เครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ แถลงคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

เครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ แถลงคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

แถลงการณ์คัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด และโครงการอ่างเก็บน้ำอื่นใดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
.

อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าตะวันออก ซึ่งเป็นแนวป่าเชื่อมต่อระบบนิเวศที่สำคัญระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัย และเพิ่มพูนประชากรของสัตว์ป่า พื้นที่อุทยานส่วนใหญ่เป็นป่าลุ่มต่ำและบางส่วนเป็นที่ราบสูง ประกอบด้วยสังคมพืชที่เป็นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า และป่าฟื้นฟู ลักษณะโปร่งไม่รกทึบเช่นนี้เหมาะแก่สัตว์สำหรับใช้ในการหากิน ถือเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ผืนป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความชุ่มชื้น ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล อันนำมาซึ่งน้ำท่าที่บริบูรณ์ และช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์โลกรวน (Climate Crisis) ที่มีผลให้สภาพอากาศแปรปรวนยากต่อการพยากรณ์ ที่ทำให้ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติรุนแรงที่ยากต่อการรับมือมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ไม่เห็นด้วยกับการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใดๆ อันได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เรามีข้อเสนอต่อการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โครงการอ่างเก็บน้ำอื่นใดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก ดังนี้

1. แทนที่จะมีโครงการอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะเป็นการทำลายป่าต้นน้ำลงอย่างถาวร

เราขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณายกเลิกโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด และหันมาฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลอันจะนำมาซึ่งน้ำท่าที่บริบูรณ์

2. เพื่อสร้างสมดุลให้เกิดกับทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด

เราขอให้การบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก เพราะการเพิ่มความต้องการใช้น้ำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ย่อมจะเป็นการเพิ่มปัญหาการแย่งชิงน้ำให้หนักขึ้น เป็นตัวเร่งให้เกิดความล่มสลายของระบบนิเวศ

3. เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เราขอให้รัฐสนับสนุน/ส่งเสริมให้มีโครงการแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดเล็กมากกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น เพื่อรับน้ำในยามที่ฝนตกชุกและเพื่อบรรเทาในช่วงแล้ง และให้ผู้ใช้น้ำได้มีแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ของตนเองทั้งภาคเกษตรกรรม ชุมชน พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม รวมถึงมีระบบโครงข่ายเชื่อมโยงน้ำที่มีประสิทธิภาพ

เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก

9 สิงหาคม 2564