อุณหภูมิประเทศไทย ร้อนแรงต่างจากอดีตมากแค่ไหน ดูได้จากแถบสีนี้
.
แถบสีที่เห็นอยู่นี้ ไม่ใช่ธงหรือเครื่องหมายของสัญลักษณ์ใดๆ
โดยความหมายแล้ว มันคือสิ่งบ่งบอกสถานะอุณหภูมิของประเทศไทย – จัดทำโดยกลุ่มนักอุตุนิยมวิทยาชาวสหรัฐ
โดยเส้นสีฟ้าแทนความหมายของสภาพอากาศที่เย็นสบาย
ส่วนสีแดง หมายถึงปีที่เครื่องปรับอากาศทำงานหนักเพราะความร้อนระอุ
เส้นสีฟ้าทางซ้ายสุดคือปี ค.ศ. 1901
ส่วนเส้นสีแดงทึบชิดขอบทางขวามือ คือปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา
อธิบายคร่าวๆ เพียงเท่านี้ก็พอจะทำให้ทราบได้ว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เราอยู่ในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนรุนแรงขนาดไหน
และปัจจุบันนั้นแตกต่างจากอดีตมากเท่าไหร่
.
.
ในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1901 จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1970 ประเทศของเรามีอุณหภูมิที่พอเหมาะพอเจาะ อยู่กันสบายกำลังดี
ครั้นแต่ช่วง 1990 เป็นต้นมา พวกเราต้อง (ทน) อยู่กับสภาพอากาศที่ทุกข์ระทมในนรกสีแดง
ซึ่งภาพๆ นี้เป็นตัวอย่างงานสื่อความหมายแบบง่ายๆ ของกลุ่มนักอุตุนิยทวิทยา ที่ต้องการสื่อสารกับสาธารณชนว่า ปัจจุบันโลกของเรามีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมากแค่ไหน ผ่านแคมเปญที่ชื่อว่า #ShowYourStripes
ซึ่งเป็นกิจกรรมการแสดงออกทางสัญลักษณ์ ที่จะจัดกันในวันที่ 18 มิถุนายนของทุกปี
โดยผู้จัดทำได้สร้างเว็บไซต์ showyourstripes.info เพื่อให้ผู้คนจากทั่วโลก เข้าไปกดโหลดดูว่า อุณหภูมิ ณ ถิ่นที่อยู่อาศัยของเรามีหน้าตาเป็นอย่างไรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลของบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาสามารถดูแยกได้เป็นรายรัฐ
สำหรับประเทศไทย น่าเสียดายที่มีเพียงข้อมูลรวมเฉลี่ยทั้งประเทศ ไม่สามารถดูเป็นรายจังหวัด
#ShowYourStripes ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2018 และเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ โดยมีผู้คนต่างๆ โหลดภาพไปใช้แสดงออกผ่านรูปลักษณ์ต่างๆ
บางคนนำเอาลวดลายนี้ไปตัดเป็นชุดสวมใส่ บ้างทำเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่
หรือในปีนี้ หลายคนเลือกพิมพ์ลายกราฟอุณหภูมิลงบนหน้ากากอนามัยในจำนวนไม่น้อย
.
.
แม้มันจะดูไม่รู้เรื่องในทันที แต่หากทราบถึงที่มาที่ไปและความหมายของมัน ผู้สร้างเชื่อว่าผู้คนจะต้องฉุกคิดได้แน่ว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหา – ที่มีตัวเรานี่ล่ะเป็นผู้ก่อ
การเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า “เกือบทุกประเทศมีแถบสีแดงเข้มที่ส่วนท้าย”
ระหว่างปี 2015 – 2019 ถือเป็นช่วงเวลา 5 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
อาการนี้เริ่มแสดงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเปล่งสัญญาณ (สีแดง) ชัดเจนว่าโลกของเราได้ร้อนมากกว่าทศวรรษที่ผ่านๆ มา
แถบสีเกือบทุกประเทศมีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น
บ่งบอกว่าทุกการกระทำกระทบถึงกันและกัน
ศาสตราจารย์เอ็ด ฮอว์กินส์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเรดดิ้ง และผู้คิดค้นกราฟลายทางนี้ กล่าวว่า “เราขอให้ทุกคนแสดงลายทางสภาพอากาศ เราหวังว่าการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับข้อมูลนี้ด้วยภาพที่มองเห็นได้และเข้าถึงได้ จะทำให้ผู้คนจำนวนมากตื่นรู้ถึงความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใด”
“ผมขอแนะนำให้ทุกคนที่ใส่ใจอนาคตของโลกเรา ตรวจสอบลายทางสำหรับภูมิภาคของตัวเองและแบ่งปันข้อมูลนี้กับผู้อื่น นี่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการแสดงสิ่งที่มนุษย์เราทำกับสภาพอากาศในประเทศบ้านเกิดของเรา”
อ้างอิง
-
#LOCKDOWNCLIMATECHANGE: Show your stripes to help the planet
-
Show Your Stripes: heat continues in 2020
-
Why scientists and meteorologists are wearing blue and red stripes
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน