เตรียมประกาศพื้นที่กว่า 7 หมื่นไร่ เป็น ‘เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์’

เตรียมประกาศพื้นที่กว่า 7 หมื่นไร่ เป็น ‘เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์’

ที่ประชุมคณะกรรมการการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีมติเห็นชอบการกำหนดพื้นที่ที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ในท้องที่ ต.นาสวน ต.ด่านแม่แฉลบ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ 72,877 ไร่ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

นายประวุธ เปรมปรีดิ์ หัวหน้าหน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการฯ มีมติ 

1. เห็นชอบการกำหนดพื้นที่ที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ในท้องที่ตำบลนาสวน ตำบลด่านแม่แฉลบ ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 72,877 ไร่ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยให้รอผลการพิจารณาจากกรมธนารักษ์ และผลตรวจสอบความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองกับกรมการปกครอง

2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดพื้นที่ที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ในท้องที่ตำบลเขาโจด ตำบลนาสวน ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. … พร้อมแผนที่และบัญชีชนิดสัตว์แนบท้ายประกาศกระทรวงดังกล่าว

และ 3. เห็นชอบ และรับรองให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตามขั้นตอนการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยไม่ต้องรอรายงานการประชุม ขณะเดียวกันกองทัพบก โดยกองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี ได้เห็นชอบการนำที่ดินราชพัสดุ แปลง กจ.209 อำเภอศรีสวัสดิ์ ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ อีกด้วย

นายประวุธ เปรมปรีดิ์ หัวหน้าหน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์

สำหรับพื้นที่ตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ระดับความสูงของยอดเขาสูงตั้งแต่ 643 – 1,129 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มียอดเขาสูงสุดคือยอดเขาหงอนไก่ ความสูง 1,129 เมตร มีความลาดชันของพื้นที่อยู่ระหว่าง 35 – 60 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำก่อเกิดต้นน้ำและลำธารหลายสาขา รวมกันเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และลุ่มน้ำชั้นที่ 2 มีลำห้วยสำคัญๆ ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ได้แก่ ห้วยองเผาะ ห้วยขนุน ห้วยองสิต ห้วยองจุ ห้วยนาสวน ห้วยปลายนาสวน ห้วยแม่ละมุ่น 

ทรัพยากรสัตว์ป่า (Wildlife Resource) เจ้าหน้าที่ชุดสำรวจได้ทำการเก็บข้อมูลด้านสัตว์ป่า โดยการสังเกตร่องรอยที่สัตว์ป่าทำทิ้งไว้ เช่น รอยเท้า มูล รอยเล็บตามต้นไม้ จากการฟังเสียง จากการพบตัวโดยตรง และจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า การเดินสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่าปรากฏพบสัตว์ป่าสำคัญๆ ได้แก่ เก้งหม้อ เลียงผา เสือโคร่ง เสือดำ เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ หมาใน ลิ่นชวา ช้างป่า กระทิง กวางป่า ชะนีธรรมดา นกกก นกแก๊ก ลิงกัง หมีควาย เก้ง หมูป่า 

พื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ แนวเชื่อมต่อป่า (corridor)  ที่สำคัญสำหรับเสือโคร่ง ซึ่งถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เป็นแกนหลักของระบบนิเวศ (Keystone species) และช้างป่าที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าที่เป็นร่มเงา (Umbrella species) ที่อพยพเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ (ฝั่งตะวันออก) จนกระทั่งถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ จึงมีสัตว์ป่า อาศัยอยู่อย่างชุกชุม เป็นพื้นที่สำคัญเชิงระบบนิเวศ รองรับการเคลื่อนย้าย และการกระจายของสัตว์ป่าจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ สู่ป่าใหญ่ด้านเหนือ ก่อเกิดการเชื่อมต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลำธารที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งต่อเขื่อนศรีนครินทร์และประชาชน ในพื้นที่ลุ่มน้ำแควใหญ่ ลุ่มน้ำแม่กลอง ส่งผลต่อการพัฒนาและความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจของประเทศและมีคุณค่าด้านการบริการของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแก่มนุษย์เป็นอย่างยิ่ง โดยการจัดการพื้นที่เชิงภูมินิเวศจะส่งผลให้มนุษย์อยู่ร่วมกับป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ในบริเวณนั้นได้อย่างยั่งยืน 

อนึ่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non-hunting Area) เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย แต่เดิม (พ.ร.บ.สงวนฯ พ.ศ. 2503) นั้นมุ่งเน้นที่การคุ้มครองเฉพาะสัตว์ป่าบางชนิด แต่ในปัจจุบัน (พ.ร.บ.สงวนฯ พ.ศ. 2562) มุ่งคุ้มครองทั้งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าควบคู่กันไป ซึ่งบริบทโดยรวมอาจดูคล้ายคลึงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife sanctuary) แต่มีข้อแตกต่างสำคัญคือ 1) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าโดยทั่วไปจะมีพื้นที่ขนาดเล็กกว่า และ 2) มักมีการอนุญาตให้หน่วยงานราชการหรือประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าได้

บทบาทต่อระบบนิเวศ เป็นแหล่งรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่หายาก เป็นแหล่งต้นนํ้าลำธาร แหล่งรักษาความชุ่มชื้นและคุณภาพของอากาศในท้องถิ่น เป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าที่มีความสำคัญ แหล่งพักอาศัยที่สำคัญของนกอพยพ เป็นพื้นที่กันชน (buffer zone) และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อ (corridor) ให้กับผืนป่าอนุรักษ์อื่น

อ้างอิง