ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงจุดยืนของคณะในการจัดการสัตว์ป่า รวมถึงกรณีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
ผศ.ดร.นิคม ระบุว่า “จุดยืนของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่ดำรงอยู่มานานกว่า 80 ปี เราก็คงต้องดำรงต่อไปอย่างเข้มข้น และจริงจัง
“ในทางคดีในทางคดีก็ต้องเข้มข้นต่อไป เราต้องทำอย่างตรงไปตรงมา พี่น้องคนไทยทุกคนต้องทำให้ผลของการกระทำได้ปรากฏและเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทย ไม่ใช่แต่เฉพาะกรณีนี้เท่านั้น แต่รวมถึงกรณีทรัพยากรป่าไม้ทุกๆ เรื่อง
“มีคนถามว่า ถึงเวลาหรือยัง ผมตอบว่าเวลาที่ดีที่สุด คือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เวลาที่ดีรองลงมาคือวันนี้ ถ้าไม่ทำตั้งแต่วันนี้ เวลาที่ดีจะหายไป
“หลักฐานทางคดีหลายเรื่อง คณะวนศาสตร์มีห้องปฏิบัติการที่ใช้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ในเรื่องการจัดการสัตว์ป่า อาจารย์หลายท่านก็พยายามทำโครงสร้างพื้นฐานตรงนี้ ในฐานะคนกลาง เพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันที่ถูกต้อง
“หากเราไม่ช่วยกันอย่างเต็มที่โอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยของเรา เรื่องการบริหารทรัพยกรป่าไม้เพื่อให้บรรลุเป้าก็จะยิ่งยาก และไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้ เช่น สมันที่สูญพันธุ์ไปแล้ว หรือจะให้สัตว์ป่าอีกหลายชนิดซึ่งลดน้อยถอยลงไปทุกทีเข้าสู่สถานภาพเดียวกัน
“วิชาการจะดีแค่ไหน ถ้าผู้นำไปปฏิบัติไม่ปฏิบัติอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายความสำเร็จได้
“คณะวนศาสตร์ก็ขอเป็นอีกแรงในการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้อย่างเข้มข้น สิ่งใดที่ไม่ชอบมาพากล เราก็จะฟ้องประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ หากในเรื่องกฎหมายที่คดีไม่สามารถเอาผิดได้ สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างในระดับโลกก็คือ Social Sanction ไม่คบค้าสมาคมด้วย ไม่ทำธุรกิจด้วย ไม่พูดคุยด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาอยู่ในสังคมไทยยากยิ่งขึ้น
“ผมเชื่อว่าชนชั้นนำในสังคมไทยที่ท่านเรียกว่าอภิชน อาจจะมีอีกพอสมควร ขอใช้วันนี้พูดว่า เลิกเถอะครับ ในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใครผู้ใดที่คิดจะทำก็ต้องยุติและหันกลับมาช่วยทำให้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น ขอให้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องทรัพยากรป่าไม้ให้มากขึ้น
“เยาวชนรุ่นหลังกำลังมองอยู่ว่าบรรพบุรุษของเขาทำอะไรอยู่ เราจะส่งมอบประเทศไทยให้คนรุ่นหลังได้ขยายผลต่อ ได้รับมอบมรดกเหล่านี้ และทำสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกหลานของเราที่มีความสมบูรณ์ได้อย่างไร เราจำเป็นต้องคิดเรื่องนี้ให้มาก ท่ามกลางปัญหาของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผืนป่าหมดหายไป
“คณะวนศาสตร์มีบัณฑิต ทั้งหัวหน้าวิเชียร ทั้งคุณสืบ และอีกหลายคน เราคงไม่ต้องการบันทึกรายชื่ออยู่หน้าอนุสาวรีย์วีรชนป่าไม้ แต่เราต้องการพนักงานป่าไม้ที่มีชีวิตและทำงานอยู่ด้วยความภาคภูมิใจ คนไทย รุ่นน้องลูกหลานให้ความเคารพในฐานะคนที่ยึดมั่นอุดมการณ์วนศาสตร์”