นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 หลังมีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ถอดกำแพงกันคลื่นออกจากรายการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) งบประมาณสำหรับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับความยาวของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่ขยายออกไปไกล ในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด
แต่ทราบหรือไม่ว่า เมื่อคลื่นวิ่งมากระทบกำแพง แรงคลื่นที่เข้าปะทะจะเปลี่ยนระดับความแรงไปจากเดิม คลื่นจะตะกุยทรายด้านหน้าของกำแพงกันคลื่นออกไปนอกชายฝั่งมากกว่าปกติ
และปลายสุดของกำแพงกันคลื่นจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นผลจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ปะทะกับกำเเพงกันคลื่น ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ด้านท้ายน้ำของกำเเพงกันคลื่น
และเมื่อเกิดการกัดเซาะในพื้นที่ใหม่ ดูเหมือนแนวทางการแก้ไขปัญหายังคงวนอยู่เพียงแนวทางเดิมๆ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 กลุ่ม Beach for life เครือข่ายทวงคืนชายหาด หน่วยงานเอกชน และภาคประชาชนจากหลายจังหวัด ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี 3 ข้อ ได้แก่ (1) เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขมติครม. ที่ให้กรมโยธาฯ เป็นผู้ดูแลปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง (2) ให้การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA และ (3) ฟื้นฟูชายหาดที่เสียไป เพราะกำแพงกันคลื่น
โดยยื่นเงื่อนไขรอฟังคำตอบเป็นเวลา 10 วัน
(แต่) ระหว่างรอ… ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ
วันที่ 5 ธันวาคม 2565 สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล กรณีการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ เข้าร่วมประชุม
จากการประชุมข้อสรุปว่า กลไกกลั่นกรอง ดูผลกระทบปัจจุบันดีพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดให้กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA
วันที่ 6 ธันวาคม 2565 เครือข่ายทวงคืนชายหาด อ่านแถลงการณ์ที่หน้ากรมโยธาธิการและผังเมือง ใจความสำคัญบอกว่า กรมโยธาฯ ไม่สนใจข้อเท็จจริงทางวิชาการ และบทเรียนความล้มเหลวในการป้องกันแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา และไม่เคยทบทวนนโยบายการดำเนินงานของกรมเลยแม้แต่น้อย
จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า กรมโยธาธิการ คือกรมที่สร้างความชิบหายให้กับชายหาดไทยอยู่ในภาวะที่กำลังจะสูญสิ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน ทางด้านกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า
ปัจจุบันยังไม่พบกำแพงกันคลื่นใดที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับประชาชน ยังไม่พบการกัดเซาะหน้าหาดจากโครงสร้างของกรมโยธาฯ ที่มีการทิ้งหิน หรือขั้นบันได พบเพียงการกัดเซาะที่ด้านใดด้านหนึ่งของจุดสิ้นสุดกำแพงกันคลื่น ด้านหนึ่งเกิดการทับถม ด้านหนึ่งเกิดการกัดเซาะ ซึ่งขณะนี้กรมโยธาฯ อยู่ระหว่างศึกษาหาเครื่องมือลดผลกระทบดังกล่าว
ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน เครือข่ายทวงคืนชายหาด ได้เดินทางต่อไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้เจรจาหารือกับตัวแทนหน่วยงานในเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายระบุว่า จากการพูดคุยของรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เลขาธิการสำนักนโยบายและแผน บอกว่าจะรับข้อเสนอนั้นยังไม่ถือเป็นหลักประกันใดๆ ในทางปฏิบัติ
ดังนั้น จึงเห็นควรต้องทำเป็นหนังสือชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติงานพร้อมระบุกำหนดเวลาที่ชัดเจน และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องมีความจริงใจกับพี่น้อง ซึ่งต้องลงนามในหนังสือฉบับนี้ด้วยตัวเอง
โดยเครือข่ายทวงคืนชายหาด ได้ขอให้ รมต.กระทรวงทรัพยากรฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา ลงมาร่วมลงนาม ให้คำมั่นว่าจะนำกำแพงกันคลื่นกลับมาทำ EIA ในเวลา 9.00 น. ของวันที่ 7 ธันวาคม 2565
แต่ก็เช่นเดียวกับที่ผ่านๆ มา ระหว่างรอ… ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ
“การเอากำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA มันง่ายดาย เเต่เมื่อประชาชนเรียกร้องให้เอากลับมาทำ EIA กลับยากเย็นเเสนเข็ญ ไม่ได้รับการสนใจ เเละตอบรับจากรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา เเละสำนักงานนโยบายเเละเเผนฯ เเต่อย่างใด ปล่อยให้ชาวบ้านนอนข้างถนน ตากลมตากเเดด หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม” – facebook Beach for life วันที่ 7 ธันวาคม เวลา 10.34 น.
ช่วงเย็น วันที่ 7 ธันวาคม 2565 เครือข่ายทวงคืนชายหาด ย้ายไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ และจะชุมนุมจนกว่าจะได้รับคำตอบตามที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องไป
1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น
2. กำแพงกันคลื่นต้องกลับมาทำ EIA
3. ฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น
ติดตามความคืบหน้า #ทวงคืนชายหาด ได้ทาง Beach for life