อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยดำรงชีพที่มีส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในทุกกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แน่นอนว่าอุปกรณ์ไอทีเหล่านี้ล้วนมีอายุขัยในการใช้งานและมีวันเสื่อมสภาพ รวมไปถึงปัจจัยทางอุปสงค์ของผู้ใช้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรที่ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น ‘ขยะ’ ในเวลาที่คุณค่าของมันถดถอยและหมดประโยชน์
จากเครื่องใช้สู่ ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ หรือ ‘อีเวสต์’ (Electronics Waste หรือ E-waste) ซากเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กในการทำงานที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน หมดอายุการใช้งาน หรือล้าสมัย
แน่นอนว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพและกลายเป็นขยะเหล่านี้ สามารถสร้างเม็ดเงินได้เป็นกอบเป็นกำ จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ตลาดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 4,770 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนในไทย โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ตัน จะสามารถสร้างมูลค่าได้ประมาณ 67,100 บาท
หากมองต่อไปถึงปี 2564 (วิเคาะห์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560) ตลาดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ไทยจะมีการขยายตัวขึ้นกว่าร้อยละ 109.1 – 128.3 ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเงินกว่า 10,290 – 11,420 ล้านบาท เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลอันเป็นสิ่งที่ยั่วยวนต่อการลงทุน แต่ในหลาย ๆ ประเทศต่างให้การปฏิเสธการทำธุรกิจกับ ‘กากอุตสาหกรรม’ เหล่านี้เนื่องจากมักสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในประเทศนั้น ๆ
บทวิเคราะห์ ‘โรงงานขยะพิษในไทย’ สื่อนอกรายงานอะไรจนเป็นประเด็นวิจารณ์ โดยทวีศักดิ์ บุตรตัน กรณีที่สื่อกระแสหลักของสหรัฐอเมริกา ‘นิวยอร์กไทมส์’ เขียนวิจารณ์ระบบการจัดการโรงงานขยะพิษในไทย
โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่าง สถานการณ์การที่เกิดขึ้นจากการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของเมืองกุ้ยหวี่ มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับแรงงานและคนในท้องถิ่น ซึ่งสามารถทำให้เมืองแห่งนี้มีรายได้เข้ามาถึงปีละ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2,400 ล้านบาทไทย
แต่การได้มาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลย่อมแลกมาด้วยปัญหาทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ชาวเมืองต้องประสบกับมลพิษที่เกิดขึ้นจากฝุ่นควันและสารพิษที่ปนเปื้อน รัฐบาลจีนจึงได้ออกนโยบายปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยมีการประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2561 แต่นายทุนชาวจีนรู้ระแคะระคายมาก่อนแล้วจึงวางแผนย้ายโรงงานไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายสำคัญ
“แมลงสาบวิ่งพล่านไปทั่วพื้นท่ามกลางแสงไฟสลัว ๆ กลุ่มคนงานหญิงหยิบจับชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีทั้งแผงวงจรไฟฟ้า แบตเตอรี่คอมพิวเตอร์ สายไฟที่พันกันขยุกขยิก คนงานเหล่านี้ใช้ค้อนและมือเปล่าแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนคนงานชายเอาไฟเผาแยกโลหะออกจากสายไฟที่ห่อหุ้ม เปลวควันลอยฟุ้งไปทั่วหมู่บ้านและไร่นาที่อยู่รอบ ๆ โรงงาน”
ข้อความดังงกล่าว เป็นสิ่งที่ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทมส์ได้พบเห็นในโรงงานคัดแยกขยะ ‘นิว สกาย เมทัล’ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานที่รัฐบาลไทยสั่งปิด โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้ให้สัมภาษณ์ว่า โรงงานดังกล่าวปิดไปนานแล้ว และประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกต่อไป
ข้อมูลข้างตนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากผู้มีอำนาจไร้ซึ่งการดูแลเอาใจใส่ และละเลยต่อหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่บุคคลบุคคลหนึ่ง ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มักจะพ่วงมาด้วยกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
กระทั่งสัญญาณดีที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 สื่อหลายสำนักมีรายงานว่า ครม.ไฟเขียวประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าห้ามนำเข้า มีเนื้อหาสำคัญว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และสอดคล้องกับร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน ได้กำหนดห้ามโรงงานใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในโรงงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563
สาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ สรุปได้ดังนี้ กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 84 และประเภท 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
พร้อมทั้งกำหนดนิยามขยะอิเล็กทรอนิกส์ ว่าหมายถึง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่อื่น ๆ สวิตซ์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่น ๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีบีซี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล ซึ่งเป็นของเสียเคมีวัตถุ ตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.18 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย และกำหนดให้มีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีสงสัยว่าสินค้าใดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา โดยนำความเห็นของกรมโรงานอุตสาหกรรมและกรมศุลกากรมาประกอบด้วย
ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศนำกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียในประเทศ โดยเฉพาะสารพิษตกค้างประเภทโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากภาครัฐที่ยังจะต้องเฝ้าระวังและคอยดูแลในเรื่องนี้ ในส่วนภาคประชนชนเอง ก็ต้องพึงตระหนักถึงปัญหาอันเกิดจากกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพราะปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ ก่อนที่เมืองไทยจะกลายเป็นถังขยะโลก
ภาพเปิดเรื่อง NEW YORK TIME WORLD
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 – 9 มกราคม 2563 และ THE JOUNALIST CLUB
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร