‘จัดการขยะอาหาร’ วาระแห่งชาติของฝรั่งเศส

‘จัดการขยะอาหาร’ วาระแห่งชาติของฝรั่งเศส

รู้หรือไม่ว่า ร้านอาหารที่โด่งดังในปารีสไม่ได้ตั้งอยู่ใจกลางร้านรวงหรู แต่เป็นร้านที่เชฟ Aladdin Charni เสิร์ฟอาหารที่ปรุงจากผักและผลไม้ที่ได้รับบริจาคมาจากห้างร้านที่กำลังจะทิ้ง สถานที่ดังกล่าวถูกขนานนามว่า ‘ฮิป’ ที่สุดในปารีส และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมเรื่องการลดปริมาณขยะอาหาร

 

ความกังวลในหมู่สาธารณชนทำให้เกิดกฎหมายใหม่ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศแรกที่จับและปรับห้างร้านที่ทิ้งผลิตภัณฑ์ซึ่งมนุษย์ยังสามารถรับประทานได้ Arash Deranbarsh ตัวแทนสภาชุมชน ยื่นข้อเสนอผ่านเว็บไซต์ Change.org สนับสนุนให้หยุดการทิ้งอาหารในฝรั่งเศส โดยกล่าวว่าคนยากไร้และชนชั้นกลางต่างก็ต้องกระเสือกกระสนหาอาหารใส่ท้องทุกวัน ในขณะที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตกลับทิ้งขยะอาหารปริมาณราว 20 กิโลกรัมทุกวัน แคมเปญดังกล่าวเรียกร้องให้ออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ได้รับการลงชื่อสนับสนันถึง 210,000 รายชื่อ ซึ่งนับว่าเหมาะเจาะ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวกำลังจะมีการจัดประชุมนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ปารีสพอดิบพอดี โดยผู้รณรงค์มองว่าเป็นโอกาสที่จะผลักวาระดังกล่าวให้ถึงระดับสหภาพยุโรป

กฎหมายควบคุมซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอที่ครอบคลุมถึงนโยบายระดับชาติเพื่อลดขยะอาหาร โครงการดังกล่าวระบุมาตรการ 36 ข้อ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เครื่องมือผ่านนโยบายสาธารณะ และกลไกที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดแนวทางการพัฒนาใหม่ แผนดังกล่าวพูดตั้งแต่มาตรการให้วัดปริมาณขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปจนถึงให้ความรู้แก่ประชาชน โดยตั้งเป้าที่จะลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งภายในอีก 7 ปีข้างหน้า

จากดัชนีความยั่งยืนทางอาหารและโภชนาการ (Food and Nutrition Sustainability Index) ประจำปี พ.ศ. 2559 จัดทำโดย Economist Intelligence Unit ฝรั่งเศสนับว่าเป็นประเทศผู้นำในดัชนีดังกล่าว จากการสำรวจระบบอาหารทั้งสิ้น 25 ประเทศ ซึ่งฝรั่งเศสได้อันดับ 1 ในทุกด้าน ตั้งแต่การสูญเสียและขยะอาหาร นโยบายและกฎเกณฑ์ของรัฐ การจัดการน้ำสะอาด การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงด้านโภชนาการ เช่น การจัดการอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ปัจจุบัน การบริโภคอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร นำไปสู่ความกังวลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในขณะที่รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า 1 ใน 3 ของอาหารทั่วโลก (ราว 1.3 พันล้านตัน) ถูกนำไปทิ้งสู่ถังขยะก่อนจะเดินทางถึงโต๊ะอาหารด้วยซ้ำ

โปสเตอร์รณรงค์ไม่ให้ทิ้งผักและผลไม้ที่บางครั้งยังรับประทานได้แต่รูปลักษณ์ภายนอกไม่สวยงาม ซึ่งซุปเปอร์มาร์เก็ตมักคัดทิ้งก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค

 

