29 กรกฎาคม วันเสือโคร่งโลก ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยข้อมูลสถานะประชากรเสือโคร่งในผืนป่าธรรมชาติของประเทศไทยรอบใหม่ โดยใน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติประมาณ 177 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่พบเสือโคร่งประมาณ 160 ตัว
.
ตามรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจ้งว่า จากสถานการณ์เสือโคร่งประเทศไทยในปัจจุบันแสดงให้เห็นเป็นว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากความสำเร็จในปัจจุบันหากมองถึงการบรรลุสู่เป้าหมายในการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างในอนาคต
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการดำเนินงานที่ครอบคลุมถึงการเสริมสร้างศักยภาพและการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความเข้มแข็งของการศึกษาวิจัยเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อาศัยที่สำคัญ และการสร้างจิตสำนึก ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายได้มีความพยายามในการดำเนินงานทั้งการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART Patrol ในทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การจัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้ผืนป่าไทยมีจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศ ที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง ได้ร่วมประกาศเจตนารมย์ตามปฏิญญาหัวหินในการประชุมด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในทวีปเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในพื้นที่เป็น 2 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2565
ในวันเดียวกัน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้เปิดเผยภาพถ่ายและรายงานผลการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติในการสำรวจเสือโคร่งในกลุ่มป่าทางทิศใต้ของผืนป่าตะวันตก ซึ่งดำเนินการร่วมกับ องค์การแพนเทอรา (Panthere) ประเทศไทย และสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย
โดยองค์การ Panthere และสมาคม ZSL ได้ส่งรายงานผลการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติในการสำรวจเสือโคร่งในกลุ่มป่าทางทิศใต้ของผืนป่าตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ในระหว่างเดือน ต.ค. 2563 ถึงเดือน มี.ค. 2564 ผลการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ สามารถถ่ายภาพสัตว์ผู้ล่าในวงศ์เสือและแมว 5 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว ถ่ายภาพสัตว์ป่าสงวนจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา และเก้งหม้อ และ ถ่ายภาพสัตว์ป่าคุ้มครองได้ 38 ชนิด เช่น ช้างป่า วัวแดง หมาใน ชะมดแผงสันหางดำ เป็นต้น
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยขององค์การPanthera และสมาคม ZSL และผลของการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อสำรวจเสือโคร่งในกลุ่มป่าทางทิศใต้ของผืนป่าตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี พบเสือโคร่ง และสัตว์ป่าหายากเพิ่มขึ้น บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และสัตว์ป่า ในกลุ่มป่าทางทิศใต้ ของผืนป่าตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการที่เสือโคร่งและสัตว์ป่าหายาก เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART Patrol ป้องกัน และปราบปรามอย่างเข้มข้น ของเจ้าหน้าที่ฯ ไม่เว้นวันหยุด
อ้างอิง
-
กรมอุทยานฯ เผยผลสำเร็จความร่วมมือทุกภาคส่วน เดินหน้าปกป้องป่าที่อยู่อาศัยเสือโคร่ง
-
สบอ.3 (บ้านโป่ง) เปิดกล้องดักถ่าย ‘เสือโคร่ง’ จากการวิจัยของแพนเทอรา และ ZSL