ย้อนอ่านข้อคิดเห็น เหตุใด “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” จึงกระทบต่อถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

ย้อนอ่านข้อคิดเห็น เหตุใด “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” จึงกระทบต่อถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

เมื่อ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้พิจารณาผ่านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ไปเป็นที่เรียบร้อย
.

โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ก่อนการประชุมกก.วล. วันที่ 30 เมษายน 2563 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลต่อไปนี้

ส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าวกินพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น หากผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอน น้ำจะเข้าท่วมป่าผืนนี้กว่า 7,000 ไร่ 

บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

ป่าบริเวณดังกล่าว ถือเป็นแหล่งอาศัยหลักของช้างป่า และเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการฟื้นฟูเพื่อรองรับประชากรช้างป่าได้อีกเป็นจำนวนมาก 

จากผลการศึกษาของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่อนุรักษ์ในกลุ่มป่าตะวันออกมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ 

ขณะเดียวกัน เนื่องจากพื้นที่มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าที่ราบต่ำและเป็นที่ราบสูง ในบางพื้นที่ ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยขนาดใหญ่มักใช้พื้นที่ป่าที่ราบต่ำ ประกอบกับสังคมพืชที่มีลักษณะโปร่งไม่รกทึบ เป็นแหล่งอาหารที่สัตว์กินพืชส่วนใหญ่มักใช้พื้นที่ในการหากิน 

ดังนั้น การเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ถือเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่าอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว และอาจสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.

Photo สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช
Photo สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช
Photo สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช
Photo สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช
Photo สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

.
นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังทับซ้อนกับพื้นที่ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ที่ได้เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ตั้งแต่ปี 2561 และยังเป็นพื้นที่จัดทำแหล่งน้ำและแหล่งหญ้าขนาดเล็กสำหรับช้าง โดยมูลนิธิป่ารอยต่อฯ 5 จังหวัด ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีเป้าหมายสำคัญในการดึงช้างป่าที่ออกไปรบกวนประชาชนในพื้นที่โดยรอบกลับเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอีกครั้ง 

หากต้องกลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ นอกจากจะแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ไม่ได้แล้ว ยังทำให้สูญเสียป่าพื้นราบขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองรับการอพยพกลับมาของช้าง ปิดกั้นทางเดินไม่ให้ช้างกลับคืนสู่ป่าอีกด้วย

แม้อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น มีพื้นที่ขนาดเล็กเป็นลำดับที่ 5 ของกลุ่มป่าตะวันออก แต่กลับพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มากถึง 7 ชนิด และถือได้ว่ามีค่าความชุกชุมของชนิดสัตว์ดังกล่าวค่อนข้างสูง 

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เป็นอ่างเก็บน้ำ 1 ใน 4 แห่ง ตามโครงการในลำน้ำย่อยของลุ่มน้ำโตนด ซึ่งโครงการดังกล่าว ถูกระบุว่ามีไว้เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

ข้อมูลนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ผ่าน facebook.com/SeubNakhasathienFD

ทั้งนี้ ในการประชุม กก.วล. นัดวันที่ 30 เมษายนของปีที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมมีมติยังไม่อนุมัติรายงาน EHIA โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด 

โดยมีข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ต่อไป 

ด้วยเหตุผลว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว มีสัตว์ป่าอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างชุกชุม โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่มีมากถึง 7 ชนิด และเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่

 


อ้างอิง