อะไรคือทางรอดของ ‘สัตว์ทดลอง’ ในห้องแล็บ

อะไรคือทางรอดของ ‘สัตว์ทดลอง’ ในห้องแล็บ

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระแสแอนิเมชันในรูปแบบหนังสั้นเรื่อง ‘Save Ralph’ ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ กลายเป็นแคมเปญ #SaveRalph ที่ทำให้ผู้คนหันมาตั้งคำถามกับการใช้ ‘สัตว์ทดลอง’ ในห้องแล็บ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า ต่าง ๆ จำพวก ยา วัคซีน สบู่ แชมพู เครื่องสำอาง ที่เป็นมิตรกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
.

อันที่จริงกระแสการเรียกร้องคุ้มครองสัตว์ทดลองเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาเเล้วตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 ที่มนุษย์เริ่มมีความเชื่อว่า ‘สัตว์ทุกตัวย่อมมีความรู้สึก’

จุดเริ่มต้นของปรัชญาและความเชื่อที่ว่า สัตว์มีความรู้สึกในสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อพวกมันในงานทดลองต่าง ๆ จนเกิดการตั้งมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ความคิดเชิงอรรถประโยชน์ (utilitarianism) ก็ยังเป็นความคิดที่คนส่วนใหญ่คล้อยตาม ด้วยเชื่อว่า “ประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากการทดลองนั้นควรค่ามากพอที่จะแลกกับชีวิตของสัตว์”

เมื่อมนุษย์เกิดชุดมุมมองที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการประจันหน้าทางความคิดระหว่างความเชื่อทางศีลธรรม และความเชื่อเรื่องการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ กระนั้น ในห้วงเวลาที่ผ่านมา มักมีการโต้แย้งถกเถียงความเห็นของคนทั้งสองฝ่ายที่นำไปสู่ ‘มาตรฐานการใช้สัตว์ทดลอง’ ขึ้น 

ผู้เขียนมองว่าหลักการสำคัญของมาตรฐานนี้ คือการนำสัตว์มาทดลองอย่างเห็นคุณค่า ด้วยความจำเป็น ในเชิงการพัฒนาที่ไม่สามารถหยุดนิ่ง และอยู่ภายใต้บริบทที่มนุษย์ยังไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาแทนที่ในการทดลองได้ 

สำหรับประเทศไทย เรามีการตราพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 อันเป็นกฎเหล็กสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ – นักทดลอง จะต้องยึดมั่นถือมั่น 

แต่กระนั้น กระแส #SaveRalph ก็ยังกลับมาปลุกความรู้สึกของผู้ที่อาทรต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้อย่างมีพลัง ซึ่งผู้เขียนอยากชวนคิดต่อไปว่า มนุษย์เราจะสามารถปฏิเสธทางออกเชิงวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้อย่างไร
.

.
มีแนวคิดที่น่าสนใจของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งประเทศอิสราเอล โดยพวกเขาคิดค้นวิธีที่ช่วยเลี่ยงการทดลองยาในสัตว์ ด้วยการใช้ ‘ชิปมนุษย์’ ซึ่งเป็นแผ่นชิปที่บรรจุเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์เอาไว้ โดยส่วนมากจะเป็นเนื้อเยื่อจากอวัยวะที่ต้องการศึกษาผลลัพธ์ของยา 

นับว่าเป็นความหวังใหม่ให้เรามีทางเลือกในการทดลองผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากกว่าการใช้สิ่งมีชีวิตมาเป็นเครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม ในยุคโควิด-19 กำลังระบาดหนัก อุตสาหกรรมทางการแพทย์ยังคงจำเป็นต้องใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการทดลอง เพื่อทำวัคซีน เช่น ในประเทศไทยที่มีการวิจัยวัคซีนโควิด-19 โดยทีมนักวิจัยไทย เริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับสัตว์ทดลองประเภท ‘ไพรเมท’ หรือ ‘ลิง’ ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ ให้ข้อมูลกับ sarakadee lite ว่า ปัจจัยการคัดเลือกต้องอิงจากสัตว์ที่แสดงอาการใกล้เคียงมนุษย์ที่สุด เนื่องจากสัตว์บางชนิดไม่สามารถแพร่เชื้อด้วยการไอแบบคนได้ การวิจัยวัคซีนโควิด-19 จึงเลือกใช้ลิงที่มีสรีระกายวิภาคใกล้เคียงมนุษย์ อีกทั้งโรคระบาดหลายชนิดที่เกิดขึ้นในมนุษย์ มักแพร่กระจายไปสู่ลิงได้ ที่สำคัญภูมิคุ้มกันของลิงมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ ดังนั้น ลิงจึงเป็นสัตว์ที่นิยมนำมาทดลองในการวิจัยวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนโควิด-19

จากข้อมูลข้างต้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้สัตว์เพื่อการทดลองยังคงมีความจำเป็นกับมนุษย์อยู่ จนกว่าอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนสัตว์เหล่านี้ 

ท้ายที่สุด เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันประเด็นดังกล่าวได้ ผ่านการใช้เครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการทดลองกับสัตว์ในทุก ๆ ขั้นตอนการผลิต สามารถสังเกตได้บนแพคเกจจิ้งที่มีคำว่า ‘Cruelty Free’ ระบุไว้บนฉลากสินค้า หรือสังเกต ‘ลักษณะรับรองสัญลักษณ์รูปกระต่าย (Leaping Bunny) ที่ด้านหลังผลิตภัณฑ์ และมองหาคำว่า ‘Not Tested on Animal’ ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้ทำการทดลองกับสัตว์ 

วิธีสนับสนุนหรือแบนสินค้า ถือเป็นการผลักดันให้องค์กรผู้ผลิต เห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิต จนนำไปสู่หาแนวทางใหม่ เพื่อสร้างกระบวนการผลิตในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสัตว์มากขึ้น

 


ข้อมูลอ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