จ.กาญจนบุรี เดินหน้าทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าแบบบูรณาการ เน้นการมีส่วนร่วม และสร้างความยั่งยืน

จ.กาญจนบุรี  เดินหน้าทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าแบบบูรณาการ เน้นการมีส่วนร่วม และสร้างความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ได้จัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการจัดการช้างเชิงบูรณาการภาคตะวันตกอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนประชาชน ประสานรัฐเพื่อจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุมเคียงธารา เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาและพัฒนาข้อเสนอแนะ กรณีได้ผลกระทบจากกรณีช้างป่าออกนอกพื้นที่ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง ผู้แทนอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การ Panthera มูลนิธิ FREELAND สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) สถาบันชุมชนเพื่อการอนุสัตว์ป่า องค์กร Ourland ตัวแทนภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอบ่อพลอย อำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอทองผาภูมิ  เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะ โดยมีทีมวิทยากรหลักจากเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง เข้าร่วมหารือ

โดยในวันที่ 19 กันยายน ได้ดำเนินกิจกรรมทบทวนสถานการณ์ช้างป่าในพื้นที่ 5 อำเภอ ของจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ อ.เมืองกาญจนบุรี อ.บ่อพลอย ติดกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อ.ไทรโยค ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค อ.ทองผาภูมิ ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และ อ.ศรีสวัสดิ์ ติดกับพื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ รวมทั้งประเมินสถานการณ์ ระดับความรุนแรง และผลกระทบที่เกิดขึ้น และนำเสนอผ่านกระบวนการเวทีชุมชน 

ในวันที่ 20 กันยายน ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น มาร่วมรับฟังและให้ความเห็นต่อข้อเสนอของภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคกับชุมชนที่ประสบปัญหาช้างป่าในพื้นที่ ซึ่งให้หน่วยงานภาครัฐเติมกิจกรรมตามภารกิจที่สอดคล้องกับหน่วยงานฯต้นสังกัด จากนั้นจึงร่วมกันคิดเป้าหมายผลกระทบที่เกิดขึ้นร่วมกันทั้งระยะสั้น และระยะยาวในพื้นที่

สรุปข้อมูลสถานการณ์ช้างป่าจากเวทีฯ สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดังนี้ พื้นที่อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอไทรโยค ที่มีแนวเขตติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานฯไทรโยค โดยช้างป่าในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ โขลงใหญ่มีจำนวนประมาณ 50-70 ตัว จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ โดยอพยพจากพื้นที่ ต.ท่าขนุน ต.ลิ่นถิ่น ต.หินดาด อ.ทองผาภูมิ ขึ้นไปทางด้านทิศตะวันออกตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2564  

ส่วนในพื้นที่ ต.ปิล๊อค พบช้างป่าประมาณ 8-10 ตัว อยู่ในพื้นที่โดยพบที่บ้านปากลำปิล๊อค ติดกับพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ กับอุทยานแห่งชาติเขาแหลม 

พื้นที่ อ.ไทรโยค พบช้างป่าในพื้นที่ ต.บ้องตี้ ต.วังกระแจะ และบ้านแม่น้ำน้อย ต.ไทรโยค พื้นที่ละประมาณ 3-5 ตัว ซึ่งเป็นช้างป่าที่อยู่ประจำถิ่นบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

ในส่วนของพื้นที่ อ.เมืองกาญจนบุรี อ.บ่อพลอย และ อ.ศรีสวัสดิ์ มีแนวเขตติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ และพื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ มี กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ ต.วังด้ง ต.หนองหอย อ.เมืองกาญจนบุรี  พื้นที่ อ.บ่อพลอย ต.หนองรี พบช้างป่าจำนวนประมาณ 50-60 ตัว เข้ามาในไร่อ้อย ไร่ข้าวโพดของเกษตรกร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบช้างป่าในพื้นที่อำเภอบ่อพลอย ส่วนในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์พบช้างป่าในพื้นที่ตอนบนของพื้นที่ จำนวนประมาณ 40-50 ตัว ส่วนอุทยานแห่งชาติเอราวัณ บริเวณบ้านหนองบอนพบช้างป่าจำนวนประมาณ 10 ตัว

ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายที่ประชุมได้มีข้อเสนอเป็นวาระเร่งด่วน ดังนี้ (1) เพิ่มศักยภาพชุมชนในการจัดการช้างป่า (2) สนับสนุนสวัสดิการ และทุน ให้กับอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าในทุกพื้นที่ (3) สนับสนุนการอบรมให้ความรู้กับอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยจากช้างป่า เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและช้างป่า (4) จัดตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสร้างฐานข้อมูล แลกเปลี่ยนสถานการณ์ร่วมกันระหว่างเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ 

ข้อสรุปจากกระบวนการเวทีและข้อเสนอดังกล่าว ที่ประชุมได้มีมติจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาช้างป่าทั้ง 5 อำเภอที่ประสบภัยช้างป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีขึ้น รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าในแต่ละพื้นที่ สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคีเครือข่ายจะนำเสนอต่อที่ประชุมในระดับจังหวัด แลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาออกนอกพื้นที่ต่อไป 


เรื่อง ปราโมทย์ ศรีใย