คดีอ่าวมาหยา – กว่าหลายปีที่คดีอ่าวมาหยาได้ดำเนินมา และเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้พิพากษาแล้ว ถือเป็นการปิดม่านมหากาพย์คดีที่ยาวนานกว่า 24 ปีลงในที่สุด
อ่าวมาหยา จ.กระบี่ เป็นหนึ่งในอ่าวที่มีความสวยงามที่สุดบนเกาะพีพีเล และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช (The Beach) ที่นำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เมื่อปี พ.ศ. 2542 อำนวยการสร้างโดยบริษัท 20th Century Fox ซึ่งจากการถ่ายภาพยนตร์ครั้งนั้นก็ดำเนินมาสู่การฟ้องร้องที่ยาวนานกว่าหลายทศวรรษ
จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2542 เมื่อ 20th Century Fox ได้รับอนุญาตจากรัฐมันตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมป่าไม้ ให้สามารถใช้พื้นที่อ่าวมาหยาในการถ่ายทำภาพยนตร์ได้ โดยใช้เหตุผลว่า เพื่อดำเนินตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติมาตรา 19 ว่าด้วยการสนับสนุน ให้การศึกษา การท่องเที่ยว การอำนวยประโยชน์ การบริการในอุทยานแห่งชาติ โดยให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแล จึงอนุญาตให้บริษัท ดำเนินการใดๆ ภายใต้การกำกับของกรมป่าไม้
ในระหว่างถ่ายทำนั้น ทางทีมงานก็ได้มีการปรับแต่งพื้นที่ในบริเวณอ่าวมาหยา ทั้งตัดต้นไม้ตามหน้าผา ก่อสร้างนั่งร้าน สร้างที่พักชั่วคราว และการเอาแพขนานยนต์มาเข้าเทียบเพื่อเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกล รวมถึงยังมีการปรับพื้นที่สำหรับปลูกต้นมะพร้าว
กิจกรรมทั้งหมดนนี้ล้วนเป็นการทำลายพืชประจำถิ่นและทำให้หาดทรายถูกน้ำกัดเซาะจนเกิดรอยเว้า ด้วยเหตุนี้ชาวกระบี่และนักอนุรักษ์หลายคนรวมตัวกันคัดค้านมาตลอด เพราะพวกเขามองว่ามันเป็นการทำลายธรรมชาติบนเกาะ
หลังจากการถ่ายทำภาพยนตร์เดอะบีชจบลง พบว่าอ่าวมาหยาได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติไปเป็นอย่างมาก โดย ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ นักวิชาการ ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ชี้ให้เห็นว่า อ่าวมาหยานั้นมีลักษณะหาดที่มีความพิเศษ ไม่เหมือนหาดอื่นๆ เพราะเกิดการทับถมของซากปะการังเป็นเวลานาน จนเป็นเม็ดทรายละเอียดขาวใส การปรับหรือต่อเติมพื้นที่ชายหาด จึงเป็นการทำลายและยิ่งไปกว่านั้นยังไม่สามารถฟื้นฟูให้สวยดังเดิมได้
นั่นทำให้ทาง อบจ. กระบี่ และ อบต. อ่าวนาง รวมถึงชาวบ้านอีก 17 คนยื่นฟ้องศาล เอาผิดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ให้อนุญาต และ 20th Century Fox ในการฟ้องร้องครั้งนี้ก็เพื่อเรียกค่าเสียหาย จากกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บนอ่าวมาหยา โดยได้ฟ้องขอให้มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พยายามยื่นฟ้องมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากศาลอุทรณ์ และศาลฎีกามองว่า ไม่ใช่ผู้เสียหาโดยตรง
ท้ายที่สุดศาลแพ่ง แผนกคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้รับคำฟ้องเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยพิจารณาให้เฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น 2 คนในฐานะตัวแทนชาวบ้าน มีสิทธิ์ยื่นฟ้องได้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ผู้พิพากษาใช้วิธีลงสำรวจพื้นที่อ่าวมาหยา เพื่อสืบและหาหลักฐานด้วยตนเอง ซึ่งนักกฎหมายมองว่านี่เป็นคดีตัวอย่างที่เกิดไม่บ่อยนักที่ศาลใช้วิธีหาหลักฐานด้วยตัวเอง
ในปี พ.ศ. 2561 มีการพิจารณาคดีศาลชั้นต้น โดยได้ตั้งนักวิชาการร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ศาล โจทก์ และจำเลย เพื่อลงพื้นที่อ่าวมาหยาเพื่อรวบรวมรายละเอียดเป็นแนวทางในการพื้นฟู
วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ “กรมป่าไม้” เยียวยาฟื้นฟูสภาพอ่าวมาหยาให้กลับมาสวยงามเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นผู้อนุมัติให้เอกชนเข้าไปสร้างภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ส่วน 20th Century Fox ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท แก่การช่วยเหลือการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยจะมอบเงินให้แก่กรมป่าไม้ในการดำเนินการฟื้นฟูอ่าวมาหยาต่อไป และต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศาลทุกๆ 1 ปี ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปี หรือจนกว่าเงินจะหมด ท้ายที่สุดในส่วนของรมว. เกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมป่าไม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ถือเป็นการปิดคดีที่ยาวนานกว่า 24 ปีลงได้สำเร็จ
อ้างอิง
- ฟ้องแพ่งใกล้จบ ! สู้ 18 ปี ‘เดอะบีช’ ทำระบบนิเวศอ่าวมาหยาพัง
- สำรวจผลกระทบ “อ่าวมาหยา จ.กระบี่” หลังมีความขัดแย้ง”หนุน-ต้าน”ในพื้นที่
- อ่าวมาหยา (อ่าวเดอะบีช) : ความสวยงามทะเลไทยที่ถูกถ่ายทอดผ่านหนัง The Beach
- รูดม่าน 24 ปี ฎีกาสั่ง “กรมป่าไม้” ฟื้นฟู “อ่าวมาหยา” ปมให้ถ่ายหนังปี 41
- ผู้ร่วมฟ้องคดีอ่าวมาหยา ยอมรับคำพิพากษา ชี้มีการกระทำผิดจริง แต่ไม่สามารถนำผู้ที่อนุญาตมารับโทษตาม กม.ได้
- ภาพประกอบ Lucas Hemingway
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