กรมชลตอบกลับมูลนิธิสืบฯ มั่นใจผลการศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่ผ่านการพิจารณาในระดับประเทศ

กรมชลตอบกลับมูลนิธิสืบฯ มั่นใจผลการศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่ผ่านการพิจารณาในระดับประเทศ

กรมชลตอบกลับมูลนิธิสืบฯ มั่นใจผลการศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่ผ่านการพิจารณาในระดับประเทศ

.
หลังจากที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ทำการยื่นจดหมายคัดค้านการผ่านรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือ การดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของ ประชาชน (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ที่น้ำจะเข้าท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จำนวน 7,097 ไร่ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และขอให้พิจารณาลดขนาดอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด พร้อมทั้งยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ ที่ร่วมแสดงออกผ่านแคมเปญ change.org และเอกสารเหตุผลในการคัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ต่อฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบเอกสารคัดค้านดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2565 กรมชลประทาน ได้ส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมมายังเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดังนี้ กรมชลประทานได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมและทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสรุปผลได้ว่าแนวทางที่กรมชลประทานเสนอนั้นได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ของประเทศ รวมถึงผ่านการพิจารณา จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศแล้ว กรมชลประทานจึงมีความมั่นใจว่าผลการศึกษาที่ได้รับมีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม ด้านสังคม ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างรอบคอบแล้ว

 

โดยผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ได้มีมติให้พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นการใช้พื้นที่โครงการให้เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่การสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการใช้น้ำและการอยู่ร่วมกันกับสัตว์ป่า ซึ่งจากผลการศึกษาล่าสุดของกรมชลประทาน ได้มีการพิจารณาปรับลดขนาดของอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยได้มีการขออนุญาตใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จาก 7,503 ไร่ คงเหลือ 6,191 ไร่ และขออนุญาตใช้พื้นที่ทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จาก 7,097 ไร่ คงเหลือ 5,791 ไร่

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ฯ ยังคงยืนยันเจตนาขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนโครงการฯ เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และพิจารณาข้อเสนอการจัดการน้ำนอกพื้นที่อนุรักษ์ ลดความยาวสันเขื่อนลงให้พ้นจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เพื่อให้ยังคงมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง แต่ไม่สร้างปัญหาใหม่ที่จะทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลาย และอาจทำให้สัตว์ป่าออกมารบกวนประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากจะทำให้สูญเสียป่าพื้นราบขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองรับการอพยพกลับมาของช้างป่า เพราะมีผลการวิจัยระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าบริเวณพื้นที่น้ำท่วมดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของช้างป่าและสัตว์กีบชนิดอื่นๆ เพราะน้ำเพื่อชีวิต ไม่ใช่เพื่อความตาย 

 

ตอบกลับสทนช. เรื่อง ขอให้พิจารณาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


ภาพ: ช้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ถ่ายโดยศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเพชรบุรี สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช