รองเท้ารุ่นพิเศษ โดยการนำ ขยะทะเล มาพัฒนาเป็นรองเท้า เป็นอีกหนึ่งข่าวที่น่ายินดีสำหรับวงการสิ่งแวดล้อมไทย
เมื่อบริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตรองเท้าแตะช้างดาวที่อยู่คู่กับคนไทยมานานกว่า 60 ปี ได้ร่วมมือกับทะเลจร (Tlejourn) แบรนด์ Upcycling จาก ขยะทะเล องค์กรไม่แสวงผลกำไรโดย ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ได้พูดถึงที่มาที่ไปของขยะรองเท้าจากทะเลให้ฟังว่า ขยะรองเท้าที่ได้มาเป็นการรับมาจากกลุ่มอาสาสมัคร Trash hero ที่รวมตัวกันเก็บขยะรอบบริเวณชายหาดและคัดแยกขยะที่เป็นรองเท้าแตะส่งไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ทำการชั่วคราวของทะเลจร และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลผลิตเป็นรองเท้าแตะขึ้นอีกครั้ง โดยรายได้ส่วนนี้จะกลับเข้าสู่มหาวิทยาลัยและชุมชนที่เป็นกลุ่มผลิตรองเท้าทะเลจร นอกจากจะลดขยะทะเลแล้วยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
“Trash hero จะมีการเก็บขยะสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในทุก ๆ วัน เรามี Trash hero ที่ใดที่หนึ่งเก็บอยู่ 20 ตำแหน่งทั่วโลก ปัจจุบันเรามีอาสาสมัครรวมกันแล้วประมาณสองแสนสามหมื่นกว่าคน และเก็บขยะไปแล้วประมาณหนึ่งล้านกิโลกรัมเศษ ๆ พอเก็บไปแล้วเราก็จะได้ขยะส่วนใหญ่เป็นขยะทะเล เป็นขยะที่ลอยได้ เช่น พลาสติก และรองเท้า ซึ่งรองเท้าเป็นปัญหาที่ยุ่งกว่าพลาสติกอื่น ๆ เนื่องจากไม่สามารถรีไซเคิลได้เพราะทำจากยาง
ล็อตแรกที่เราได้ขยะรองเท้าจาก Trash hero หนึ่งแสนข้าง ประมาณแปดพันกิโลกรัม เก็บขยะภายในระยะเวลา 3 เดือน มีการคิดกันพักใหญ่เลยว่าควรจะเอามาทำเป็นรองเท้าอีกครั้งหนึ่ง มันเดินทางและสื่อสารได้ง่ายกว่า” ดร.ณัฐพงศ์กล่าว
โปรเจครองเท้า KHYA (ขยะ) ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นโครงการตัวอย่างและแทนสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อสารกับผู้คนในสังคมพร้อมเชิญชวนให้ตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล หลังจากที่ทางนันยางได้พูดคุยกับทะเลจรเป็นเวลา 1 ปีกว่า จึงเกิดรองเท้ารุ่น KHYA (ขยะ) ขึ้นมา
ก่อนจะมาเป็นรองเท้า KHYA (ขยะ) คุณชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยถึงขั้นตอนการผลิตรองเท้า KHYA (ขยะ) ว่า “การผลิตรองเท้ารุ่นนี้ผ่านการทดลอง ทดสอบ และเจอปัญหาหลายอย่าง เช่น วัตถุดิบซึ่งเป็นขยะแตกต่างกันมากจากวัตถุดิบที่ผลิตรองเท้าช้างดาวที่ใช้ยางธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การผลิตในช่วงแรกคุณภาพยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แล้วเราต้องใช้เวลาในการปรึกษาอาจารย์ณัฐพงศ์และทีมงาน การผลิตรองเท้า KHYA (ขยะ) เราต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือและเวลามากกว่าการผลิตรองเท้าช้างดาวถึง 3 เท่า”
รองเท้า KHYA (ขยะ) 1 คู่ เท่ากับขยะทะเล 5 กิโลกรัม ถ้า 1,000 คู่ เท่ากับขยะทะเล 5,000 กิโลกรัมหรือ 5 ตัน โดยพื้นของรองเท้าจะเป็นการผสมระหว่างช้างดาวและทะเลจร ด้านบนจะมาจากการ Upcycling ขยะทะเล ส่วนพื้นรองเท้าจะเป็นของช้างดาวสีฟ้าที่เราคุ้นเคยกัน
รองเท้า KHYA (ขยะ) จะขายในราคา 399 บาทต่อคู่ เนื่องจากกระบวนการผลิต หรือการรีไซเคิลนั้นมีมูลค่าสูงกว่าการผลิตรองเท้าช้าวดาวทั่วไป ทางนันยางจะเปิดให้สั่งจองเพียง 9 วันเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม ไปจนถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2562 โปรเจคนี้จะผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ไม่มีการผลิตเพิ่มอีก ซึ่งหากใครสนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.KHYA.net โดยรายได้จากการจำหน่ายในครั้งนี้ จะนำไปมอบให้กับโครงการหรือหน่วยงานที่ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อไป