การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับความหวังใหม่ของวงการอนุรักษ์สัตว์ป่า

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับความหวังใหม่ของวงการอนุรักษ์สัตว์ป่า

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ได้พัฒนาความรุนแรงมาจนถึงระดับที่ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก และปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตทางสาธารณสุขของมวลมนุษยชาติในครั้งนี้ สามารถยึดครองพื้นที่หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ หรือหน้าฟีดบนโลกโซเชียลมีเดียได้อย่างอยู่หมัด พื้นที่ข่าวสารในสื่อต่าง ๆ จึงเต็มไปด้วยข่าวโควิด

ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการแจ้งข้อมูลกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า ได้พบการระบาดของโรคปอดอักเสบของประชาชนภายในเมืองอู่ฮั่น มณฑลฮู่เป่ย ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ทางการจีนได้มีการสั่งปิดตลาดค้าสัตว์ป่าในเมืองดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าเป็นต้นตอของปัญหาที่กำลังเผชิญ

ภายหลังได้มีการทราบว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019 – nCoV) ซึ่งเชื้อดังกล่าวอยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส ในช่วงปี พ.ศ. 2545 

มีข้อสันนิฐานทางการแพทย์คาดว่า การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อาจมีต้นตอมาจากการค้าและการบริโภคสัตว์ป่าของชาวจีน ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดค้าสัตว์ป่าฮู่หนาน ณ เมืองอู่ฮั่น ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวกันอย่างมากในแวดวงการระบาดวิทยาและการแพทย์  

Photo : nationalreview.com

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563 มีรายงานว่า ทางการจีนได้ออกแถลงการณ์ห้ามการจำหน่ายสัตว์ป่าทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต ภัตตาคาร และบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ยังห้ามการลำเลียงสัตว์ป่าด้วยยานพาหนะที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยมีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทั่วประเทศจะยุติลง

หลังจากที่จีนได้มีการออกประกาศ ‘แบนการค้าสัตว์ป่าชั่วคราว’ นายเจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้ให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลจีนประกาศห้ามซื้อขายสัตว์ป่านั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกทาง ซึ่งหากมีการขยายผลในเชิงนโยบายต่อไปจะช่วยลดทอนปัญหาการค้าสัตว์ป่า และการลักลอบนำเข้า – ส่งออกสัตว์ป่าที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้

ด้วยแนวคิดที่จะปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชน คณะกรรมาธิการสามัญของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติสูงสุดของจีน) จึงได้มีมติ ‘ห้ามการค้าและบริโภคสัตว์ป่าผิดกฎหมาย’ ขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ พร้อมเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน ซึ่งรุนแรงและมีความเด็ดขาดกว่ากฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใช้อยู่ โดยมีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศ 

ภายหลังที่มีมติจากทางการ มณฑลเจียงซีส่ง ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการเพาะพันธุ์ เลี้ยง และจำหน่ายสัตว์ป่าหลายชนิดต้องหยุดกิจการ

Photo : asia.nikkei.com

ความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องการค้าและบริโภคสัตว์ป่าไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เมืองจีนแผ่นดินใหญ่ แต่สำหรับประเทศไทย ความตื่นตัวในเรื่องความเสี่ยงที่เกิดขึ้นซึ่งมีต้นต่อมาจากปัจจัยดังกล่าว ได้ถูกหยิบยกพูดถึงในวงกว้าง อย่างเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day 2020) ที่ได้มีการจัดงานที่ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) 

โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน ซึ่ง ‘หัวเรือใหญ่กระทรวงทรัพย์ฯ’ เชื่อว่า การค้าและบริโภคสัตว์ป่าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการอุบัติของโควิด-19 ทั้งนี้ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนและนานาชาติ ไม่บริโภคและค้าสัตว์ป่า 

ความตื่นตัวข้างต้นที่เกิดขึ้นภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงหลายภาคส่วน ถือเป็น ‘สัญญาณที่ดี’ ต่อวงการการอนุรักษ์ทรัพยาการทางธรรมชาติและสัตว์ป่า ที่อาจจะช่วยส่งผลให้การค้าและการบริโภคสัตว์ป่าลดจำนวนลง

ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 จาก 1 แสนราย ขยับเป็น 2 แสนราย ภายในสัปดาห์เดียว
‘เปิบพิสดาร’ หนึ่งในต้นตอการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน

 


ภาพเปิดเรื่อง theconversation.com
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบ WWF ชี้โคโรนาไวรัส กระตุกสำนึกมนุษย์ หยุดบริโภคสัตว์ป่า
การห้ามค้าและบริโภคสัตว์ป่าและผลกระทบต่อเกษตรกรในมณฑลเจียงซี
จีนสั่งห้ามบริโภค-ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร