มหานครนิวยอร์ก โตเกียว และเซียงไฮ้จะจมอยู่ใต้น้ำทะเล เนื่องจากระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 50 เมตรหรือมากกว่านั้น หากเรายังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไม่บันยะบันยังโดยเผาทรัพยากรเหล่านั้นจนหมด
เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยจากการเผาเชื้อเพลิงจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกละลายทั้งหมด อ้างอิงจากงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Sciences Advances โดยผู้ทำการวิจัยกล่าวว่างานชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่มองไปยังผลกระทบระยะยาวจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ
“หากเรายังไม่หยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปในอากาศ วันหนึ่งในอนาคต พื้นดินที่เป็นบ้านของคนนับพันล้านชีวิตจะจมอยู่ใต้น้ำ” Ken Caldeira นักวิทยาศาสตร์อาวุโสมหาวิทยาลัย Stanford ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว
อย่างไรก็ดี งานวิจัยดังกล่าวอธิบายว่าการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกทั้งหมดอาจกินเวลานับหมื่นปี แต่ภายใน 1,000 ปีนี้ น้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างน้อย 100 ฟุต อ้างอิงจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์เยอรมัน แคลิฟอร์เนียร์และสหราชอาณาจักร โดยจะสูงขึ้นในอัตราประมาณปีละ 1 นิ้ว ดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน พื้นที่ชายฝั่งหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาสูญเสียแผ่นดินและอุทกภัยจากระดับน้ำทะเลปกติที่สูงขึ้น
งานวิจัยดังกล่าวได้เน้นถึงความสำคัญของเป้าหมายในระดับสากลเพื่อป้องกันอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม การบรรลุเป้าหมายจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไม่เกิน 2 เมตร แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์บางคนมองว่าเป้าหมายดังกล่าวดูเป็นเรื่องที่ยากจะเป็นจริง
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change:IPCC) กล่าวว่าหากต้องการป้องกันมิให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส มนุษย์จะต้องไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 1,000 เมตริกกิกะตัน หรือ 1,000 พันล้านตัน ซึ่งระดับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศปัจจุบันก็เกือบมาถึงครึ่งทาง และการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดบนโลกก็จะปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 10 เท่าของเป้าหมายดังกล่าว
“พูดง่ายๆ คือ ถ้าเราเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด น้ำแข็งขั้วโลกก็จะละลายทั้งหมดเช่นกัน อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดวงจรการละลายและทำลายเสถียรภาพของแผ่นน้ำแข็ง หากกระบวนการนี้เริ่มขึ้นเมื่อไร มนุษยชาติก็ไม่มีทางที่จะหยุดมัน” Ricarda Winkelmann นักวิทยาศาสตร์ประจำ Potsdam Institute for Climate Impact Research กล่าว
ปัจจุบัน การละลายของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกคิดเป็นร้อยละ 10 ของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก หากเราสามารถควบคุมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ หิมะที่คาดว่าจะตกมากขึ้นก็อาจช่วยชดเชยน้ำแข็งที่ละลายไป ในทางกลับกัน หากเราไม่สามารถควบคุมได้ การละลายของน้ำแข็งในทวีปดังกล่าวก็จะกลายเป็นตัวเร่งให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งคาดการณ์ว่าการละลายของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกตะวันตกจะทำให้น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 8 นิ้วภายในศตวรรษนี้ Dan Martin หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยผลงานชิ้นดังกล่าวกล่าวถึงแนวคิดที่น้ำแข็งจะละลายทั้งหมดหากเรายังไม่มีการควบคุมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่า “นี่เป็นแนวคิดที่คงไม่มีใครที่ใส่ใจในปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรู้สึกแปลกใจอีกต่อไปแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องคิดต่อคืออนาคตของเราจะเดินหน้าไปอย่างไรดี” เขาย้ำว่านักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามที่จะคำนวณผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการละลายของน้ำแข็งให้มีความแม่นยำมากขึ้น
Ricarda Winkelmann ก็ทราบถึงการละลายของแผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกตะวันตกซึ่งคงจะไม่สามารถยับยั้งได้ แต่เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้อย่างแม่นยำว่าการละลายดังกล่าวจะกระทบต่อแผ่นน้ำแข็งทั้งหมดเมื่อไรและอย่างไร เพราะแต่ละภูมิภาคมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
แต่สิ่งสำคัญที่เธอย้ำคือเรากำลังเผชิญกับการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลที่ไม่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
“ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่ไม่ใช่จะก่อผลกระทบแค่ในทศวรรษนี้ หรือศตวรรษหน้า แต่ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอาจเปลี่ยนหน้าตาของโลกที่เรารู้จักในอีก 10,000 ปีข้างหน้า” Ricarda Winkelmann กล่าว