สืบเนื่องจากวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ณ. วัดเขาโจดวัดเขาโจดมุสิการาม ชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านสามหลัง – ท่าลำไย) ได้จัดเวทีเพื่อแสดงเจตนารมณ์ ‘คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่’ ของบริษัทเขาโจดไมนิ่ง จำกัด ซึ่งได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ โดยได้รับการจดทะเบียนไว้เป็นคำขอที่ 3/2565 มีเนื้อที่ประมาณ 257 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา และคำขอดังกล่าวลงปิดประกาศเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ “คัดค้านการคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่” ดังกล่าว และจะดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย
โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม เวลา 08.30 น. ชาวบ้านหมู่ที่ 4 (บ้านสามหลัง – ท่าลำไย) ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี กว่า 50 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านคำขอประทานบัตรเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ ของบริษัท เขาโจดไมนิ่ง จำกัด ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี และศูนย์ดำรงธรรม ณ. ศาลาว่ากลางจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายเนตร์ กัญยะมาสา หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และนางสาวอารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี เข้ารับหนังสือคัดค้านดังกล่าว
นายวีรเดช สอนใจ ตัวแทนชาวบ้านได้กล่าวว่า การยื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองแร่ในวันนี้เป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมของชาวบ้าน ที่ไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ในบริเวณเขตพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร โดยชุมชนมีข้อกังวลว่าหากมีการทำเหมืองแร่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม และเป็นการทำตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย โดยการยื่นหนังสือคัดค้านคำขอประทานเหมืองแร่ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ปิดประกาศ ซึ่งหนังสือคัดค้าน ประกอบด้วยสำเนารายชื่อชาวบ้านผู้คัดค้านจำนวน 716 ราย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การสูญเสียที่อาจจะได้รับต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ กล่าวคือ ทรัพยากรธรรมชาติทางด้านป่าไม้ป่าชุมชนป่าน้ำซับซึมป่าต้นน้ำระบบนิเวศรวมถึงแหล่งน้ำที่สำคัญจะถูกทำลายโดย สิ้นเชิงอาทิเช่นพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้สอยในการดำรงชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมถึงแหล่งน้ำของลำห้วยกระพร้อย ที่ไหลลงสู่โครงการอ่างเก็บน้ำกระพร้อย ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของราษฎรในหลายหมู่บ้าน
ความเสียหายที่อาจจะได้รับต่อการประกอบอาชีพเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่พึ่งพาทั้งแหล่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของภูเขาเมื่อมีการทำสัมปทานเมืองแร่แล้วการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอนนอกจากนี้พื้นที่เขตคำขอประทานบัตรดังกล่าวอยู่ห่างจากชุมชนโรงเรียนวัดและสถานที่ท่องเที่ยวประมาณเพียง 1 กิโลเมตรซึ่งจะยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ของประชาชนในด้านสุขภาพร่างกาย และด้านจิตใจที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย
การรังวัดกำหนดเขตพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 กล่าวคือตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการแร่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชนโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ รวมถึงกำหนดให้จัดทำข้อมูลเขตแหล่งแร่ที่รักจะอนุญาตให้ทำเหมืองไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยรัฐจะอนุญาตให้ทำเหมืองได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2560 ซึ่งข้อเท็จจริงในพื้นที่นี้ปรากฏว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวในการรังวัดกำหนดเขตประทานบัตรเป็นเขตในการดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระและเขตเตรียมผนวกของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ รวมถึงเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือเปล่าน้ำซับซึมที่ เชื่อมไหลสู่แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชนในพื้นที่อีกด้วย
ดังนั้นทั้งการประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องกำหนดพื้นที่เขตแหล่งแร่ การรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรรวมถึงการประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องการขอประทานบัตรของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นั้นจะต้องมีการยกเลิกประกาศดังกล่าวเสียก่อนและให้มีการสำรวจจัดทำข้อมูลขึ้นใหม่เพื่อนำไปประกอบพิจารณาในการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต่อไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติพ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่จะต้องไม่ใช้พื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่จะต้องมีการกั้นพื้นที่ดังกล่าวออกเสียก่อนที่จะมีประกาศกำหนดเป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ต่อไปต่อไป
ด้านนายเนตร์ กัญยะมาสา หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ชี้แจงว่า สำนักงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่ในการรับคำขอสัมปทานบัตร ซึ่งผู้ประกอบการมีสิทธิ์ที่จะยืนคำขอ สำหรับในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลเขาโจด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตรในพื้นที่ดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการปิดประกาศ 30 วัน จากนั้นจึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ติดประกาศ ซึ่งขั้นตอนและกระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
นายเนตร์ ได้กล่าวต่อไปว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่คำขอสัมปทานเหมืองแร่เดิม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าพื้นที่ตามคำขอสัมปทานมีการทับซ้อนกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระประมาณร้อยกว่าไร่ ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ได้ทำหนังสือคัดค้านมาแล้ว ซึ่งต้องตัดพื้นที่ดังกล่าวออกไป และทำการรังวัดพื้นที่คำขอใหม่ และหากพื้นที่คำขอสัมปทานทับซ้อนกับพื้นที่ทำกิน ชาวบ้านก็สามารถนำเอกสารหลักฐานยื่นคัดค้านคำขอสัมปทานบัตรเหมืองแร่ได้
คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ ได้รับการจดทะเบียนไว้เป็นคำขอที่ 3/2565 เป็นของบริษัทเขาโจดไมนิ่ง จำกัด มีเนื้อที่ประมาณ 257 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 4 (บ้านสามหลัง – ท่าลำไย) ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยคำขอดังกล่าวลงปิดประกาศเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 โดยตามแผนที่คำขอประทานบัตรดังกล่าว ห่างจากที่ตั้งชุมชนประมาณ 1 กิโลเมตร มีสภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบเนินเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100 เมตร ประเภทป่าเบญจพรรณ รอบพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านจำนวน 22 แปลง และตามแผนคำขอดังกล่าวทางบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยทิศเหนือมีพื้นที่เข้าอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ทิศใต้อยู่ติดเขตพื้นที่เตรียมการประกาศเพื่อผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ โดยพื้นที่ดังกล่าวนอกจากชาวบ้านจะใช้เพื่อการเกษตรกรรมแล้ว ยังมีป่าที่สมบูรณ์ที่ชาวบ้านใช้เก็บของป่า หาหน่อไม้เพื่อดำรงชีวิต และยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญในพื้นที่
ผู้เขียน
กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk