‘จันทน์กะพ้อ’ มีแนวโน้มลดลง ทำให้ถูกจัดอยู่ในสถานภาพ ใกล้การสูญพันธุ์ – Endangered species ตามรายงานล่าสุดของ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ตามรายงานระบุ ‘จันทน์กระพ้อ’ ทางภาคใต้มีชื่อเรียกว่า ‘จันทน์พ้อ’ หรือ ‘จันพอ’ เป็นพรรณไม้วงเดียวกับยางนา มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พบได้ทั่วไปในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของประเทศไทย
แต่ปัจจุบันพบได้น้อยมาก โดยมีรายงานพบมากที่สุด ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองทุ่งทอง ตำบลเขาตอก อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จันทน์กะพ้อ เดิมถูกจัดไว้ในสถานภาพ ‘เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์’ – Critically endangered species โดยมีสาเหตุจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมถูกคุกคามเพื่อทำการเกษตร
ประกอบกับมีการลักลอบเก็บดอกเพื่ออุตสาหกรรมน้ำหอม และเก็บส่วนของต้นเพื่อใช้เป็นพืชสมุนไพร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากปรากฎการณ์ลานิญญาและเอลนินโญ
แต่หลังจากได้มีการเพิ่มจำนวนปลูกของภาคเอกชน ทำให้จันทน์กะพ้อถูกจัดไว้ในสถานภาพ ใกล้การสูญพันธุ์ – Endangered species ที่มีแนวโน้มประชากรกำลังลดลง
จากการศึกษาล่าสุด โดย ผศ.ดร.ธีร ศรีสวัสดิ์ และผศ.ดร.เกสริน มณีนูน จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมของต้นจันทน์กะพ้อ ในพื้นที่ อำเภอเคียนคา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงที่ทำให้ต้นจันทน์กระพ้อใกล้สูญพันธุ์ โดยสำรวจใน 3 พื้นที่ ได้แก่ สวนเอกชน สวนน้ำต้นจันทน์กะพ้อ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองทุ่งทอง
โดยเก็บข้อมูลพิกัด GPS สีดอก ความยาวเส้นรอบวง และความสูงลำต้น รวมถึงเก็บชิ้นส่วนมาทำตัวอย่างอ้างอิง
ผลการสำรวจพบว่า ในพื้นที่สวนป่าเอกชน ณ หมู่ที่ 5 ตำบลทรัพย์ทวี (ติดเขตอำเภอเคียนซา) อำเภอบ้านนาเดิม มีประชากรของต้นจันทน์กะพ้อทั้งสิ้น 180 ต้น
ในพื้นที่สวนน้ำจันทน์กะพ้อ หมู่ที่ 1 ตำบลเคียนซา มีประชากรทั้งสิ้น 631 ต้น
และในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองทุ่งทอง หมู่ที่ 6 ตำบลเขาตอก อำเภอเคียนซา มีประชากรจำนวน 1,026 ต้น
ประชากรต้นจันทน์กะพ้อที่สำรวจพบทั้งหมด 1,837 ต้น ส่วนใหญ่มีระดับชั้นความสูงในช่วง 10 เมตรขึ้นไป (692 ต้น) และระดับเส้นรอบวง 5.1-50 เซนติเมตร (731 ต้น) คิดเป็น 37.67 และ 39.79 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ของจำนวนต้นจันทน์กะพ้อที่สำรวจพบทั้งหมด
พบการกระจายตัวแบบเป็นกลุ่มสำหรับประชากรจันทน์กะพ้อในพื้นที่สวนน้ำและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองทุ่งทอง
เมื่อพิจารณาข้อมูลประชากรโดยรวมแล้วพบว่า ต้นจันทน์กะพ้อยังคงมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์
ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ประชากรจันทน์กะพ้อใกล้จะสูญพันธุ์ มาจาก การบุกรุกพื้นที่ป่าของชาวบ้าน การเกิดไฟป่าในพื้นที่ทุกๆ ปี น้ำท่วมพื้นที่ป่าทุกปี (ทำลายต้นกล้าที่เพิ่งงอก)
การลักลอบขุดล้อมต้นจันทน์กะพ้อ ผลถูกเจาะทำลายจากแมลง
และยังมีการเก็บดอกจันทน์กะพ้อเพื่อนำไปทำน้ำหอม ขณะที่ไม่พบข้อมูลชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นพืชสมุนไพร
ผลของการศึกษานี้ จะเป็นข้อมูลด้านการจัดการพื้นที่ ใช้ในการวางแผนัดการอนุรักษ์ต้นจันทน์กะพ้อที่เป็นพรรณไม้ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ต่อไปในอนาคต
ข้อมูลทั่วไป ต้นจันทน์กะพ้อ
เป็นไม้ต้นใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 6-15 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มโปร่งไม่ค่อยสวย มีใบน้อย ต้นแตกกิ่งจำนวนมากที่ยอด กิ่งเปราะ มีน้ำยางใสซึมออกมาตามรอยแตก ใบเดี่ยว
ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบแก่สีเขียวเข้มเป็นมัน รูปรีแกม ขอบขนานหรือรูปใบหอก โคนใบเบี้ยว และจะหลุดร่วงไปตามอายุ
ดอก ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ที่ซอกใบและปลายกิ่ง มี 5 กลีบ สีขาวหรือเหลืองอ่อน กลีบดอกมีขนนุ่มสีน้ำตาล
ดอกเล็กแต่กลิ่นหอมแรงมาก หอมร้อนๆ คล้ายกับแก้วกาหลง ดอกทยอยบานในเวลาใกล้เคียงกัน ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม และออกดอกมากที่สุด ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์
อ้างอิง
- จันทน์กะพ้อ พันธุ์ไม้เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์
- Vatica diospyroides
- ภาพประกอบ : ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน