สรุปสาระสำคัญจากเวทีเสวนา “เขื่อนแม่โขง ค่าไฟ,ใครต้องการไฟฟ้า” 

สรุปสาระสำคัญจากเวทีเสวนา “เขื่อนแม่โขง ค่าไฟ,ใครต้องการไฟฟ้า” 

โครงการการก่อสร้างเขื่อนหลายแห่งในพื้นที่แม่น้ำโขง นับเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งอันไม่สิ้นสุดระหว่างคนในพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อน เมื่อไม่นานมานี้ โครงการเขื่อน 3 โครงการ ประกอบไปด้วย ปากแบง หลวงพระบาง และปากลาย พึ่งจะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการทำสัญญา Power Purchase Agreement กับผู้พัฒนาโครงการ นี่จึงถือเป็นใบเบิกทางในการดำเนินโครงการเขื่อนทั้ง 3 ให้สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้  

การอนุมัติของรัฐบาลในครั้งนี้ นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ เนื่องจาก ไฟฟ้าสำรองภายในประเทศนั้นมากกว่าที่กำหนดของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ประกอบกับประเด็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา หากโครงการเขื่อนทั้ง 3 เดินหน้าต่อไป

จากสถานการณ์ดังกล่าว สำนักข่าว Bangkok Tribune ร่วมกับ SEA-Junction และองค์กรพันธมิตร จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “เขื่อนแม่โขง, ค่าไฟ, ใครต้องการไฟฟ้า?” ขึ้น เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง และผลกระทบที่เกิดขึ้นหากเขื่อนเหล่านี้ดำเนินการก่อสร้างสำเร็จ โดยมีคุณวิภาพร วัฒนวิทย์ ผู้ช่วยบรรณาธิการรายการ Backpack Journalist และผู้ประกาศข่าว Thai PBS ดำเนินเวทีเสวนาในครั้งนี้ 

ในช่วงแรกของการเสวนาอาจารย์ เดชรัต สุขกำเนิด ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan / PDP) โดย PDP คือ แผนการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่หรือรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าภายในประเทศ 

อาจารย์เดชรัตเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงความสมดุลระหว่างความมั่นคงของระบบไฟฟ้ากับต้นทุนค่าไฟ โดยถ้าเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินไป ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น กลับกันถ้ากำลังการผลิตสำรองน้อย ก็อาจเสี่ยงไฟฟ้าดับได้ 

โดยยกตัวอย่างกรณีของความต้องการไฟฟ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้ใช้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอ้างในการซื้อไฟฟ้าเพิ่ม กล่าวคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 8,335 เมกะวัตต์ แต่ในแผน PDP ช่วงปี 2569-2580 ได้มีการสั่งซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ โดยอ้างว่าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท้ายที่สุดแล้วภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 16,302 เมกะวัตต์ คิดเป็น 95% ของกำลังการผลิตสำรองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงนำไปสู่การตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของรัฐบาลว่า 

“ทำไมรัฐถึงอนุมัติซื้อไฟฟ้าเพิ่ม ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้ไม่เพียงแค่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่รวมถึงทั่วประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเพียงพอต่อความต้องการของประชากร”

ถัดมา คุณฉวี วงศ์ประสิทธิพร ตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มาให้ข้อมูลในหัวข้อ “การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงและขั้นตอนตามข้อตกลงของประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง” โดยคุณฉวีได้ใช้ “ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement/ PNPCA)” เพื่ออธิบายขั้นตอนการดำเนินการก่อนที่โครงการการก่อสร้างเขื่อนจะดำเนินการได้ โดยการจะก่อสร้างเขื่อนหรือพัฒนาโครงการใดใดก็ตามในเขตลุ่มน้ำโขงจำเป็นต้องผ่านกระบวนการ PNPCA ก่อน  

ความตกลง PNPCA เป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าก่อนที่จะจัดการหรือดำเนินการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงใน 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (เมียนมาร์ ไทย ลาว และกัมพูชา) ทั้งนี้ความตกลงดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แต่ละประเทศมีสิทธิ์ที่จะพูดคุยกันถึงข้อกังวลด้านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว  โดยความตกลง PNPCA มีบทบาทในการแบ่งปันข้อมูล และร่วมกันกําหนดมาตรการในการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีความตกลงนี้ไม่ใช่กฎหมาย ดังนั้นมันจึงไม่สามารถที่จะยับยั้งการดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้ 

