เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ ออกแถลงการณ์และหนังสือขอคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่
ถึง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมชลประทาน และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยมีเนื้อหาแถลงการณ์ดังนี้
จากข่าวโครงการอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ที่จะถูกก่อสร้างขึ้นในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่ ทั้ง 7 แห่ง กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ ซึ่งมีรายชื่อที่แนบท้าย ขอคัดค้านโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่ง ดังกล่าวด้วยเหตุผลดังนี้
รัฐบาลไทยในอดีตที่ผ่านมาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และคงความหลากหลายทางชีวภาพ จึงได้ประกาศจัดตั้งผืนป่าเขาใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง ในบริเวณดงพญาเย็นของเทือกเขาพนมดงรัก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาได้มีการประกาศเพิ่มเติมให้ผืนป่าทับลาน ปางสีดา ตาพระยา เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา รวมทั้งประกาศให้ป่าดงใหญ่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับป่าทับลาน ปางสีดา และตาพระยาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่อีกด้วยซึ่งผืนป่าแห่งนี้ถูกขนานนามว่า “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” เนื่องจากป่ามีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศตามธรรมชาติขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ และในปี 2548 ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
การที่ผืนป่ามีความต่อเนื่องกันขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการต่อท้องถิ่น ประเทศ และภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลก ยังสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสากล ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ไว้ซึ่งมรดกทางธรรมชาติของชาวโลก ทั้งนี้ประเทศไทยยังลงนามใน อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทั้งชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ที่มีพันธะสัญญาอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยกลับกำลังมีนโยบายทำลายผืนป่าขนานใหญ่ โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติของคนทั้งโลกถึง 7 แห่ง พยายามตัดขาดผืนป่าออกจากกันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศที่เป็นบ้านของสัตว์ป่า และทำให้สายน้ำไหลที่หล่อเลี้ยงคนอีกหลายจังหวัดต้องหยุดนิ่งและเสื่อมคุณภาพดังที่เกิดขึ้นในอ่างเก็บน้ำใกล้เคียงในพื้นที่ ทั้งๆ ที่รัฐบาลเคยทุ่มทุนหลายพันล้านบาท พยายามจะเชื่อมผืนป่าให้สัตว์ป่าโดยการสร้างคอริดอร์ก็ตามที แต่กลับกำลังฝังกลบนโยบายของตัวเองในนามของคำว่าพัฒนา
กลุ่มป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกยกย่องให้มีความสำคัญระดับโลกฉะนั้นการรับฟังความคิดเห็นควรจะเปิดกว้างให้เป็นสาธารณะไม่ใช้การจัดเวทีแบบความลับเชิญเฉพาะกลุ่ม มรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่เป็นของคนไทยทุกคน ฉะนั้นควรรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนผ่านเวทีสาธารณะต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ไม่ใช่การตัดสินใจจากกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผืนป่าแห่งนี้ ไม่ใช่มีแต่เพียงประชาชนในพื้นที่ที่อยู่รอบพื้นที่ได้ประโยชน์ แต่ยังมีประชาชนพื้นที่อื่นๆ ได้รับผลพลอยได้จากการเป็นพื้นที่อนุรักษ์สำคัญของประเทศ ฉะนั้นการเข้ามาทำโครงการที่มีผลกระทบโดยตรงกับพื้นที่จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจในพื้นที่รอบมรดกโลกฯ และพื้นที่ใกล้เคียง
ทางออกที่สำคัญที่สุด คือการแก้ปัญหาด้วยองค์ความรู้ต่างๆ ที่ไม่ต้องเข้าไปสร้างในพื้นที่อนุรักษ์สำคัญ ซึ่งในปัจจุบันมีนวัตกรรมมากมาย ที่สามารถนำมาเลือก และไม่เกินความสามารถของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่ประชาชนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และไม่ต้องเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก
เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ จึงขอแสดงเจตนาและยืนหยัดที่จะคัดค้าน และจะติดตามความคืบหน้าโครงการทั้ง 7 โครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อปกป้องพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ผืนสุดท้ายใจกลางประเทศไม่ให้ถูกทำรายเพิ่มเติมอีกต่อไป
“ขอพื้นที่ให้ป่าไม้และสัตว์ป่า – ขอการจัดการน้ำทางเลือกให้กับประชาชน”
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่
1. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี จ.นครนายก จ.นครราชสีมา
2. ชมรมคนรักษ์สัตว์ป่า จ.นครนายก
3. กลุ่มค.คนทำทาง จ.นครนายก
4. กลุ่มเยาวชนต้นกล้า จ.นครนายก
5. กลุ่มใบไม้ จ.นครนายก
6. กลุ่มเยาวชนลูกมะปราง จ.สระบุรี
7. กลุ่มเพื่อนทับลาน จ.ปราจีนบุรี
8. กลุ่มผ้าเขาม้าติ่งป่า จ.ปราจีนบุรี
9. กลุ่มรักษ์กระทิงเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
10. ชมรมฮักเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
11. กลุ่มไม้ขีดไฟ จ.นครราชสีมา
12. กลุ่มไผ่หนาม จ.นคคราชสีมา
13. กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า บ้านวังหมี จ.นครราชสีมา
14. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อนุรักษ์สัตว์ป่าวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
15. กลุ่มเนเจอร์แค้มป์อาสา กรุงเทพฯ
16. มูลนิธิเพื่อนบูรพา กรุงเทพฯ
17. เครือข่ายเพื่อสัตว์ป่า