คัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยเครือข่ายวนเกษตรป่าตะวันออก และศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตรผู้ใหญ่วิบูลย์

คัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยเครือข่ายวนเกษตรป่าตะวันออก และศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตรผู้ใหญ่วิบูลย์

การแสดงออกเพื่อคัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เครือข่ายวนเกษตรป่าตะวันออกและศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตรผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นอีกกลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ได้ออกแถลงการณ์ ขอคัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี

ทางเครือข่ายฯ ในฐานะกลุ่มที่ได้ทำงานรอบป่ารอยต่อหกจังหวัดภาคตะวันออกมาโดยตลอด ระบุเหตุผลสำคัญ 5 ประเด็น ประกอบด้วย (1) อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นมีพื้นที่ขนาดเล็ก จึงไม่ควรทำให้พื้นที่ที่มีอย่างจำกัดได้ลดน้อยลงไปอีก และป่าสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้มากกว่าเรื่องน้ำ

(2) ควรพัฒนาอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่ให้ใช้การได้ดีเสียก่อน เช่น เช่น อ่างเก็บน้ำประแกตที่สร้างเสร็จมา 4 ปีแล้วยังไม่มีการกระจายน้ำอย่างเป็นธรรม หรือวางระบบโครงข่ายเพื่อผู้ใช้น้ำในบริเวณโดยรอบอ่างเก็บน้ำเลย

(3) ให้เลิกอ้างว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำให้ชาวสวนผลไม้จังหวัดจันทบุรีจะได้ประโยชน์จากการใช้น้ำ ทำให้ผู้คนในสังคมมองเห็นว่าชาวสวนผลไม้จันทบุรีเป็นกลุ่มคนที่เห็นแก่ตัว ยอมทำลายผืนป่าอนุรักษ์ได้เพื่อให้ตัวเองมีน้ำใช้

(4) ควรดูแลกลุ่มเกษตรกรคือผู้เสียสละและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ และ (5) ขอให้เลิกสร้างสังคมตัวแทนจากกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากหน่วยงานรับผิดชอบในการสร้างอ่างเก็บน้ำในทุกพื้นที่ที่ผ่านมา เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เคยได้เสียสละหรือได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำเลย มีแต่ได้กับได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้เมื่อมีผู้เห็นต่าง

ทางเครือข่ายฯ ยังแถลงเพิ่มเติมว่า เห็นด้วยกับการสร้างอ่างเก็บน้ำนอกพื้นที่อนุรักษ์ ในส่วนป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในการครอบครองของเอกชนอยู่แล้ว แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำและการกระจายน้ำอย่างเป็นธรรม และให้นำผลงานวิจัยที่มีจากหน่วยงานหรือองค์กรภาคประชาสังคมที่มีผลการศึกษาถึงการลดความขัดแย้งในการจัดการน้ำภาคตะวันออกมาใช้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันของคนในพื้นที่

อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม

เรื่อง ขอคัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรีในส่วนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น 7500 ไร่

สืบเนื่องจากทางเครือข่ายวนเกษตรป่าตะวันออกและศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตรผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมได้ทำงานในพื้นที่รอบป่ารอยต่อหกจังหวัดภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี กิจกรรมที่สำคัญที่ทำให้เรามีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดโดยเฉพาะในการใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น คือ การเดินธรรมยาตราเพื่อผืนป่าตะวันออกอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปีล่าสุด พ.ศ. 2563 ได้เดินจากอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นและลัดเลาะพบปะพูดคุยกับผู้คนในระหว่างเส้นทางเดินในทุกอ่างเก็บน้ำที่มีในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จึงขอแสดงเหตุผลในการคัดค้านและออกแถลงการณ์ ดังนี้

1. อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นมีพื้นที่ขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติอื่นๆในพื้นที่ใกล้เคียง จึงไม่ควรทำให้พื้นที่ที่มีอย่างจำกัดได้ลดน้อยลงไปอีก และป่าที่มีอยู่ยังสามารถให้ประโยชน์กับคนในพื้นที่ในด้านอื่นๆ ได้อีก ที่ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำอย่างเดียว ถึงแม้จะเป็นป่าที่ฟื้นตัวจากการให้สัมปทานป่าไม้ในอดีต ยกเว้นมีวาระซ่อนเร้นในเรื่องอื่น

2. ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปทำให้อ่างเก็บน้ำที่สร้างเสร็จแล้วได้มีน้ำให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ได้มีน้ำใช้ ดังเหตุผลในการขอสร้างอ่างเก็บน้ำก่อนให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์ เช่น อ่างเก็บน้ำประแกตที่สร้างเสร็จมา 4 ปีแล้วยังไม่มีการกระจายน้ำอย่างเป็นธรรม หรือวางระบบโครงข่ายเพื่อผู้ใช้น้ำในบริเวณโดยรอบอ่างเก็บน้ำเลย ยกเว้นผู้ที่อยู่ด้านล่างของอ่างเก็บน้ำและใกล้ลำน้ำตามธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดจากการวางโครงข่ายของหน่วยงาน แต่กับมีการวางโครงข่ายท่อส่งน้ำไปลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ในพื้นที่จังหวัดระยอง และกำลังจะก่อสร้างท่อส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำในจังหวัดอื่นอีก แต่กับไม่มีการวางโครงข่ายเพื่อเกษตรกรชาวสวนผลไม้ดังกล่าวอ้างไว้ โดยเฉพาะชุมชนด้านข้างและอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำเลย

3. ขอให้เลิกใช้คำกล่าวอ้างว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาตินี้ ชาวสวนผลไม้จังหวัดจันทบุรีจะได้ประโยชน์จากการใช้น้ำ ทำให้ผู้คนในสังคมมองเห็นว่าชาวสวนผลไม้จันทบุรีเป็นกลุ่มคนที่เห็นแก่ตัว ยอมทำลายผืนป่าอนุรักษ์ได้เพื่อให้ตัวเองมีน้ำใช้ เพราะในความเป็นจริงแล้วเฉพาะการใช้พื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติจำนวน 7000 ไร่ก็ย่อมเพียงพอต่อชาวสวนผลไม้ดังกล่าวอ้างได้ เมื่อคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่รับน้ำของชาวสวนผลไม้ที่ไม่ใช่ทั้งจังหวัด

4. ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีความจริงใจในการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเกษตรกรให้มากกว่าเดิม ทั้งที่กลุ่มเกษตรกรคือผู้เสียสละและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องเดิมอพยพไปหาที่ใหม่ ต้องใช้เวลาในการก่อร่างสร้างตัวให้ได้ดังเดิม แต่กับไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานรับผิดชอบเลย โดยเฉพาะการยอมเสียสละเพื่อให้ได้มีน้ำไว้ใช้แต่กับไม่ได้ใช้น้ำที่มีอยู่แต่อย่างใด

5. ขอให้เลิกสร้างสังคมตัวแทนจากกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากหน่วยงานรับผิดชอบในการสร้างอ่างเก็บน้ำในทุกพื้นที่ที่ผ่านมา ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เคยได้เสียสละหรือได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำเลย มีแต่ได้กับได้ จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องออกมารักษาผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้เมื่อมีผู้เห็นต่างไปจากตนจนทำให้เสียผลประโยชน์ที่จะได้รับ

ข้อเสนอต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดในครั้งนี้คือ เห็นด้วยต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำในครั้งนี้เฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ซึ่งอยู่ในการครอบครองของเอกชนอยู่แล้วและต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำและการกระจายน้ำอย่างเป็นธรรม ซึ่งรวมไปถึงอ่างเก็บน้ำเดิมอีก 3 อ่างด้วยคืออ่างเก็บน้ำประแกต อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และให้นำผลงานวิจัยที่มีจากหน่วยงานหรือองค์กรภาคประชาสังคมที่มีผลการศึกษาถึงการลดความขัดแย้งในการจัดการน้ำภาคตะวันออกมาใช้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันของคนในพื้นที่

การแสดงออกด้วยการออกแถลงการณ์ของเราเป็นการแสดงออกด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝงซ่อนเร้นและเราคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่ออนาคตของพวกเราทุกคน ดังคำกล่าวของมหาตมะ คานธีที่ว่า โลก…มีทรัพยากรที่จะแบ่งปัน ให้แก่…พวกมนุษย์ทุกคน…ที่จําเป็น แต่…ไม่มีพอที่จะสนองความโลภ…ของคน…แม้คนเดืยว….

จาก เครือข่ายวนเกษตรป่าตะวันออก และศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตรผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม