เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ประกาศว่าโลกกำลังเผชิญกับ ‘ภาวะฉุกเฉินทางทะเล’ ในการประชุมสหประชาชาติด้านมหาสมุทร (UN Ocean Conference) พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูสุขภาพของมหาสมุทร แต่สี่วันในการประชุมกลับมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ได้เปิดการประชุมมหาสมุทรเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยประกาศ ‘เหตุฉุกเฉิน’ และเรียกร้องให้รัฐบาล ‘พลิกสถานการณ์’ โดยมีผู้นำระดับโลกและประมุขแห่งรัฐจาก 20 ประเทศเข้าร่วม การประชุมสหประชาชาติด้านมหาสมุทรซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส พยายามมุ่งขับเคลื่อนโซลูชันนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูสุขภาพของมหาสมุทรโลก
เวลาที่เรากำลังต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง – ปีที่ผ่านมาระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ความร้อนในมหาสมุทรก็เพิ่มขึ้น และเกิดการทำให้เป็นกรด เช่นเดียวกับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก ทั้งหมดได้เดินทางไปถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามรายงานสภาวะสภาพภูมิอากาศโลกปี 2564 ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก มลพิษทางทะเลไม่สามารถควบคุมได้ โดยมีพลาสติกอย่างน้อย 8 ล้านตันไหลเข้าสู่มหาสมุทรของเราทุกปี สิ่งนี้มีส่วนทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว โดยมีฉลามและปลากระเบนอย่างน้อย 37 เปอร์เซ็นต์ของโลก ปะการัง 33 เปอร์เซ็นต์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 26 เปอร์เซ็นต์ (รวมถึงสัตว์ทะเล) และ 21 เปอร์เซ็นต์ ของสัตว์เลื้อยคลานที่คุกคามการสูญพันธุ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน
‘ภาวะฉุกเฉินทางทะเล’ คือสถานการณ์ที่เลวร้าย และความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการกับเหตุฉุกเฉินและปกป้องมหาสมุทรของเราจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในปี พ.ศ. 2573 – ตามคำเตือนของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส
ในขณะที่มีความคืบหน้าบ้างตั้งแต่การประชุมสหประชาชาติด้านมหาสมุทรครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2560 ซึ่งทางองค์การการค้าโลก (WTO) ตกลงที่จะยุติเงินอุดหนุนการประมงที่ผิดกฎหมาย แต่ความหวังกำลังจางหายไปสำหรับสนธิสัญญามหาสมุทรโลกที่รอคอยมานานที่จะปกป้องชีวิตทางทะเลในทะเลหลวง
[ทะเลหลวง (High seas) หมายถึง ทะเลที่ไม่ใช่น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐใด ทั้งนี้ ในทะเลหลวง รัฐทั้งปวงมีเสรีภาพในการเดินเรือ การบินผ่าน การวางสายเคเบิล และท่อใต้ทะเล รวมทั้งเสรีภาพในการทำประมง เสรีภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น]
ในเดือนมีนาคม ซึ่งเข้าสู่การเจรจารอบที่สี่แล้ว บรรดาผู้นำโลกล้มเหลวอีกครั้งในการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการสร้าง ‘พิมพ์เขียว’ เพื่อป้องกันทะเลหลวงจากการแสวงประโยชน์จากมนุษย์ เมื่อถามถึงสิ่งที่ทำให้สนธิสัญญาปกป้องมหาสมุทรของเราล่าช้า เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวโทษถึง ‘ความเห็นแก่ตัว’ ของประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกับที่มีการประชุม นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายร้อยคนได้เข้าร่วมการประท้วงนอกประชุมสหประชาชาติด้านมหาสมุทร เพื่อบอกผู้นำว่าพวกเขาล้มเหลวในการปกป้องมหาสมุทรของเรา
กรีนพีซ เตือนว่าหากไม่มีสนธิสัญญาที่มีผลบังคับใช้ในทันทีก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปกป้องมหาสมุทรได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2573
ตามรายงานจของกรีนพีช ระบุว่า รัฐบาลของสหประชาชาติเพิ่งล้มเหลวในการตกลงในสนธิสัญญามหาสมุทรโลก ซึ่งสามารถปูทางไปสู่การปกป้องน่านน้ำสากล
วิลล์ แมคคัลลัม จากโครงการรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรของกรีนพีซ กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนว่ามหาสมุทรของเราอยู่ในภาวะวิกฤต และหากเราไม่ทำสนธิสัญญามหาสมุทรโลกที่เข้มแข็ง ซึ่งเราต้องการในปี พ.ศ. 2565 ก็จะไม่มีทางที่จะสร้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำในน่านน้ำสากลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขนาด 30×30 นั้นได้ สนธิสัญญานี้มีความสำคัญเนื่องจากเราทุกคนพึ่งพามหาสมุทร ตั้งแต่ออกซิเจน ไปจนถึงการดำรงชีวิต และความมั่นคงด้านอาหารที่มหาสมุทรจัดหาให้เรา
