คุ้มครองและปกป้องชายหาดจากการถูกทำลายด้วยกำแพงกันคลื่น

คุ้มครองและปกป้องชายหาดจากการถูกทำลายด้วยกำแพงกันคลื่น

เราจักไม่ยอมปล่อยให้ชายหาดถูกทําลายยํ้ายีอีกต่อไป เราขอส่งเสียงพูดแทนชายหาด และทวงคืนชายหาดของประชาชน กลับสู่ประชาชน

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ตัวแทนจากกลุ่ม Beach For Life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด 93 องค์กร ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ดำเนินการปลดล็อคการดำเนินโครงการ ‘กำแพงกันคลื่น’ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วชายฝั่งทะเลภาคใต้มาต่อเนื่อง

เนื้อความของหนังสือที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรีนั้น ระบุใจความสำคัญไว้ 3 ประการ ประกอบด้วย

1. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคําสั่งแก้ไขมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อํานาจกรมโยธาธิการและผังเมืองในการดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการฯ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดําเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า กรมโยธาธิการฯ ใช้งบประมาณจํานวนมหาศาลในการสร้างกําแพงกันคลื่น เพื่อทําลายชายหาด

2. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคําสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นําเอาโครงการกําแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทําการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดําเนินการโครงการกําแพงกันคลื่น

3. ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคําสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกําแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสําคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม

โดยข้อเรียกตามที่กล่าวไปนี้ ทางตัวแทนผู้ยื่นหนังสือฯ ระบุว่า จะให้เวลารัฐบาลดำเนินการภายในเวลา 10 วัน ถ้าในระยะเวลาดังกล่าวยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาตาม 3 ข้อที่เรียกร้องไป จะกลับมาทวงข้อเรียกร้องอีกครั้ง พร้อมกับผู้ได้รับผลกระทบจากกำแพงกันคลื่น

หลังจากนั้น ในวันที่ 27 พฤศจิกายน เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดปาตานี ได้แถลงการณ์และร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลรีบเร่งดําเนินการ ตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ของกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด

พร้อมระบุด้วยว่า เครือข่ายในพื้นที่ปาตานีจะร่วมสมทบขึ้นไปทวงถามสัญญาที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนหาดชายหาด หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องภายในเวลาที่กำหนด

สำหรับปัญหาการก่อสร้าง ‘กำแพงกันคลื่น’ เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดปาตานี ระบุว่า ที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีแต่ความล้มเหลวและขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รังแต่ทําให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการถลุงงบประมาณเพื่อป้องกันชายฝั่งต่ออย่างไม่จบสิ้น

อีกทั้ง การเพิกถอนกําแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นช่องวางที่ทําให้กรมโยธาธิการอาศัยประโยชน์จากการที่กําแพงกันคลื่นไม่ต้องทํา EIA และใช้งบประมาณทําลายชายหาด โดยไม่เลือกสรรวิธีการอื่นๆที่ดีกว่าในการแก้ปัญหาป้องกันชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นการดําเนินนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐรุนแรงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น กรมโยธาธิการฯ ยังกลายเป็นกรมต้นเหตุที่ทําให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน และ ประชาชนกับรัฐในการดําเนินโครงการก่อสร้างกําแพงกันคลื่น และมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า กรมโยธาธิการฯ ไม่มีความเหมาะสมในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะนโยบายในการแก้ปัญหาไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ องค์ความรู้ทางวิชาการในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่สําคัญคือไม่เป็นผลดีต่อชุมชน ทําลายวิถีวัฒนธรรม และปากท้องของประชาชนที่ใช้ชีวิตพึ่งพาหาดทรายในการดํารงวิถี – แถลงการณ์ระบุ

อ่านแถลงการณ์เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดปาตานี ฉบับเต็ม 

อ้างอิง