องค์กร TRAFFIC เผยข้อมูลการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายชิ้นใหม่ เน้นย้ำถึงข้อมูลที่ค้นพบจากการสำรวจในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม พบชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าผิดกฏหมายมากกว่า 78,000 ชิ้นถูกเสนอขายในร้านค้ามากกว่า 1,000 ร้านในเมืองที่ถูกสำรวจในทั้ง 5 ประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2562-2563
.
วิดีโอชิ้นใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงภาพการขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายนับพันชิ้นในบริเวณภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งได้เน้นย้ำให้เห็นว่า ภูมิภาคนี้ประสบความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมสัตว์ป่า และจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายให้มากยิ่งขึ้น
ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างซึ่งประกอบไปด้วยประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า ไทยและเวียดนาม ถูกมองว่าเป็นแหล่งค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าจะมีการเฝ้าระวัง การบังคับใช้กฎหมายและการแทรกแซงเชิงนโยบายมาหลายทศวรรษ ตลาดการค้าสัตว์ป่าที่เปิดอย่างผิดกฎหมายและปราศจากการควบคุมก็ยังคงดำเนินอยู่ โดยมีหลักฐานต่างๆ ที่ได้มาจากการสำรวจใน 5 ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
ผลการสำรวจพบว่า มีการซื้อขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าเกือบ 78,000 รายการ ในร้านค้ามากกว่า 1,000 ร้านทั้งในเมืองเล็กและเมืองใหญ่ใน 5 ประเทศตลอดทั้งปี พ.ศ. 2562 และ 2563
ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าหลากชนิดพันธุ์ที่ถูกพบระหว่างการสำรวจนี้ ได้แก่ หมี เสือแมวใหญ่ นกชนหิน ลิ่นและเลียงผา แต่ที่พบมากที่สุดคือ งาช้าง นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์มากมายที่ถูกสกัดมาจากสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เกล็ดลิ่นที่พบทั้งแบบดิบซึ่งยังไม่ผ่านการแปรรูปใดๆ และแบบบดเพื่อนำใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งเกล็ดที่ถูกแกะสลักเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับหรือขายเป็นเครื่องรางอีกด้วย
“ความหลากหลายและจำนวนของตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่มีอยู่หลายแห่งแสดงให้เห็นว่า การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายนั้น มิใช่เพียงแค่ยังดำเนินอยู่เท่านั้น แต่ในบางกรณีกลับมีการเติบโตมากขึ้นด้วย” คุณอากีล่า มาเนียมจากองค์กร TRAFFIC กล่าว
ตลาดค้าสัตว์ป่าหลายๆ แห่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้า การลงทุน การสร้างงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ขยายตัวมานานหลายปีและได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เช่น เมืองบ่อเต็น และแขวงบ่อแก้ว ในสปป.ลาว และจังหวัดสีหนุวิลล์ ในกัมพูชา
วิดีโอนี้ยังได้เน้นย้ำถึงความพยายามบางส่วนในการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของภูมิภาค รวมไปถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในการสืบสวนอาชญากรรมสัตว์ป่า การแจกจ่ายเครื่องมือที่จะช่วยในการจำแนกและตรวจจับการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และการทำงานเพื่อลดความต้องการของผู้บริโภคต่อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า
อย่างไรก็ตาม การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายซึ่งยังมีอยู่และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นั้น ก็ส่งผลให้การสืบสวนในเรื่องนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการตอบสนองที่ฉับไวและเข้มข้นมากขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนในพื้นที่เหล่านั้น
การจำกัดการท่องเที่ยวเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย โดยผลสำรวจในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอย่างงาช้างนั้นแม้จะยังคงมีการค้าอยู่ แต่ก็เป็นไปในปริมาณที่ลดลง
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ทางการเวียดนามยึดนอแรดแอฟริกาจำนวน 93 กิโลกรัม จากโกดังใกล้สนามบินนานาชาติโฮจิมินห์ซิตี้ เหตุการณ์นี้ถือเป็นเครื่องยืนยันว่า โรคระบาดไม่ได้ทำให้อาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่าลดลงแต่อย่างใด และกลับก่อให้เกิดคำถามใหม่เกี่ยวกับการสต๊อกสินค้าหรือการเก็บสินค้าที่ยังมีอยู่ในคลัง รวมถึงอุปทานของตลาดในอนาคตด้วย
“มันคงจะเป็นเรื่องที่ไร้เดียงสามากหากเราคิดว่า โรคระบาดเพียงอย่างเดียวจะสามารถช่วยลดอาชญากรรมสัตว์ป่าในระยะยาวได้ ดังนั้น การเฝ้าระวังและการสืบสวนยังจะต้องดำเนินต่อไป อีกทั้งการเสาะหาความจริงก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ผู้ลักลอบขนส่ง ผู้ค้าและผู้บริโภค ตอบสนองและปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างไร” คุณกนิษฐา กฤษณะชามี ผู้อำนวยการองค์กร TRAFFIC ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
“การเสริมสร้างความร่วมมือและเจตจำนงค์อันแน่วแน่จากรัฐบาลทุกชาติในภูมิภาคนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะปัญหาการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายมิใช่สิ่งที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถจัดการได้โดยลำพัง” คุณกนิฐากล่าว
การสำรวจและวิดีโอชิ้นนี้ เป็นผลงานล่าสุดขององค์กร TRAFFIC ที่ทำการวิจัยและตรวจสอบตลาดในภูมิภาคนี้มานานกว่า 30 ปี ในส่วนของรายงานบทวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับการค้างาช้าง และแหล่งการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายหลายพื้นที่ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้น จะมีการเผยแพร่ออกมาอีกหลายเล่มในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้