24 มิถุนายน 2564 สมาคมอุทยานแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์เรื่องคัดค้าน “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
.
ใจความสำคัญของแถลงการณ์ชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่ไม่ควรสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ผ่านมิติต่างๆ เช่น นโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ป่า และระบบนิเวศ ที่ไม่สมควรถูกเปลี่ยนแปลง
โดยใจความตอนหนึ่ง อธิบายว่า ในบริเวณผืนป่าภาคตะวันออกที่เป็นเอกลักษณ์และความสมบูรณ์ ทั้งพืชอาหาร แหล่งดินโป่ง น้ำซับ ที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยการตัดขาดพื้นที่และลักษณะทางภูมิประเทศของเส้นทางหากินและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าออกไปสิ้นเชิง ซึ่งรองรับการอยู่อาศัยในรอบปีของสัตว์ป่าที่สำคัญ คือ ช้างป่า กระทิง วัวแดง หายไป
พร้อมมีข้อเสนอแนะว่า ต้องทำการศึกษาเพื่อบริหารจัดการลุ่มน้ำตามกำลังการผลิตน้ำจากผืนป่าธรรมชาติ โดยเน้นเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้ป่าสามารถตอบสนองการให้น้ำตามธรรมชาติ รวมถึง พิจารณาทางเลือกโดยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก หรือระบบอ่างพวงตามแนวพระราชดำริ ภายนอกพื้นที่ป่า
ทั้งนี้ สมาคมอุทยานแห่งชาติ ได้ย้ำในตอนท้ายของแถลงการณ์ว่า
การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่เตรียมการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ของกรมชลประทานภายในเขตอุทยานแห่งชาติ จำเป็นต้องยุติการดำเนินการและการเข้าไปคุกคามต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศโดยทันที
อ่านแถลงการณ์ สมาคมอุทยานแห่งชาติ เรื่องคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
.
ตามที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐฐาล และผ่านระบบ VDO Conference ณ ห้องประชุม ชั้น 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี นั้น
สมาคมอุทยาแห่งชาติ ขอคัดค้านการอนุมัติให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ที่จะสร้างอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนช่อง จำนวน 7,097 ไร่ และอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี จำนวน 7,503 ไร่ โดยมีข้อเสนอแนะในการดำเนินการเพื่อการบริการจัดการลุ่มน้ำวังโตนดอย่างมีส่วนร่วม อย่างจริงจัง และเหมาะสมดังนี้
1. ตามนโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติ (Park Policy) และนโยบายอนุรักษ์ ที่เป็นหลักการทางวิชาการที่ถูกต้อง และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564 นโยบายด้านการป้องกันทรัพยากรมีเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการเพื่อป้องกันทรัพยากรและคุณค่าความสำคัญ ของอุทยานแห่งชาติไว้ให้ได้ ได้กำหนดนโยบายในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติไว้ว่า พื้นที่ที่จะเพิกถอนความเป็นอุทยานแห่งชาติได้จะต้อง เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญด้านการอนุรักษ์ต่ำ และจะต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญในการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหรือแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ กรณีหากมีการพัฒนาสิ่งก่อสร้างใดๆ ต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศ และต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณค่า และความมั่นคงสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาตินั้น ดังนั้น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จึงไม่ควรอยู่ในพื้นที่อุทยานเขาสิบห้าชั้น
2. คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ จะต้องไม่อนุญาตหรือไม่ยินยอมให้มีกิจกรรมที่สร้างผลกระทบ ในระดับรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติ และหมายรวมถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จนทำให้เกิดความเสียหายจนยากที่จะฟื้นคืน
3. ลักษณะภูมิประเทศป่าในที่ราบ (Lowland Forest) พื้นที่สำคัญ (Core Area) ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ (Keystone resources) พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น มีทรัพยากรทางชีวภาพค่อนข้างเปราะบาง และมีความโดดเด่นเฉพาะ (Unique) ของระบบนิเวศป่าดิบชื้นที่ราบต่ำที่เป็นตัวแทนและการเชื่อมต่อระบบนิเวศป่าไม้ที่หาได้ค่อนข้างยาก
4. พื้นที่ถัดไปจากที่ราบ เป็นพื้นที่สูงชัน โดยไม่เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ สามารถคาดการณ์ได้สัตว์ป่าจะออกไปใช้พื้นที่ด้านนอกพื้นที่คุ้มครอง เพิ่มผลกระทบ ความขัดแย้ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ป่าในพื้นที่ราบเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของช้างป่า และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในบริเวณผืนป่าภาคตะวันออกที่เป็นเอกลักษณ์และความสมบูรณ์ ทั้งพืชอาหาร แหล่งดินโป่ง น้ำซับ ที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยการตัดขาดพื้นที่และลักษณะทางภูมิประเทศของเส้นทางหากินและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าออกไปสิ้นเชิง ซึ่งรองรับการอยู่อาศัยในรอบปีของสัตว์ป่าที่สำคัญ คือ ช้างป่า กระทิง วัวแดง หายไป
5. พื้นที่ที่เสนอจะสร้างอ่างเก็บน้ำ ภายในอุทยานแห่งชาติน้ำตกเขาสิบห้าชั้นเป็นแหล่งอาศัยหลักของช้างป่า และยังมีโอกาสฟื้นฟูเพื่อรองรับประชากรช้างป่าได้อีกเป็นจำนวนมาก ช้างป่าเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ Endangered species ตามบัญชี IUCN การเปลี่ยนสภาพพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำ เป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่าอย่างสิ้นเชิง
6. การเปลี่ยนสภาพพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำ จะเพิ่มโอกาสช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแนวทางการแก้ปัญหาคนกับช้างป่าที่ตั้งเป้าหมายไว้
7. จะต้องทำการศึกษาเพื่อบริหารจัดการลุ่มน้ำตามกำลังการผลิตน้ำจากผืนป่าธรรมชาติ โดยเน้นเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้ป่าสามารถตอบสนองการให้น้ำตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ต้องไม่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยเด็ดขาด
8. พิจารณาทางเลือกโดยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก หรือระบบอ่างพวงตามแนวพระราชดำริ ภายนอกพื้นที่ป่า โดยพิจารณาใช้เทคนิคการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
9. การนำเสนอโครงการพัฒนาใดๆ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่มีความสำคัญทุกแห่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน อีกจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง และจริงใจ ไม่กระทำการลัดขั้นตอนแบบนี้อีก
10. ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามเจตนารมย์ ในมาตรา 8 ในการขอเพิกถอนเพื่อการพัฒนา สิ่งก่อสร้าง เช่น เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ จะต้องทำการพิจารณาโดยให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน และต้องมีอิสระในการให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งควรทำประชาวิจารณ์เพื่อถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะต้องให้หน่วยงานที่เป็นกลาง เช่น สถาบันทางวิาการที่น่าเชื่อถือเป็นผู้ดำเนินการ จะต้องไม่ให้กรมชลประทาน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมได้เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะมีความลำเอียง เพราะมีความคิดที่จะก่อสร้าง
ดังนั้น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่เตรียมการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ของกรมชลประทานภายในเขตอุทยานแห่งชาติ จำเป็นต้องยุติการดำเนินการและการเข้าไปคุกคามต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศโดยทันที
นายไพรัตน์ ธารไชย
นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ
24 มิถุนายน 2564