มูลนิธิสืบฯ ร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ กรมอุทยานฯ เข้าร่วมกิจกรรม ‘สองเสือปากน้ำโพ’ 2022 Let’s Save 2 Tiger Together” เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์เสือโคร่งพื้นที่ป่าแม่วงก์ พร้อมผลักดันให้เป็นมรดกโลก
วันที่ 6 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. จังหวัดนครสวรรค์ กรมอุทยานฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ร่วมจัดงาน “สองเสือปากน้ำโพ 2022 Let”s Save 2 Tiger Together” ณ ห้องเจ้าพระยาคอนเวนชั่นฮอลล์ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์
การจัดงานครั้งนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์พันธุ์ “เสือโคร่ง” ซึ่งถือได้ว่าเป็นดัชนีตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่วงก์ และอนุรักษ์พันธุ์ “ปลาเสือตอลายใหญ่” ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของแหล่งน้ำโดยเฉพาะที่บึงบอระเพ็ด โดยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งทั้ง 3 จังหวัด มีพื้นที่ป่าอยู่ในผืนป่าตะวันตก และเป็นที่อยู่อาศัยของ “เสือโคร่ง” ที่เคลื่อนย้ายจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมาอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ แม่วงก์ ตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งปัจจุบัน
โดยวันที่ 7 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. พิธีเปิดงาน “สองเสือปากน้ำโพ 2022 Let”s Save 2 Tiger Together” นำโดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สองเสือปากน้ำโพ…คุณค่าแห่งมรดกโลก” และร่วมลงนาม “ปฏิญญาสองเสือปากน้ำโพ” เพื่อแสดงเจตจำนงในการร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตัวแทนชุมชน จำนวน 40 หน่วยงาน ร่วมลงนาม


ต่อจากนั้นเวลา 13.00 น. มีเวทีเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “แนวทางการอนุรักษ์ขับเคลื่อนเสือโคร่ง และปลาเสือตอในยุคหลัง COVID -19 DISRUPTION” นำโดยนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ คุณจ๊อบ นิธิ สมุทรโคจรม, ผู้แทนกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF), ผู้แทนจากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS), ผู้แทนจากศูนย์วิจัยฯประมงน้ำจืดจังหวัดนครสวรรค์, โดยแนวทางการอนุรักษ์ขับเคลื่อนเสือโคร่งนั้น มุ่งเน้นไปการเพิ่มจำนวนประชากรเหยื่อ และความอุดมสมบูรณ์ของป่า จนนำไปสู่การประกาศพื้นที่มรดกโลกอุทยานฯแม่วงก์-คลองลาน ส่วนปลาเสือตอลายใหญ่ควรมีการวิจัยฯ พัฒนาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อการขยายพันธุ์ รวมทั้งฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัย คุณภาพน้ำในบึงบอระเพดซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงอยู่ของปลาเสือตอลายใหญ่ ทั้งนี้แนวทางการอนุรักษ์ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน โดยลงมือทำพร้อมกับสร้างการสื่อสารสาธารณะ เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนัก รวมทั้งการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์
ในส่วนของมูลนิธิสืบฯ ได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการอัตชีวประวัติ และผลงานของคุณสืบ นาคะเสถียร โดยเฉพาะการจัดทำข้อมูลและผลักดันป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ในปี 2534 รวมถึงผลการดำเนินงานของมูลนิธิสืบฯ ในพื้นทีป่าตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานฯ แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และอุทยานฯคลองลาน จ.กำแพงเพชร ได้ดำเนินการร่วมกับกรมป่าไม้ในการจัดตั้งป่าชุมชนรอบแนวเขตประชิดอุทยานฯแม่วงก์จำนวน 29 ป่า และดำเนินโครงการเพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรจากป่าแม่งวงก์ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอและผลักดันผืนป่าทั้ง 2 แห่ง เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติต่อเนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อให้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งในอนาคต
นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการมูลนิธิสืบฯ ยังมีกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้าร่วมงาน โดยนำเสนอผลการดำเนินงานของมูลนิธิสืบฯ รอบพื้นที่อุทยานฯแม่วงก์, การคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์, การนำเสนอพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ของคุณสืบ นาคะเสถียร, โดยเป็นหนังสือแจกแก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งก็ได้รับความสนใจผู้เข้าร่วมเข้างานเป็นจำนวนมาก และยังได้รับความสนใจจาก คุณจ๊อบ นิธิ สมุทรโคจร ดารานักแสดง จากรายการ “สมุทรโคจร” ซึ่งได้มาถ่ายทำรายการ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ “เสือโคร่ง” ในพื้นที่อุทยานฯแม่วงก์ โดยรับอาสาจะทำหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะเพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างการมีส่วนร่วม เรื่องการอนุรักษ์เสือโคร่ง ให้กับชุมชนในพื้นที่รอบป่าอุทยานฯแม่วงก์ และชาวจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีแผนจะดำเนินการ “โครงการพ่อ – แม่ อุปถัมภ์เสือโคร่ง” ในพื้นที่ป่าแม่วงภ์โดยจะดำเนินการร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ กรมอุทยานฯ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง



อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ 890 ตารางกิโลเมตร หรือ 558,000 ไร่ ตั้งอยู่ในผืนป่าตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งมีจำนวนประชากรเสือโคร่งหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทย และจากการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดยกรมอุทยานฯ ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) พบว่าพื้นที่อุทยานฯแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ อุทยานฯคลองลาน อุทยานฯคลองวังเจ้า จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นผืนป่าที่มีอาณาเขตติดต่อกันพบเสือโคร่งจำนวน 14 ตัว อาศัยอยู่ในอุทยานฯแม่วงก์จำนวน 11 ตัว อุทยานฯคลองลานจำนวน 2 ตัว และอุทยานฯ คลองวังเจ้าจำนวน 1 ตัว ซึ่งนั่นหมายถึงการเพิ่มขึ้นของเสือโคร่ง และเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าทั้ง 3 พื้นที่ ในผืนป่าตะวันตก
แนวทางในการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืนประกอบด้วยปัจจัย 3 อย่างดังนี้
ร่วมรักษา “บ้าน” หรือ “ป่าอันอุดมสมบูรณ์” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง โดยเฉพาะพื้นราบริมน้ำบริเวณน้ำตกแม่เรวาอุทยานฯแม่วงก์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง
การเพิ่ม หรือ รักษาประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น การไม่ซื้อ ไม่ล่า สัตว์ป่า ซึ่งเป็นประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง
ประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือโคร่ง เช่น สร้างการรับรู้ความสำคัญของเสือโคร่งให้กับชุมชนในพื้นที่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในอนุรักษ์ โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์เสือโคร่ง
ปลาเสือตอลายใหญ่ (Siamese Tiger Perch) จัดเป็นปลาน้ำจืด ในอดีตจะพบได้ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำโขง และบึงบอระเพ็ด ปลาเสือตอลายใหญ่ มีลักษณะลำตัวอวบหนา พื้นลำตัวมีสีเหลืองนวล มีแถบสีดำขนาดใหญ่จำนวน 5 แถบ มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 500 กรัม – 1 กก. อาศัยอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ บริเวณตอไม้ โพรงไม้ใต้น้ำ กินสัตว์เล็ก ๆ ที่เคลื่อนไหวเป็นอาหาร เช่น กุ้ง และปลาเล็ก
เนื่องการเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการล่า และการส่งออก จึงทำให้ปลาเสือตอลายใหญ่ สุญหายไปจากแหล่งตามธรรมชาติของประเทศไทยโดยเฉพาะที่บึงบอระเพ็ด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบปลาเสือตอลายใหญ่ ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าสูญพันธ์ไปจากประเทศไทยแล้ว
ที่ผ่านมากรมประมงมีความพยายามที่จะเพาะพันธุ์ปลาเสือตอลายใหญ่ แต่ยังไม่สำเร็จอันเนื่องจากปัจจัยความไม่แข็งแรงของพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ จึงทำให้ไข่ฝ่อไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลาเสือตอในปัจจุบันมีความเสื่อมโทรม คุณภาพน้ำต่ำทำให้การเพาะและขยายพันธุ์ปลาเสือตอลายใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ
แนวทางการฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุ์ปลาเสือตอลายใหญ่
ศึกษาวิจัยฯ และพัฒนาพ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ปลาเสือตอลายใหญ่ ให้แข็งแรงเพื่อให้สามารถขยายพันธุ์อยู่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้
ฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลาเสือตอ โดยเฉพาะบึงบอระเพ็ด ให้เป็นพื้นที่ห้ามจับสัตว์น้ำ
สร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาเสือตอ โดยการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของปลาเสือตอลายใหญ่ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
บทความ ปราโมทย์ ศรีใย