การค้าสัตว์ป่าทั่วโลก กำลังนำไปสู่การลดลงของสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์

การค้าสัตว์ป่าทั่วโลก กำลังนำไปสู่การลดลงของสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์

ตลาดการค้าสัตว์ป่าในปัจจุบันเติบโตมากยิ่งขึ้น และกำลังสร้างความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าที่เราได้คิดไว้ก่อนหน้านี้

การศึกษาในระดับนานาชาติชิ้นใหม่ แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การค้าขายสัตว์ป่าในปัจจุบันที่กำลังแพร่หลายไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น และสร้างความเสียหายต่อความหลากหลายทางสายพันธุ์มากขึ้นกว่าที่นักอนุรักษ์เคยคาดกันไว้เมื่อก่อนหน้านี้

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์มีกระดูกสันหลังบนบก 31,745 สายพันธุ์ที่รู้จักกันว่ามีชีวิตอยู่บนโลก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Sheffield พบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 5,579 สายพันธุ์ (ร้อยละ 18 ของทั้งหมด) ถูกซื้อขายกันอยู่ในตลาดโลก ทั้งโดยที่เป็นการซื้ออย่างถูกกฎหมายและแบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งปริมาณที่ว่านี้ สูงกว่าที่เคยประมาณการกันไว้ก่อนหน้าราว 50%

งานวิจัยหัวข้อ Global wildlife trade across the tree of life ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Science ระบุว่า นอกจากสายพันธุ์ที่พบว่ามีการค้าไปแล้ว ยังพบว่ามีสัตว์อีก 3,196 ชนิด ที่ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการซื้อขายเกิดขึ้น แต่มีแนวโน้มจะกลายเป็นสินค้าในอนาคต ทั้งในรูปแบบสัตว์เลี้ยง หรือในรูปแบบผลิตภัณฑ์ เช่น ยา หนัง หรือลักษณะพิเศษ เช่น เขา ฟัน หรือเกล็ด

Andrew Terry หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ที่ Zoological Society of London ให้ความเห็นต่อผลการศึกษาชิ้นนี้ว่า ผู้เขียนได้ทำสิ่งที่สำคัญ คือ การแสดงให้เห็นว่า การค้าสัตว์ป่าเป็นปัจจัยต่อการลดลงของสัตว์ป่าหลายสายพันธุ์ และแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันการค้าสัตว์ป่านั้นเกิดขึ้นกับสัตว์หลากหลายสายพันธุ์มากแค่ไหน

“เมื่อยาแผนโบราณอายุ 1,000 ปี เดินทางมาบรรจบกับอินเทอร์เน็ทและเทคโนโลยีระดับสากล กรค้าขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายก็เติบโตและขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วมาก” Andrew Terry กล่าวเสริม

ในงานวิจัย Global wildlife trade across the tree of life นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสถานะสัตว์ป่าบนบกทุกๆ สายพันธุ์ที่ถูกระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ผ่านการค้นหาหลักฐานการซื้อขาย

David Edwards ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ที่ Sheffield และหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การค้าสัตว์ป่านับเป็นภัยคุกคามสำคัญที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน ในอัตราที่ใกล้เคียงการคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยจากการเปลี่ยนแปลงที่ดิน

“หากเรายังไม่สนว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนในการยับยั้งอุปสงค์และอุปทานที่เกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าลง จะต้องมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดสูญพันธุ์ไปเพราะเรื่องนี้อย่างแน่นอน” เขากล่าวเสริม

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ประมาณการว่า มูลค่าการค้าขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายอาจมีมากถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือกล่าวได้ว่ามีมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 4 จากกิจกรรมผิดกฎหมายรองจากการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูกราฟฟิกขนาดใหญ่

งานวิจัยได้ระบุเอาไว้ว่า แหล่งที่มีการจับสัตว์ป่าและมีการส่งขายข้ามภูมิภาคเกิดขึ้นมากในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งยังคงอุมดมไปด้วยป่าสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าค่อนข้างมาก เช่น พื้นที่แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอัตราการค้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูง ในอเมริกาใต้และแอฟริกาถือเป็นแหล่งค้านกแหล่งใหญ่ ส่วนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพบการค้าและจับมากในอเมริกาใต้ สัตว์เลื้อยคลานในออสเตรเลีย โดยกลุ่มใหญ่ที่เป็นกำลังการซื้ออยู่ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก

นอกจากนี้ งานวิจัยยังคาดการณ์ถึงอนาคตว่า สายพันธุ์ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาจำแนกชนิดอย่างละเอียดเองก็เป็นกลุ่มเสี่ยงในอนาคต เนื่องจากนักวิจัยไว้วิเคราะห์ลักษณะอันพึงประสงค์ที่มีในการซื้อขายในปัจจุบัน พบว่าในการค้ามีความสนใจต่อลักษณะพึงประสงค์ของสัตว์ป่าที่คล้ายๆ กันหรือมีความใกล้เคียงกัน

“การค้าสัตว์ป่าเป็นที่สนใจในตลาดเพราะสัตว์ป่าบางชนิดนั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่มีความพิเศษในตัวของมัน”

Brett Scheffers จาก University of Florida กล่าวว่า เมื่อสัตว์สายพันธุ์หนึ่งถูกซื้อขายกันไปจนหมดแล้ว สายพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันจะตกเป็นเป้าต่อไปในการซื้อขายต่อไป “หากเราพบนกสีเหลืองสดใสสายพันธุ์หนึ่ง แล้วเกิดการซื้อขายจนมันสูญพันธุ์ไป ผู้ซื้อและผู้ขายก็จะมองหานกสายพันธุ์สีเหลืองที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่มีในตลาดก่อนหน้ามาค้าต่อ”

สัตว์สายพันธุ์หนึ่งอาจตกอยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วหากพบว่าตลาดมีความต้องการมากขึ้นอย่างฉับพลัน กรณีเช่นนี้เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับนกเงือกชนหินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่หัวของมันมีลักษณะที่พิเศษเหมือนงาช้าง “โหนกของมันถูกนำไปแกะสลักเป็นเครื่องประดับซึ่งเป็นที่นิยมมากของคนเอเชีย ตัวลิ่นซุนดาเองก็กลายเป็นที่ต้องการสำหรับผลิตยาแผนโบราณ เมื่อตัวลิ่นในเอเชียลดลงจนหาได้ยาก ตัวลิ่นจากแอฟริกาก็จะตกเป็นเป้าในตลาดการค้าแทน”

“รูปแบบมูลค่าของการค้านั้นมีปัจจัยมาจากความหายาก โดยสัตว์ป่าที่หาได้ยากอุปสงค์ก็จะสูงขึ้นเช่นเดียวกับราคาที่สูงขึ้น” ผู้เขียนรายงานการวิจัยอธิบาย

ผู้ทำการวิจัยคาดหวังว่า งานวิจัย Global wildlife trade across the tree of life ที่จัดทำขึ้นนี้จะช่วยให้เกิดแรงผลักดันในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และหน่วยงานอนุรักษ์จะให้ความสำคัญกับการปกป้องสัตว์ป่าที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง Global wildlife trade a key factor in species decline
ภาพประกอบ https://science.sciencemag.org/content/356/6341/916.1