ความไม่คุ้มค่าของโครงการผันน้ำยวม : ตำน้ำพริกละลายข้ามแม่น้ำ

ความไม่คุ้มค่าของโครงการผันน้ำยวม : ตำน้ำพริกละลายข้ามแม่น้ำ

ผมได้รับคำชวนให้เข้าร่วมพูดคุยเกี่ยวกับ “โครงการผันน้ำยวม” หรือชื่อเต็มโครงการ คือ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (14 กันยายน 2564) ทางไทยพีบีเอสครับ

โครงการนี้จะผันน้ำจากลุ่มน้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ผ่านอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่ ยาว 61 กิโลเมตรลอดภูเขา มาลงที่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โครงการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 71,000 ล้านบาท โดยคาดว่า น้ำที่จะนำมาเติมจะช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ชลประทานในภาคกลาง (ซึ่งบางปีจะไม่ค่อยมีน้ำ) เพื่อปลูกพืชในฤดูแล้ง จำนวน 1.6 ล้านไร่ และใช้เวลาดำเนินการทั้งหมด 9 ปี

นอกจากนั้น ยังมีน้ำบางส่วนมาทำน้ำประปา และสามารถใช้น้ำที่ผันมาในการผลิตไฟฟ้าในเขื่อนภูมิพลได้อีก 417 ล้านหน่วย/ปี

คำถามที่ผมได้รับคือ โครงการนี้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ ? 

ผมพยายามตอบคำถามนี้ โดยใช้ตัวเลขที่มีอยู่ในรายงาน EIA ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว เพื่อมิให้เกิดปัญหาความเข้าใจในตัวเลขที่ไม่ตรงกันนะครับ

ในรายงาน EIA ปรากฏชัดว่า ต้นทุนของโครงการนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนคือ ต้นทุนค่าก่อสร้าง ต้นทุนค่าสูบน้ำ และต้นทุนค่าปฏิบัติงานและบำรุงรักษา 

ผมขอเริ่มต้นจากต้นทุนการก่อสร้าง (ซึ่งมีทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำต้นทางที่แม่น้ำยวม และการสร้างอุโมงค์) โดยหากเฉลี่ยต้นทุนเป็นหน่วยต่อลูกบาศก์เมตรแล้ว (ใช้อัตราคิดลด 9% ตามที่สภาพัฒน์แนะนำ) น้ำแต่ละลูกบาศก์เมตรที่ลอดอุโมงค์มาจะมีต้นทุนเฉพาะค่าก่อสร้างเท่ากับ 4.21 บาท/ลบ.ม. 

แต่การผันน้ำในโครงการนี้จะต้องสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปขึ้นปากอุโมงค์เสียก่อน ซึ่งจะต้องเสียค่าสูบน้ำในแต่ละปี ประมาณ 3,000 ล้านบาท หากคิดเป็นต้นทุนต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะเท่ากับต้นทุนค่าสูบน้ำ 1.66 บาท/ลบ.ม. แม้ว่าโครงการนี้จะมีการนำน้ำที่ผันมามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล ก็จะได้ค่าไฟฟ้าประมาณ 1,150 ล้านบาท/ปี เท่านั้น (หรือประมาณ 0.66 บาท/ลูกบาศก์เมตร)

ดังนั้น เมื่อรวมกับต้นทุนในการปฏิบัติงานและบำรุงรักษา อีก 0.17 บาท/ลบ.ม. แล้ว ต้นทุนของน้ำในโครงการนี้จะเท่ากับ 6.04 บาท/ลบ.ม. (=4.21+0.66+0.17 บาท/ลบ.ม.) เลยทีเดียวครับ

หากนำน้ำดังกล่าวมาใช้ในทำนาปรัง มูลค่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำทำนาปรังจะเท่ากับ 2.11 บาท/ลบ.ม. (รายงาน EIA ใช้ตัวเลขการใช้น้ำทำนาปรังที่ 1,106 ลบ.ม./ไร่)

ซึ่งก็แปลว่า โครงการนี้ “ไม่คุ้มค่า” ครับ เพราะเรากำลังนำน้ำที่มีต้นทุน 6.04 บาท/ลบ.ม. มาผลิตสินค้าที่มีมูลค่า 2.11 บาท/ลบ.ม. คิดยังไงก็ไม่คุ้มค่าแน่นอน

แม้ว่าจะรวมผลประโยชน์จากนำน้ำมาทำน้ำประปาที่ 300 ล้าน ลบ.ม./ปี และผลประโยชน์อื่นๆ ด้วยแล้ว โครงการนี้ก็ไม่คุ้มค่าอยู่ดี ตัวเลขมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการในรายงาน EIA นี้จึงเท่ากับ -10,972 ล้านบาท (ที่อัตราคิดลด 9%) หรือขาดทุนไปประมาณ 11,000 ล้านบาท

กล่าวโดยย่อ คือ การลงทุนในโครงการนี้เพื่อนำน้ำมาทำนาปรังไม่คุ้มค่าแน่นอน

แต่ผู้จัดทำโครงการคือ กรมชลประทาน ย่อมประสงค์จะให้โครงการนี้ดูเหมือนคุ้มค่า จึงมีการตั้งข้อสมมติให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ชลประทานที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ให้ลดพื้นที่การทำนาปรังลง จากเดิมทำนาปรัง 1.6 ล้านไร่ ให้เหลือ 528,000 ไร่ หรือพื้นที่นาปรังจะหายไปประมาณ 1.1 ล้านไร่ แล้วไปปลูกพืชอื่นๆ ที่มีรายได้มากกว่าแทน เช่น ข้าวปลูก (หรือการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว) ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน แตงโม คะน้า กล้วยหอม และบ่อปลาแทน

ซึ่งเมื่อมีการดำเนินการตามที่ “สมมติ” แล้ว คาดการณ์ว่า มูลค่าผลประโยชน์จากการใช้น้ำจะเท่ากับ 6.84 บาท/ลบ.ม. เพื่อให้สูงกว่าต้นทุนของน้ำที่ 6.04 บาท/ ลบ.ม. นั่นเอง

กล่าวง่ายๆ ก็คือ โครงการนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ สามารถเปลี่ยนพื้นที่นาปรังให้เป็นพืชอื่นๆ ได้มากกว่า 66% หรือ 2 ใน 3 ของพื้นที่นาปรังเดิม

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความคุ้มค่า หากเกิดขึ้น จะไม่ได้เกิดมาจากการทำอุโมงค์ และ “ผันน้ำ” ข้ามลุ่ม แต่เกิดมาจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรมากกว่า หรือถ้าจะเรียกชื่อโครงการนี้ ผมจะเรียกว่า “โครงการเปลี่ยนพื้นที่ทำนาปรังหนึ่งล้านไร่” จะเหมาะสมกว่าครับ

การกล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการปรับพื้นที่นาปรังไปปลูกพืชอื่นๆ นะครับ จริงแล้วผมเห็นด้วยกับการเปลี่ยนพื้นที่นาปรังอยู่แล้วครับ แต่ผมคิดว่า หากกรมชลประทานคิดเช่นนั้นจริงๆ และจะทำการปรับพื้นที่ทำนาปรังได้จริง ก็ควรจะทำเลยนะครับไม่ต้อรอโครงการ ในแต่ละปีพื้นที่ชลประทานในภาคกลางมีหลายล้านไร่ครับ กรมชลประทานสามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปรอโครงการอีก 9 ปี แล้วค่อยทำนะครับ

ยิ่งไปกว่านั้น ผมก็สงสัยว่าโครงการนี้จะเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาปรังหนึ่งล้านไร่ เพื่อให้ตัวโครงการทั้งหมดคุ้มค่า จริงหรือไม่? หรือทำเพียงให้ตัวเลขมันดูคุ้มค่าเท่านั้น

ทำไมผมถึงสงสัยเช่นนั้น? เพราะในรายงาน EIA มีการไปสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการเพียง 28 คน (ย้ำ 28 เท่านั้น) และใน 28 คนนั้น มีเพียง 21 คนเท่านั้น ที่ปลูกข้าวครับ

นั่นแปลว่า เรากำลังวางแผนเปลี่ยนพื้นที่นาปรังหนึ่งล้านไร่ จากการสอบถามเกษตรกรเพียง 21 รายเท่านั้น และที่หนักยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีคำถามใดที่สอบถามถึงทัศนคติของเกษตรกรว่า จะเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังมาเป็นพืชอื่นๆ ที่โครงการวางแผนไว้ (อย่างเป็นตุเป็นตะ) หรือไม่ครับ 