ความสูญเสียนั้นเกิดตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ในประเทศพัฒนาแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสูญเสียเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตและจัดเก็บ โดยคิดเป็นราว 2 ใน 3 ของการสูญเสียทั้งหมด ส่วนประเทศแถบแอฟริกาใต้สะฮารา อัตราการสูญเสียอาจสูงถึง 3 ใน 4 ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วก็เผชิญความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง โดยอาหารกว่าครึ่งถูกทิ้งก่อนการบริโภค รายงานของ World Resources Institute ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยของรัฐบาลสวีเดนชื่อว่า “ทำไมเราถึงทิ้งผักและผลไม้ที่ยังรับประทานได้?” (Why do we throw away edible fruit and vegetables?) กล่าวโทษว่าปัญหาส่วนใหญ่เนื่องจากเงื่อนไขขั้นต่ำของซุปเปอร์มาเก็ตที่ต้องการวางเฉพาะผักและผลไม้ที่ดูสดใหม่และน่ารับประทานกว่าค่าเฉลี่ย นำไปสู่วงจรที่สร้างความคาดหวังที่สูงขึ้นของผู้บริโภคที่มักจะไม่เลือกซื้อแอปเปิล หรือสตรอเบอร์รีที่มีตำหนิแม้เพียงเล็กน้อย

ผู้บริโภคต่างก็พยายามที่จะทำอะไรบางอย่างกับสถานการณ์ดังกล่าว การสำรวจพบว่าร้อยละ 76 ของประชากรในสหภาพยุโรปต้องการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะอาหาร แต่พวกเขาก็ยังสับสน อาหาร 1 ใน 3 ของแต่ละครัวเรือนถูกทิ้งลงถังขยะเนื่องจากเขาอ่านฉลากได้ไม่ละเอียดพอ ประชากร 3 ใน 5 ของสหภาพยุโรปไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ใช้ก่อนวันที่” และร้อยละ 53 เข้าใจความหมายของ “ควรบริโภคก่อน” ผิดไป การให้ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน

ฝรั่งเศสจัดการปัญหาดังกล่าวโดยตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อจัดการปัญหาระบบอาหารและการเกษตรโดยตรง “ความจริงที่ว่ามีตำแหน่งนี้ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก” Marie Mourad นักวิจัยจาก Paris Institute of Political Study แสดงความเห็น โดยระบุเพิ่มเติมว่า “ก่อนหน้านี้เรามีเพียงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ซึ่งเน้นแค่กระบวนการผลิตเท่านั้น”

Guillaume Garot ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นแนวหน้าในการวิจัยกว่า 2 ปีที่นำไปสู่ข้อเสนอ 36 นโยบาย ตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับไปจนถึงวิธีปฏิบัติใหม่ของภาคธุรกิจ “การแก้ปัญหาขยะอาหารควรเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ต่างจากความปลอดภัยบนท้องถนนที่ทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อน นั่นหมายความว่าผู้มีอำนาจทุกระดับควรเข้ามามีส่วนร่วม”

สหภาพยุโรปเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยมีการจัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะบทบาทของภาครัฐ มีการให้ทุนวิจัยจำนวนมหาศาลเพื่อศึกษาตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค และการจัดการขยะ รวมทั้งพัฒนาตัวชี้วัดผลกระทบในระดับมหภาค

หัวใจของนโยบายทั้ง 36 ฉบับของฝรั่งเศสคือการเข้าถึงสาธารณชน เช่น หัวข้อที่ 5 ซึ่งระบุว่า “เสนอให้มีการศึกษาตลอดชีวิตเกี่ยวกับอาหารที่ยั่งยืน” โดย Guillaume Garot รู้สึกตื่นเต้นอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสเชิญชวนให้เด็กและครูเข้ามามีส่วนร่วม “การแก้ปัญหาขยะอาหาร ควรเริ่มจากการคุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่เรามองอาหารเสียก่อน”

แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีที่สาธารณชนรับรู้ แต่เป็นการย้ำเตือนพวกเขาว่าสมัยก่อนเราจัดการกับอาหารอย่างไร ในประเทศอย่างฝรั่งเศสซึ่งถือว่าเป็นโลกแห่งอาหาร ปัญหาการทิ้งอาหารที่ยั่งรับประทานได้ กำลังกลายเป็นบทสนทนาสาธารณะ

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก France Leads The World On Food System Sustainability
ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์