“การเจรจาที่สหประชาชาติ ดำเนินไปอย่างรวดเร็วในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และการขาดข้อตกลงในประเด็นสำคัญหลายประการ ไม่ได้สะท้อนถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ การสลายตัวของสภาพอากาศกำลังเปลี่ยนมหาสมุทรของเรา ประชากรสัตว์ป่าลดลง และในขณะที่การประมงเชิงอุตสาหกรรมทำให้ทะเลแห่งชีวิตว่างเปล่า ชุมชนชายฝั่งทะเลทั่วโลกต่างมองว่าการดำรงชีวิตและความมั่นคงด้านอาหารของพวกเขาถูกคุกคาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สมมุติฐาน มหาสมุทรของเราอยู่ในภาวะวิกฤตในขณะนี้ และต้องการแผนกู้ภัยโดยฉุกเฉิน”
ลอร่า เมลเลอร์ จากโครงการรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรของกรีนพีซ กล่าวว่า ผู้นำของเราล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะปกป้องมหาสมุทร ขณะที่รัฐบาลต่างๆ ยังคงกล่าวถ้อยคำดีๆ เกี่ยวกับการปกป้องมหาสมุทร เช่นเดียวกับที่กำลังทำในลิสบอน แต่ฉลามหลายล้านตัวยังคงถูกฆ่าโดยเรือจากสหภาพยุโรปทุกปี โลกต้องมองผ่านความหน้าซื่อใจคดของพวกเขา
สำหรับประเทศไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ขึ้นกล่าวแสดงบทบาทและท่าทีของประเทศ โดยได้แสดงคำมั่นว่าประเทศไทยจะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการทะเลและมหาสมุทรของโลก พร้อมเชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการดำเนินงานด้านมหาสมุทรมีความก้าวหน้าอย่างมากทั้งงานด้านการอนุรักษ์ งานด้านการป้องกัน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
โดยนายวราวุธได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทะเลและเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ประเทศภาคีสมาชิกได้ตั้งใจไว้
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์การอนุรักษ์ทะเลของไทย เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน ชาวประมงพื้นบ้าน สมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จาก 23 จังหวัด ตลอดทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จัดกิจกรรมล่องเรือทางไกล “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” หยุดจับ-ขาย-ซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน จากปัตตานีได้เดินทางมาถึงกรุงเทพ โดยมีเป้าหมายที่จะไปที่รัฐสภาสัปปายะสภาสถาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องตัวแทนรัฐบาลเร่งบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ให้กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อยุติการตัดวงจรชีวิตสัตว์ทะเล พร้อมกำหนดโควตาที่เป็นธรรมในการจับสัตว์น้ำ
นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ระบุว่า กระบวนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย กำลังส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศ ต่อชุมชนชายฝั่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงอาหารทะเลได้น้อยลง
ในสถานการณ์ที่ทั้งโลกกำลังขาดแคลนอาหาร เรากลับปล่อยให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ซื้ออาหารคุณภาพในราคาที่แพงขึ้นๆ ทั้งที่เรามีอาหารทะเลจำนวนมากมายมหาศาล แต่กำลังจะกลายเป็นอาหารที่มีราคาสูงจนผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางไม่สามารถเข้าถึงได้
“วันนี้เราเห็นกันแล้วว่า การจับ การซื้อ การขาย การบริโภค ‘สัตว์น้ำวัยอ่อน’ ได้ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาทต่อปี ทำร้ายชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กหลายแสนคนที่จะมีรายได้เลี้ยงชีพ ที่สำคัญคือ เป็นการทำลายโอกาสของประชาชนคนเล็กคนน้อยทั่วประเทศที่จะได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ด้วยการปล่อยให้มีการนำ ‘อาหารทะเล’ น้ำหนักมากกว่า 300,000,000 กิโลกรัม (สามร้อยล้านกิโลกรัม) ถูกป่นในราคาถูกๆ โดยผลประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมประมงและกลุ่มประกอบการอาหารสัตว์เท่านั้น”
อ้างอิง
- UN Ocean Conference: Guterres Declares ‘Emergency’ And Accuses Nations of Egoism Over Missed Treaty
- กฎหมายทะเล
- As governments fail to agree Global Ocean Treaty, Greenpeace ship encounters armada of fishing vessels on high seas
- Greenpeace activists protest against leaders’ inaction outside UN Ocean Conference
- การประชุมสหประชาชาติด้านมหาสมุทร ค.ศ. 2022 (2022 United Nations Ocean Conference)
- ‘ทวงคืนน้ำพริกปลาทู’ – ความหวังในใจของประมงพื้นบ้าน
- ภาพเปิดเรื่อง National Oceanic and Atmospheric Administration
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม