ความเห็นทางวิชาการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี โดยภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
.
สืบเนื่องจากการดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ครอบคลุมพื้นที่ที่ต้องขออนุญาตใช้เพื่อก่อสร้างโครงการ รวมจำนวน 14,600 ไร่ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนซ่อง จำนวน 7,097 ไร่นั้น ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอให้ความเห็นทางวิชาการต่อโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ในประเด็นที่ก่อเกิดผลกระทบดังนี้
1. การก่อให้เกิดสภาพการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และนโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติ (Park Policy) ที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้เห็นชอบบังคับใน พ.ศ.2564 เพื่อรักษาทรัพยากร คุณค่าความสำคัญของอุทยานแห่งชาติไว้ให้ได้ จากการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ดังกล่าวผิดกฎหมาย และกระทบต่อนโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติ
2. การสูญเสียป่าลุ่มต่ำ พบว่าปัจจุบันบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำในป่าอนุรักษ์ ของอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ซึ่งมีอาณาเขตต่อเนื่องกับพื้นที่อนุรักษ์ผืนอื่น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นพื้นที่ทรงคุณค่าทางการอนุรักษ์ตามธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่ในป่าภาคตะวันออกของประเทศไทย พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบแล้ง ที่มีความจำเพาะ พื้นที่เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า และพืชพรรณที่มีสถานภาพทางการอนุรักษ์ชนิดที่ถูกคุกคาม และชนิดใกล้สูญพันธุ์
3. ผลกระทบต่อการสูญเสียถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่ามีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และถูกคุกคามหลายชนิด พบว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน และบริเวณอ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้นกระทบต่อช้างป่า หมาใน ลิ่นชวา ชะมดแผงสันหางดำ เสือลายเมฆ เต่าหกดำ ผลการศึกษาของคณะวนศาสตร์ด้วยกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่ากินเนื้อ อย่างน้อย 14 ชนิด ทั้งหมด เป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าที่มีสถานภาพทางการอนุรักษ์ตาม IUCN ทั้งสิ้น จากสัตว์ป่าที่พบในบริเวณใกล้เคียงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวอย่างน้อย 136 จาก 25 วงศ์ โดยรวมถึงกระทิง วัวแดง หมีควาย หมีหมา กวางป่า เป็นต้น ในพื้นที่ยังปรากฎรายงานผลการศึกษาชนิดพันธุ์พืชหายาก พืชเฉพาะถิ่น และพืชที่ถูกคุกคามอย่างน้อย 16 ชนิด 10 วงศ์ จากผลที่ดำเนินศึกษาในพื้นที่ศึกษาตัวอย่างเพียง 1,800 ตารางเมตร แสดงถึงคุณค่าความโดดเด่นในการเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าและพืชป่าในพื้นที่ ในอดีตผืนป่าตะวันออกมีอาณาเขตต่อเนื่องกันไปจนถึงประเทศกัมพูชา ดังนั้น การรักษาพื้นที่อนุรักษ์ที่มีในปัจจุบันจึงเป็นการเก็บรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ไว้ให้อำนวยประโยชน์ตามแนวทางการอนุรักษ์ของประเทศในรูปอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
4. การสูญเสียพื้นที่อาศัย และแหล่งหากินของโขลงช้างป่า เนื่องจากพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณคลองวังโตนดปัจจุบันเป็นที่อาศัยของช้างป่าที่สำคัญที่สุดในบริเวณตำบลขุนซ่อง และตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว โดยพื้นที่นอกเขตอุทยานเขาสิบห้าชั้นที่เคยเป็นผืนป่าต่อเนื่องกัน ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำประแก็ดที่เคยเป็นพื้นที่ราบลุ่มสมบูรณ์ที่เป็นพื้นที่อาศัยของช้างป่าแม้ในปัจจุบัน จนช้างป่าต้องถอยเข้าไปอาศัยตามหย่อมป่า รวมถึงในสวนยางพารา ตลอดจนในพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนอกพื้นที่อนุรักษ์อีก 2 แห่ง ที่กำลังดำเนินการ คือ อ่างเก็บน้ำพวา และอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว อย่างกระจัดกระจาย ดังนั้น พื้นที่บริเวณที่ลุ่มต่ำคลองวังโตนด จึงเป็นที่มั่นสุดท้ายของประชากรช้างป่าที่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 100 ตัว ในบริเวณนี้เป็นความหวังสำคัญการจัดการเพื่อการอนุรักษ์ประชากรช้างป่า รวมถึงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่นี้ต่อไป
5. การเพิ่มผลกระทบระหว่างประชาชนและช้างป่า ต้องได้รับผลกระทบเพิ่มอันเนื่องมาจากการสูญเสียพื้นที่ตามข้อ 4. ในประเด็นนี้มีผลต่อความเป็นอยู่ของราษฎร โดยรอบเพิ่มมากขึ้น ปัญหานี้จะผลักดันก่อให้เกิดผลกระทบระหว่างประชาชน และช้างป่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อยู่แล้ว
6. สภาพอ่างเก็บน้ำที่จะเกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อเส้นทางเชื่อมต่อทางนิเวศ (Ecological corridor) ของสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม ระหว่างพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
7. ข้อสังเกตในกรณีที่ไม่ชอบธรรม ทั้งเรื่องการศึกษาผลกระทบเป็นโครงการที่จัดจ้างให้ศึกษาโดยกรมชลประทาน และการทำประชาพิจารณ์โดยกรมชลประทาน ควรเป็นหน่วยงาน หรือสถาบันการศึกษาที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้
8. กรมชลประทาน ควรหารูปแบบการศึกษา และการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม และควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครองของประเทศ
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ จึงขอคัดค้านโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโครงการคลองวังโตนด เพื่อรักษาเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมต่อไป