เราจึงไม่สามารถบอกได้เลยหรือมั่นใจได้เลยว่า การปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางนาปรังเพื่อเพิ่มมูลค่านั้นจะเกิดขึ้นจริงๆ และทางโครงการก็คงไม่สนใจจะตอบคำถามนี้ในรายงาน EIA ด้วยครับ เพราะงบประมาณสำหรับการดำเนินการส่งเสริมการเกษตรในส่วนนี้ เพื่อการรณรงค์ให้เปลี่ยนนาปรังหนึ่งล้านไร่ที่ทางโครงการฝันไว้ก็ไม่มีเช่นกันครับ 

ผมจึงคิดว่า การเขียนให้โครงการนี้เปลี่ยนพื้นที่นาหนึ่งล้านไร่ ก็เป็นเพียงการขายฝัน เพื่อให้โครงการนี้ ดูเสมือนคุ้มค่า และเดินหน้าไปได้เท่านั้นครับ

แล้วถ้าโครงการนี้ดูไม่ค่อยคุ้มค่า แล้วรัฐบาลจะทำไปทำไม?

ในเอกสารรายงาน EIA ได้เขียนทางเลือกหนึ่งไว้ชัดเจน ว่าโครงการนี้จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนครับ โดยเอกชนจะลงทุนประมาณ 52,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 78,000 ล้านบาทครับ (ส่วนที่เหลือคือการลงทุนของรัฐ) ซึ่งการร่วมทุนแบบนี้ไม่ใช่เรื่องปกตินักสำหรับโครงการด้านชลประทานครับ

แล้วทำไมเมื่อเอกชนมาลงทุนแล้ว มูลค่าโครงการจึงเพิ่มขึ้นจากเดิม 71,000 ล้านบาท คำตอบก็คือ เพื่อประกันผลตอบแทนให้เอกชนในอัตราร้อยละ 10 ของการลงทุนครับ

กล่าวง่ายๆ ก็คือ เมื่อเอกชนทำสัญญากับรัฐและลงทุนในโครงการนี้ เอกชนก็จะต้องได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน ในรูปแบบการประกันการจ่ายเงิน เพื่อให้ได้ผลตอบแทน 10% ของเงินลงทุน ส่วนพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 1.6 ล้านไร่นั้น จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนไปปลูกพืชอะไร และโครงการนี้จะคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่ เอกชนก็คงไม่สนใจนะครับ

หรือถ้าจะพูดในมุมกลับ สมมติถ้าเราให้เอกชนลงทุนในโครงการนี้ แล้วให้เอาผลผลิตข้าวในพื้นที่ที่ได้รับผลประโยชน์ 1.6 ล้านไร่ ไปขายเป็นเงินแทน เราก็คงพบว่า ไม่มีเอกชนรายใดจะลงทุนในโครงการนี้ เพราะมันขาดทุนแน่นอนครับ เอกชนจึงผลักความเสี่ยงนี้มาให้กับรัฐแทน ส่วนเอกชนที่มาลงทุนก็จะเก็บเงินจากที่รัฐบาลจ่ายให้แบบแน่นอนเป็นรายปีแทนนั่นเอง คล้ายกับโครงการโรงไฟฟ้าของเอกชนนั่นเอง

ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะมีต้นทุนการดำเนินโครงการที่สูงเกินไปมากๆ และยังไม่พบความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า ผลประโยชน์จากโครงการที่วาดฝันไว้จะเกิดขึ้นได้จริง

สุดท้าย ถ้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ผ่านโครงการนี้ ผมขอทายว่า อีกไม่นาน เราจะได้เห็นนักลงทุน (น่าจะเป็นบริษัทต่างชาติที่ร่วมทุนกับนักลงทุนไทย) จะเข้ามาของร่วมทุนจากรัฐบาล ภายใต้สัญญาแบบประกันรายได้ของเอกชน และหากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองแทรกซ้อน (เช่น ยุบสภาเร็วมากๆ) เราจะได้เห็นการดีลทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ครับ

ผมหวังว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะไม่ให้ผ่านโครงการนี้นะครับ 

 


คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 โดยมีมติให้เจ้าของโครงการต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป


 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง สำนักข่าวชายขอบ