แถลงการณ์องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย ต่อเหตุการณ์ล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่เนรศวร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561
จากกรณีการจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพรรคพวก ซึ่งได้กระทำการผิดกฎหมายหลายกรณี อาทิ การพักแรมในบริเวณจุดห้ามตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร การตรวจซากสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสือดาว ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในบัญชี 1 ตามบัญชีแดง (Red List) ของ IUCN ในกลุ่มมีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์ และอยู่ในบัญชีอนุรักษ์ของไซเตส (Cites) โดยอยู่ในชนิดพันธุ์บัญชีหมายเลข 1 คือชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่า พืชป่า ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาดเนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังตรวจพบ อาวุธปืนไรเฟิล อาวุธปืนยาวลูกซอง และปืนยาว พร้อมกระสุนหลายนัด นับเป็นกรณีที่สร้างความสะเทือนใจและสลดใจแก่ผู้ที่สนใจการอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นอย่างยิ่ง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น “พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 นับเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังได้รับการประกาศให้เป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” ของประเทศไทย การลักลอบล่าสัตว์ป่าดังกล่าว ถือเป็นการกระทำที่ต้องห้าม และก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการดูแลรักษาพื้นที่มรดกโลกแห่งนี้ อย่างร้ายแรง
WWF-ประเทศไทย ขอประณามการกระทำดังกล่าวของนายเปรมชัย กรรณสูต และพวก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการดำเนินการสืบสวนพิจารณาความผิดของนายเปรมชัย กรรณสูต และพวก อย่างเข้มงวดตามกระบวนการยุติธรรม และดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดโดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และแสดงซึ่งความคุ้มครองต่อเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า องค์กร และหน่วยงานที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงใจการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย
WWF-ประเทศไทย เชื่อมั่นว่า พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้ มีความศักดิ์สิทธิ์และควรค่าต่อการเคารพและปฏิบัติตามโดยคนไทยทุกคน และจะเป็นแนวทางสำคัญในการพิสูจน์ให้นานาประเทศได้เห็นว่า ประเทศไทยยึดมั่นในหลักการ และมีความจริงใจที่จะอนุรักษ์สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีบทลงโทษต่ำ รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการเพิ่มบทลงโทษใน พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อผลของการบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561