“ช้างไทย” ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 3,000 ชีวิตต้องเผชิญกับปัญหาด้านสวัสดิภาพหลากหลายด้าน ตั้งแต่กระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณ สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติ และถูกผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์
แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการแก้ปัญหาสวัสดิภาพช้างไทยอย่างต่อเนื่องแต่ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสาธารณะหลาย ๆ ครั้งเกี่ยวกับการทำร้าย “ช้างไทย” อย่างโหดร้ายทารุณในสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย
สถานการณ์ช้างเลี้ยงไทย ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ย่ำแย่แค่ไหน?
ในช่วงวิกฤติโควิด 19 สวัสดิภาพ “ช้างเลี้ยง” ย่ำแย่ลง เนื่องจากปางช้างขาดรายได้ในการดูแล เพราะรายได้หลักของปางช้างมาจากการท่องเที่ยว คุณแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ช้างจำนวนมากถูกโซ่ตลอด 24 ชั่วโมง บางตัวโดนโซ่ตัดขาดเข้าไปถึงเนื้อจนเห็นกระดูก
ในช่วงหนึ่งปีแรกปางช้างหลาย ๆ ที่พยายามหาทางออกเพื่อที่จะช่วยเหลือและดูแลช้าง แต่ปัจจุบันพบว่าบางปางไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่างที่ต้องรับผิดชอบค่อนข้างสูง
“ในสมัยก่อนดิฉันเห็นช้างถูกบรรทุก แล้วก็ใส่แหย่งอยู่ข้างหลัง เราก็คิดว่าหนักแล้ว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเขาต้องถูกมัดเป็นปี บางตัวโดนโซ่ตัดขาดเข้าไปถึงเนื้อจนเห็นกระดูก ช้างเริ่มไม่มีอนาคต เริ่มอดอาหาร เริ่มมีปัญหา ในระหว่างนั้นมีช้างล้มตายเยอะมาก เราตระเวนไปพบปางช้างหลายที่ สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือ ทำไมหางช้างหายไป ทำไมขนช้างหาย เนื่องจากบางปางตัดหางและโกนขนไปขาย
การจัดโชว์ช้างที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา จะมีมาตรการควบคุม แต่บางปางที่ทำการแสดงช้างออนไลน์ จะไม่มีมาตรการควบคุม บางที่เปิดการแสดงจนถึงเที่ยงคืน และเปิดให้คนร้องขอโชว์ที่แปลกพิสดาร ดิฉันเห็นใจคนเลี้ยงช้างที่ต้องหาทางขายกล้วยขายอ้อย แต่ช้างถูกมัดสองขา เอามาใส่ชุดเต้นระบำ อันนี้คิดว่ามันอาจจจะเป็นการละเลยในเรื่องของธรรมชาติ ตอนที่เขาทำงานเขามีโอกาสได้เดิน พอไม่มีงานกลับโดนมัดตลอด 24 ชม.” คุณแสงเดือน กล่าว
ทางออกในการแก้ปัญหาช้าง โดยเฉพาะช้างเลี้ยง
“ภายใต้รอยยิ้มที่เราเห็นอาจจะเป็นคราบน้ำตาของช้างก็ได้ การแสดงของช้างแต่ละอย่าง เช่น การเตะฟุตบอล วาดรูป สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มันเกิดขึ้นจากการฝึก โดยเฉพาะการฝึกตั้งแต่ยังเล็ก การแยกลูกช้าง 2-3 ขวบ ให้ออกมาฝึกด้วยความทรมานโหดร้าย ฝึกบังคับให้เชื่อฟัง ทำตามคำสั่ง
หน้าที่ขององกรค์พิทักษ์สัตว์แห่งโลก พยายามที่จะนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้มาโดยตลอด แต่ภายใต้สถานการณ์โควิดเหมือนพายุที่มาซ้ำเติม ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องดิ้นรนให้อยู่รอด เราก็เข้าใจคนเลี้ยงช้าง หรือคนที่ทำงานเหล่านี้ ทุกคนต่างรักช้าง แต่ในอนาคตที่เกิดวิกฤติแบบนี้อยู่เราจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร ที่จะช่วยช้างเลี้ยงไทยอยู่ได้โดยไม่ทรมาน
