ฝนตก น้ำท่วมหนัก บทโหมโรงของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย

ฝนตก น้ำท่วมหนัก บทโหมโรงของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย

ฝนตก น้ำท่วม – 3 ตุลาคม 2565 ห่าฝนลูกใหญ่ได้ถล่มประเทศไทย ทำน้ำท่วมหลายจังหวัด 

การรายงานข่าวตลอดทั้งวัน มีแต่ภาพน้ำท่วมสถานที่ต่างๆ บ้านเรือน ตรอกซอกซอย ถนนสายหลัก 

ตกดึกก็เต็มไปด้วยภาพผู้คนที่ยังกลับบ้านไม่ได้ น้ำท่วมถนนหลายสายทำให้รถราสัญจรลำบาก – บ้างมีรายงานกันว่าถึงขั้นต้องเปิดโรงแรมข้างที่ทำงานนอนกันทีเดียว

และในบางจังหวัดพบรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน่าเศร้า

แน่นอนว่า เรื่องราวการสูญเสีย หรือกระทั่งเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความยากลำบากในการใช้ชีวิตย่อมไม่มีผู้ใดอยากให้เกิด

แต่เราจะหนีสิ่งนี้ – ฝนตก น้ำท่วม – ได้หรือ ?

เพราะภาพที่เกิดขึ้นเมื่อวานนั้น สอดคล้องกับรายงาน ‘ดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก’ ที่จัดทำโดย Germanwatch ในฉบับล่าสุดที่ระบุว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศสูงเป็นดับที่ 9 ของโลก

ซึ่งภัยพิบัติที่ประเทศไทยเสี่ยงต้องเผชิญมากๆ ในอนาคต ประกอบด้วยเรื่อง น้ำท่วม ภัยแล้ง และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงเข้าท่วมเมืองหลวง

และเหตุผลอีกประการที่ทำให้ไทยอยู่ 1 ใน 10 อันดับต้นๆ เป็นเพราะเรายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่มีทั้งปริมาณฝนที่ได้รับจากพายุโซนร้อนนกแตน และการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่ผิดพลาด 

ซึ่งในรายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลกที่ออกในปีถัดมา ได้ระบุให้ประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 1 ของประเทศที่เสี่ยงจากภัยพิบัติน้ำท่วมเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับในปีอื่นๆ ก็พบว่าประเทศไทยเกาะกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงในลำดับต้นๆ มาโดยตลอด

เช่น ในปี 2560 ไทยติดอยู่ในลำดับที่ 10 

ในรายงานครั้งนั้นระบุเนื้อหาในส่วนของประเทศไทยว่า ประเทศไทยฝนเริ่มตกหนักตั้งแต่ต้นปี 2560 ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูร้อน ทำให้ประชาชนในภาคใต้ได้รับผลกระทบกว่า 1.6 ล้านคน 

เส้นทางรถยนต์และรถไฟถูกตัดขาด มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 คน ในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว 

นอกจากนี้ ยังมีท่วมหลายหมู่บ้าน โรงเรียนกว่า 1,500 แห่งต้องปิดการเรียนการสอน ความเสียหายทางเศรษฐกิจในไทยรวมมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์

กลับมาที่เรื่องฝนตก น้ำท่วม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดวันที่ 3 ตุลาคม นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาอธิบายว่าเกิดเพราะความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนเคลื่อนมาปกคลุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง 

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร

จากการวิเคราะห์ของ OCHA หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการรับมือเหตุฉุกเฉินทางธรรมชาติ ระบุว่า อุณหภูมิทั่วประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 และปริมาณน้ำฝนรายปีเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน

โดยอุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญทั้งในด้านเศรษฐกิจและผลกระทบต่อมนุษย์ 

ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุดในโลก และอาจทวีความรุนแรงขึ้นในสถานการณ์สภาพอากาศในอนาคต

จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรุนแรงในแม่น้ำอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2578-2587

ย้ำว่าเป็นตัวเลขเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบรุนแรง ไม่ใช่ทั้งหมด

โดยภาคการเกษตรของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากสถานที่ตั้งในภาคเกษตรเขตร้อนที่ผลผลิตทางการเกษตรมีความเสี่ยงต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นพิเศษ

และผลกระทบต่อมนุษย์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยยังคงขึ้นอยู่กับแนวทางการปรับตัวที่นำมาใช้ แต่มีความเสี่ยงสำคัญในกลุ่มคนยากไร้ที่สุดและกลุ่มชายขอบจะประสบกับความสูญเสียและความเสียหายมากขึ้นอย่างไม่สมส่วน

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับรายงานของ carbonbrief.org ที่ระบุว่า เกือบทั้งโลกจะเห็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝนที่รุนแรงเมื่ออากาศอุ่นขึ้น

โดยปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น 16-24% ภายในปี 2100 กล่าวอีกนัยหนึ่ง พื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่แล้วมีแนวโน้มที่จะหนักขึ้น

จากข้อมูลเหล่านี้ พอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า เรามีสิทธิพบเจอกับฝนตกหนักๆ และทำน้ำท่วมได้อีกมากในอนาคต

สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ผลมันอาจไม่ได้เห็นทันตาเหมือนการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก เราคงไม่เห็นสัตว์ป่าผอมโวอย่างเรื่องของหมีที่ขั้วโลก หรือการตายของปลาแซลมอน

แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญ มันเป็นจุดที่เรียกว่า Slow Onset Events หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งสะสมมาเรื่อยๆ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อถึงจนถึงจุดหนึ่ง ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และรูปแบบการตกของฝน อย่างที่จู่ๆ เราก็ได้พบกัน

และมันก็ช่างหนักหน่วงแสนสาหัสเสียจริง


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน