กลุ่มค้านเหมืองแร่โปแตช ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ ถึง คนร. คัดค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ร้องให้จัดทำแผนแม่บทฯ ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.แร่
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ตัวแทนกลุ่มรักษ์กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด และกลุ่มรักษ์ลำคอหงส์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ถึงคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) เพื่อขอคัดค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 และขอเรียกร้องให้การจัดทำแผนแม่บทฯ ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.แร่ ในนามเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ระบุว่า กลุ่มกำลังได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ทั้งฉบับที่ 1 และร่างแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ไม่มีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ การพิจารณาว่าพื้นที่ใดจะถูกกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองนั้น สมควรต้องมีการสำรวจ และพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะการทำเหมืองใต้ดิน ที่มีการให้สัมปทานทำเหมืองกินพื้นที่บริเวณกว้าง อีกทั้งยังเป็นการทำเหมืองใต้ดิน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบน้ำใต้ดินในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ก็มีให้เห็นแล้วในพื้นที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด แต่จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้องขอให้หน่วยงานรัฐช่วยทำตามหน้าที่ของตัวเอง ในการตรวจสอบเหมืองแร่ที่ทำให้เห็นข้อบกพร่องในการตรวจสอบหลายจุด จนทำให้เกิดผลกระทบขึ้น
โดยที่พวกเรากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดไม่เห็นเลยว่าแผนแม่บทฯนี้ จะเข้ามาบริหารจัดการเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร มีเพียงการกำหนดให้แร่ถูกนำไปใช้ สนับสนุนให้มีการทำเหมือง แต่ไม่มีการวางกรอบ มาตรฐานในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในระหว่างการทำเหมืองไว้เลย รวมไปถึงการฟื้นฟูผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วย
ขณะที่กลุ่มรักษ์ลำคอหงส์ ระบุว่าเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในพื้นที่แล้ว ทางกลุ่ม ไม่เห็นความจำเป็นในการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ โครงการการทำเหมืองแร่โปแตช ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าโครงการอุตสาหกรรม ที่มาพร้อมกับผลกระทบ คือ วิถีของการทำเกษตรกรรม ในพื้นที่ ต.ลำคอหงส์ ต.เมืองปราสาท และ ต.จันอัด ถือเป็นแหล่งข้าวพันธ์ดี ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) โดยจังหวัดนครราชสีมา เลขที่ สช 59100151 การรักษาพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ และปกป้องพื้นที่ไม่ให้ปนเปื้อนจากสารเคมี และผลกระทบ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และในพื้นที่ก็ไม่ได้มีน้ำที่สมบูรณ์เพียงพอ
การเข้ามาของอุตสาหกรรมการทำเหมืองขนาดใหญ่ย่อมใช้น้ำปริมาณมหาศาล และการทำเหมืองใต้ดิน จะใช้วิธีการประเมินพื้นที่หรือใช้หลักเกณฑ์ของการพิจารณาของเหมืองบนดินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลอุทกวิทยาน้ำใต้ดิน และเรื่องนิเวศวิทยาใต้ดิน เพราะการสำรวจแร่และการทำเหมืองใต้ดิน มีความเสี่ยงที่ระบบน้ำใต้ดินจะเสียสมดุลและเกิดการแพร่กระจายของน้ำเกลืออีกด้วย และหากมีการประเมินดุลยภาพดุลยภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย พื้นที่ อ.โนนสูง ย่อมไม่มีความเหมาะสมใดๆ ในการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง
และอีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องกันพื้นที่โนนสูง ออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองก็คือ การที่ อ.โนนสูง ถือเป็นแหล่งอารธรรม 3,000 ปี โดย อำเภอโนนสูง มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่า บริเวณพื้นที่ตั้งของจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันนี้เคยเป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากการสำรวจขุดค้นของนักโบราณคดี พบว่าเมื่อประมาณ 3,000 – 4,000 ปี มีชุมชนโบราณกระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ชุมชนธารปราสาท อำเภอโนนสูง ชุมชนเขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว ชุมชนหินตั้ง อำเภอสูงเนิน เป็นต้น ซากโครงกระดูกและเครื่องใช้ต่างๆ ที่ได้สำรวจพบ ได้บ่งบอกถึงความเป็นมาอันยาวนานของจังหวัดนครราชสีมาทั้งสิ้น โดยในตำบลลำคอหงษ์ มีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โนนงิ้ว บ้านหนองโนนกรวด บ้านคอหงษ์ บ้านหนองเครือชุด ตำบลเมืองปราสาท มีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บ้านดอนท้าว บ้านเมืองที กู่บ้านปราสาท ปราสาทบ้านปราสาท และตำบลจันอัด มีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บ้านตะกุดคลอง บ้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการยื่นขอประทานบัตร จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในการทำเหมือง เพราะพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นพื้นที่อ่อนไหว ต้องถูกกันออกจากพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่
ดังนั้น จึงขอให้ชะลอการใช้บังคับ (ร่าง) แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เอาไว้ก่อน และขอให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติสั่งการให้คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กลับไปเริ่มกระบวนการสำรวจพื้นที่ใหม่ เพื่อดำเนินการจำแนกพื้นที่ศักยภาพแร่ และต้องกันเขตพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดไม่ให้มีการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนจะนำพื้นที่มาพิจารณาตามหลักดุลยภาพ และกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันทั้งผู้สนับสนุนโครงการ และผู้ไม่สนับสนุนโครงการ ประกอบกับต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่อย่างครอบคลุม
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด และกลุ่มรักษ์ลำคอหงส์ จ.นครราชสีมา