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย มีกุญแจ 1 ดอก ที่จะแก้ปัญหาช้าง โดยเฉพาะช้างเลี้ยง วันนี้เราได้ลุกขึ้นมาร่างพระราชบัญญัติ ชื่อว่า พระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ… ร่วมกับทั้งนักวิชาการ คนเลี้ยงช้าง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้าง และก็หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างยั่งยืน” คุณปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้มีการเสนอกลไกหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช้าง โดยมีสาระสำคัญ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. ผลักดันกองทุนช้างแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือทั้งในเรื่องของการดูและสวัสดิภาพช้าง การดูแลช้างของกลาง การชดเชยกรณีประชาชนถูกช้างทำร้าย หรือแม้แต่กิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมสวัสดิภาพช้าง
2. การปกป้องการทารุณกรรม เช่น มีการระบุอย่างชัดเจนว่ามีลักษณะไหนบ้างที่เป็นการทำร้ายช้าง เช่น การใช้ตะขอสับอย่างรุนแรง การล่ามโซ่ตลอดเวลาไม่ให้มีการพักผ่อน การไม่ปล่อยให้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติโดยอิสระ หรือบังคับแสดง
3. จัดตั้งคณะกรรมการช้างแห่งชาติ สมัชชาแห่งชาติ กลไกป้องกันการค้าขายชิ้นส่วนของช้าง ซึ่งเป็นแนวทางที่เสนอกับสังคมที่จะแก้ไขปัญหาช้างทั้งระบบ
งบประมาณสิ่งแวดล้อม เพียงพอต่อการแก้ปัญหาช้างมากน้อยแค่ไหน?
งบประมาณสิ่งแวดล้อม ปี 2566 อยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งประเทศ ดังนั้นการแก้ปัญหาช้างอาจจะเป็นประเด็นท้าย ๆ ที่จะถูกพูดถึง ส.ส.นิติพล ผิวเหมาะ โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ระบุว่า “เลี่ยงไม่ได้เลยที่จะพูดถึงงบปี 2566 เพราะว่างบประมาณในแต่ละปีที่รัฐบาลเสนอมาคือทิศทางที่รัฐจะขับเคลื่อนประเทศไทยออกไปว่า ปีหน้าทั้งปี เราจะเดินหน้าออกไปทิศทางไหน
สรุปใจความงบประมาณปี 2566 เอาเฉพาะยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับงานด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ตัวเลขกลม ๆ อยู่ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท แต่ 3.1 ล้านล้านบาท มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 39% หรือประมาณแสนสองพันล้าน เกือบครึ่งเพื่อเป็นเงือนเดือนของข้าราชการ แล้วเหลือใช้จริงเท่าไหร่?
งบแสนสองพันล้านใช้กับเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งประเทศไทย ต้นปีบ้านผมเจอ PM 2.5 สักพักเจอไฟป่า น้ำท่วม ขยะประเทศไทย ติดอันดับเรื่องการปล่อยขยะสู่ท้องทะเล เรื่องควันเสียจากโรงงานต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดใช้เงินก้อนนี้ 3.1 ล้านล้านบาท แล้วจะเหลือพอในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้อย่างไร เพราะช้างก็เป็นหนึ่งในปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเรื่องกฎหมายงบประมาณแผ่นดินไม่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสัตว์ เพราะมันไม่สมดุลกัน”ส.ส.นิติพล ผิวเหมาะ โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
เนื้อหาทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งบนเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทำอย่างไร ‘ช้างไทย’ จะไม่โดนทำร้ายอีก?” จัดโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และสำนักข่าว GreenNews เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการทารุณกรรมช้างในปัจจุบัน และร่วมกันหาแนวทางเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพช้างไทยอย่างเป็นระบบต่อไป
ผู้เขียน
นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง