมชาติ” อายุวัตรกล่าว เขาเล่าว่านกแอ่นทุ่งเล็กจะวางไข่ที่ฟักเป็นตัวได้ราว 2 – 3 สัปดาห์ และลูกนกจะบินไม่ได้อีกหลายสัปดาห์ ดังนั้นน้ำที่หลากในช่วงเวลาดังกล่าวย่อมทำลายประชากรนกในอนาคต
“ภาครัฐควรจัดตั้งแพลตฟอร์มหรือวงพูดคุยให้องค์กรภาคประชาสังคมปลายน้ำได้ต่อรองกับประเทศจีนโดยตรง” ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าว “เราไม่สามารถปล่อยให้รัฐบาลหรือกรรมการลุ่มน้ำโขงทำงานเพียงอย่างเดียว เพราะเราทราบดีว่าองค์กรเหล่านี้มีข้อจำกัดและเป้าหมายของตัวเอง องค์กรภาคประชาสังคมจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยปิดช่องว่างดังกล่าว”
เขื่อนหนึ่งที่ใกล้กับชายแดนไทยและสร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อเหล่านักอนุรักษ์คือเขื่อนสานะคามในประเทศลาว ซึ่งหากจากชายแดนไทยเพียง 2 กิโลเมตร โดยรัฐไทยได้ทำในสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงคือการปฏิเสธเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งอาจส่งผลให้โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง
ถอดความและเรียบเรียงจาก Volatile Mekong threatens birds’ nests
ภาพประกอบ อายุวัต เจียรวัฒนกนก
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก