หลังจากเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ตัวแทนชุมชนบ้านพุระกำและหนองตาดั้ง ที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ขอให้กรมชลประทานยุติโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาตั้ง เนื่องจากหากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ชาวปกาเกอะญอ บ้านพุระกำและหนองตาดั้งบางส่วน ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี จะต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่ทั้งหมู่บ้าน
ซึ่งชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มเดียวกันกับชุมชนบางกลอย ที่ถูกอพยพจากใจแผ่นดิน ปัจจุบัน ชุมชนพุระกำและหนองตาดั้งได้ใช้เวลาปรับตัวหลายปี จนมีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว แต่อาจต้องถูกอพยพอีกครั้งเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง
โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง นอกจากส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม จำนวน 86 ครัวเรือน ทำให้สูญเสียที่ดินทำกินประมาณ 500 ไร่แล้ว พื้นที่อ่างเก็บน้ำยังอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะต้องถูกน้ำท่วมอีกประมาณ 1,500 ไร่ รวมแล้วพื้นที่ที่ต้องถูกน้ำท่วมทั้งหมดกว่า 2,000 ไร่
ซึ่งชาวชุมชนพุระกำทั้งหมดได้แสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านอ่างเก็บน้ำดังกล่าวนี้อย่างถึงที่สุด โดยพวกเขาเห็นว่าโครงการนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชุมชนแล้ว ป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
นอกจากนี้ พวกเขามองว่าการจัดทำโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของชุมชนอย่างทั่วถึง ทั้งยังเห็นว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และควรไปปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ จะใช้งบประมาณน้อยกว่า และแก้ไขปัญหาได้จริง
โดยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้แทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่บ้านหนองตาดั้งและบ้านพุระกำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนดังกล่าวข้างต้น ตามสิทธิที่พึงมีของชุมชน ในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 43 ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมเชื่อมโยงกับประเด็นการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมในโครงการ หน้าที่ของรัฐ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 รวบรวมและรับฟังข้อเท็จจริงในพื้นที่และประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนชุมชนบ้านพุระกำ บ้านหนองตาตั้ง และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเข้าร่วมให้ข้อมูลในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ หากมีการประมวลข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้วและพบว่ามีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามฐานสิทธิ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะส่งคำวินิจฉัย เสนอมาตรการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
เรื่อง อรยุพา สังขะมาน