ต่อมา คุณศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎร ได้มาพูดถึงประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย คุณศิริกัญญาชี้ให้เห็นในกรณีของทั้ง 3 เขื่อน ค่าไฟที่รับซื้อสูงขึ้นมาถึง 2.60 – 2.90 ซึ่งแย้งกับคำกล่าวของรัฐบาลที่ว่าค่าไฟจะถูกลงหากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มากขึ้น อีกข้อคำถามที่คุณศิริกัญญาได้ถามต่อคือ คำกล่าวอ้างในการบรรลุนโยบาย Net Zero ผ่านการซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าเพิ่ม เราก็สามารถบรรลุนโยบายดังกล่าวได้ 

ถัดมา คุณส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนแม่น้ำโขงและความขัดแย้งกับภาคประชาชน ผ่านมุมมองทางด้านกฎหมาย โดยได้ยกคดีการฟ้องร้องของภาคประชาชนกับกฟผ.ที่เขื่อนไซยะบุรีมากล่าวถึงเป็นกรณีศึกษา ซึ่งท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลกล่าวว่าไม่มีผู้เสียหายจากสัญญาซื้อไฟดังกล่าว 

อย่างไรก็ดีผลการตัดสินในครั้งนั้นก็ได้นำไปสู่การทราบข้อเท็จจริงที่ว่าการจะเซ็นสัญญาซื้อไฟได้นั้นจำเป็นต้องผ่านกระบวนการ PNPCA เสียก่อน นั่นจึงทำให้คุณ ส. รัตนมณีตั้งคำถามต่อว่า โครงการเขื่อนเหล่านี้ผ่านกระบวนการ PNPCA มาจริงหรือไม่ โดยแฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงของภาครัฐด้วย ซึ่งหลายครั้งกระบวนการรับฟังไม่ได้ครอบคลุมทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน 

ผู้ร่วมเสวนาท่านสุดท้าย คุณนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและผู้รับรางวัล 2022 Goldman Environment Prize ได้กล่าวว่าการสร้างเขื่อนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของพลังงานเพียงอย่างเดียว ทว่ามันกลับเป็นเรื่องของการลงทุน เงิน และกำไรต่าง ๆ เพราะเห็นได้ ชัดว่าประเทศเราไม่ได้ต้องการพลังงานเพิ่มแล้ว แต่กลับมีเขื่อนเกิดขึ้นหรือการซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 

อีกทั้งคุณนิวัฒน์ ยังกล่าวต่อถึงสิ่งที่ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขงต้องเผชิญนั้น ไม่เพียงแค่การต้องแบกรับค่าไฟที่เพิ่มขึ้น แต่ยังต้องแบกรับกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ถูกทำลายจากการมีเขื่อน อาทิ ปริมาณน้ำที่แปรปรวน ตะกอนหายไป และการอพยพของปลา เป็นต้น โดยคุณนิวัฒน์ได้ยกตัวอย่างกรณีเขื่อนปากแบงที่สร้างลึกเข้าไปในพื้นที่ประเทศลาวกว่า 97 กิโลเมตร ทว่ามันก็ยังส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง ซึ่งมันทำให้น้ำในแม่น้ำนั้นเท้อ เขื่อนดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนไทย ท้ายที่สุดคุณนิวัฒน์ได้ทิ้งท้ายว่าผู้มีส่วนรับผิดชอบต้องรีบลงมาจัดการให้เร็วที่สุด ก่อนที่ปัญหาทุกอย่างจะใหญ่ไปมากกว่านี้ 

ประเด็นเรื่องเขื่อนแม่โขงเป็นประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงนั้นล้วนส่งผลกระทบต่อเราทั้งสิ้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ถึงแม้ว่าจะสร้างห่างจากแม่น้ำโขงมากเพียงใด ก็มิอาจหยุดยั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อแม่น้ำโขง ดังนั้น เราจึงต้องผลักดันประเด็นเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