4 สิงหาคม 2564 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนโครงการอ่างเก็บน้าคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี
.
โดยระบุความเห็นทางวิชาการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ดังที่ได้เผยแพร่เนื้อไปก่อนหน้า ทั้งข้อมูลด้าน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ระบบนิเวศผืนป่าและสัตว์ป่า ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับช้างป่าและความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับช้างป่าที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้แนบรายงานสรุปผลการศึกษาวิจัยของคณะวนศาสตร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2541 – 2564 ในพื้นที่ตัวแทน ที่ตั้งอยู่ติดกับพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยข้อมูลช้างป่า สัตว์ป่ากินเนื้อ ผลตลอดจน ผลการศึกษาด้านความคิดเห็นของราษฎรที่มีต่อการแก้ไขปัญหาช้างป่า
สำหรับสาธาณชน สามารถร่วมคัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดได้ทาง คัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี พื้นที่อุทยานเขาสิบห้าชั้น
อ่าน หนังสือขอให้พิจารณาทบทวนโครงการอ่างเก็บน้าคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ฉบับเต็ม
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 / 2563 เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทาน ดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่าที่ต้องขออนุญาตใช้เพื่อก่อสร้างโครงการ ฯ รวมจำนวน 14,600 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนซ่อง จ้านวน 7,097 ไร่ นั้น
คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านวิชาการป่าไม้ ขอนำเรียนความคิดเห็นทางวิชาการของคณาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่าและการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง ถึงหลักการสำคัญ เจตนารมณ์พื้นฐานการประกาศกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทยที่มุ่งให้เกิดการคุ้มครอง บำรุง ดูแล และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ สัตว์ป่า พืชป่าประจำถิ่นที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ความโดดเด่นด้านธรณีวิทยา และ / หรือ มรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ที่อยู่ในการครอบครองของรัฐ การอำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนโดยรอบและประชาชนทั้งประเทศ โดยมีกฎหมาย ระบบการบริหารจัดการและมาตรการต่างๆ ที่สามารถคุ้มครองรักษาความเป็นธรรมชาติเดิม และขอแสดงความกังวลทางวิชาการจากโครงการจัดสร้างอ่างเก็บน้าคลองวังโตนด ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ดังนี้
1. การก่อให้เกิดสภาพการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และนโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติ (Park Policy) ที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้เห็นชอบบังคับใน พ.ศ. 2564 เพื่อรักษาทรัพยากร คุณค่าความสำคัญของอุทยานแห่งชาติไว้ให้ได้ จากการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ดังกล่าวผิดกฎหมาย และกระทบต่อนโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติ
2. การสูญเสียป่าลุ่มต่ำ พบว่าปัจจุบันบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้าคลองวังโตนด เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำในป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ซึ่งมีอาณาเขตต่อเนื่องกับพื้นที่อนุรักษ์ผืนอื่น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นพื้นที่ทรงคุณค่าทางการอนุรักษ์ตามธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่ในป่าภาคตะวันออกของประเทศไทย พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบแล้ง ที่มีความจำเพาะพื้นที่เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า และพืชพรรณที่มีสถานภาพทางการอนุรักษ์ชนิดที่ถูกคุกคามและชนิดใกล้สูญพันธุ์
3. ผลกระทบต่อการสูญเสียถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์และถูกคุกคามหลายชนิด โดยพบว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนและบริเวณอ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้น กระทบต่อช้างป่า หมาใน ลิ่นชวา ชะมดแผงสันหางดำ เสือลายเมฆ เต่าหกดำ ผลการศึกษาของคณะวนศาสตร์ ด้วยกล้องดักถ่ายภาพ พบสัตว์ป่ากินเนื้อ อย่างน้อย 14 ชนิด โดยเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าที่มีสถานภาพทางการอนุรักษ์ตาม IUCN ทั้งสิ้น จากสัตว์ป่าที่พบในบริเวณใกล้เคียงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อย่างน้อย 136 ชนิด จาก 25 วงศ์ โดยรวมถึงกระทิง วัวแดง หมีควาย หมีหมา กวางป่า เป็นต้น ในพื้นที่ก่อสร้างยังปรากฏรายงานผลการศึกษาชนิดพันธุ์พืชหายาก พืชเฉพาะถิ่น และพืชที่ถูกคุกคามอย่างน้อย 16 ชนิด 10 วงศ์ จากผลที่ดำเนินศึกษาในพื้นที่ศึกษาตัวอย่างเพียง 1,800 ตารางเมตร ยังแสดงถึงคุณค่าความโดดเด่นในการเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าและพืชป่าในพื้นที่อย่างมากมาย ดังนั้นการรักษาพื้นที่อนุรักษ์ที่มีในปัจจุบันจึงเป็นการเก็บรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ ไว้ให้อำนวยประโยชน์ตามแนวทางการอนุรักษ์ของประเทศในรูปอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
4. การสูญเสียพื้นที่อาศัยและแหล่งหากินของโขลงช้างป่า พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณคลองวังโตนดปัจจุบันเป็นที่อาศัยของช้างป่าที่สำคัญที่สุดในบริเวณตำบลขุนซ่อง และตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ภายนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำประแกดที่ในอดีตเป็นพื้นที่ราบลุ่มสมบูรณ์เป็นพื้นที่อาศัยของช้างป่า จนต้องถอยเข้าไปอาศัยตามป่าที่ยังเหลือ แต่ก็พบว่าช้างป่าก็ยังอาศัยนอกพื้นที่อนุรักษ์ ในพื้นที่เดิม รวมถึงตามหย่อมป่าพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนอกพื้นที่อนุรักษ์อีก 2 แห่งที่กำลังดำเนินการ คือ อ่างเก็บน้ำพวา และอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว ก็มีช้างป่าอาศัยอยู่ ดังนั้น พื้นที่บริเวณที่ลุ่มต่ำคลองวังโตนดในพื้นที่อนุรักษ์จึงเป็นที่มั่นสุดท้ายของประชากรช้างป่าที่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 100 ตัวในบริเวณนี้
5. การเพิ่มผลกระทบระหว่างประชาชนและช้างป่า พื้นที่บริเวณนี้ ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติช้างป่า การก่อสร้างตามโครงการทำให้ต้องสูญเสียพื้นที่ตามข้อ 4. ในประเด็นนี้ จะมีผลต่อความเป็นอยู่ของราษฎรโดยรอบเพิ่มมากขึ้น ปัญหานี้ จะผลักดันก่อให้เกิดผลกระทบระหว่างประชาชนและช้างป่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาระหว่างประชาชนกับช้างป่าได้อย่างได้ผลเท่าที่ควร
6. สภาพอ่างเก็บน้ำที่จะเกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อเส้นทางเชื่อมต่อทางนิเวศ (Ecological corridor) ของสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม ที่เดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว โดยการเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่าระหว่างป่าอนุรักษ์ 2 แห่งจะถูกตัดขาดหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งในอดีตผืนป่าตะวันออกมีอาณาเขตต่อเนื่องเชื่อมกันไปจนถึงประเทศกัมพูชา การก่อสร้างตามโครงการยิ่งทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทั้งถิ่นที่อาศัย ประชากร และพันธุกรรมสัตว์ป่าที่ยังคงเหลือโดยรวมของกลุ่มป่า
7. ข้อสังเกตในกรณีที่ไม่ชอบธรรม ทั้งเรื่องการศึกษาผลกระทบเป็นโครงการที่จัดจ้างให้ศึกษาโดยกรมชลประทานและการทำประชาพิจารณ์โดยกรมชลประทาน ซึ่งแท้จริงแล้วกระบวนการดังกล่าวควรดำเนินการโดยหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้
8. กรมชลประทานควรหารูปแบบการศึกษาและการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม และควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครองของประเทศ
คณะวนศาสตร์ มีความกังวลใจอย่างยิ่ง ตามข้อคิดเห็นทางวิชาการดังที่กล่าวมา จึงใคร่ขอให้ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาทบทวนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้าโครงการคลองวังโตนด โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาหารูปแบบและการพัฒนาแหล่งน้ำในลักษณะอื่น ๆ ที่ไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม และควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครองของประเทศ เพื่อรักษาเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 การประกาศพื้นที่คุ้มครอง และเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมต่อไป