ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง คน กับ ช้างป่า เป็นที่เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ และยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน และมีแนวโน้มสูงขึ้น รุนแรงจนกระทั่งบาดเจ็บ เสียชีวิตทั้งคน และช้าง จากสถิติ พ.ศ. 2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิต จำนวน 17 ราย บาดเจ็บ 6 ราย ช้างล้ม จำนวน 9 ตัว บาดเจ็บ 6 ตัว โดยสาเหตุการเสียชีวิตของคนมากที่สุดเกิดจากการที่ช้างเข้ามาทำร้ายในพื้นที่อนุรักษ์ และการเข้าไปเก็บหาของป่าในพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนพื้นที่ที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่กลุ่มป่าตะวันออก รองลงมาคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
จากข้อมูลเหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาและได้จัดตั้ง “คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า” ขึ้น คำสั่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและดำเนินการงานด้านการอนุรักษ์ จัดการ และแก้ไขปัญหาช้างให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ซึ่งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า ประกอบไปด้วยรองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าเป็นประธาน มีรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ทำหน้าที่รองประธาน และอธิบดีกรมอุทยานฯ ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย กับบทบาทอำนาจหน้าที่คณะกรรมการชุดนี้ หากไม่รวมข้อการปฏิบัติอื่นใดที่รัฐมนตรีมอบหมายแล้ว ก็จะมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่
(1) รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า (2) กำกับติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และจัดการช้าง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (3) กำหนดมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา และแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เพื่อให้ชุมชนและช้างป่าอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน (4) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ และจัดการช้างรวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาและแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า (5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
ข้อสังเกตการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ กระทรวง กรม รวมถึงระดับภูมิภาค และระดับประเทศ หลายครั้งแนวทางการแก้ไขปัญหายังขาดความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านความแตกต่างของปัญหาช้างป่าตามเชิงพื้นที่ พฤติกรรมช้างป่าที่มีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลา ขาดฐานข้อมูลทางมิติด้านสังคม ขาดความเข้าใจ และเชื่อมโยงในการแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาขาดการต่อเนื่องเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ
จากบทเรียนที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รวบรวมความคิดเห็น แนวทางในการแก้ไขปัญหาจากผู้แทนองค์กรภาคเอกชน เครือข่ายนักวิจัย เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าตามบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า ไว้ดังนี้
ข้อคิดเห็นต่อบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า
อ.พิเชฐ นุ่นโต จากเครือข่ายเสียงคน เสียงช้างป่า ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่าโดยคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า ทั้งด้านการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ฯ ด้านองค์ประกอบคณะทำงานแก้ไขปัญหาช้างป่าในระดับพี้นที่ และด้านการสนับสนุนความรู้กับชุมชนที่ประสบปัญหาช้าสงป่า โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้
ด้านการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม เสนอให้ควรมีตัวแทนของภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เป็นคณะอนุกรรมการ กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอ ข้อคิดเห็น รวมถึงให้ข้อมูลในการออกแบบการทำงาน และควรมีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการในระดับจังหวัดที่ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่สถานการณ์ช้างป่า และคณะกรรมการในระดับจังหวัดควรมีการบูรณาการหน่วยงานภายในจังหวัด ระดับอำเภอ ตำบล เพื่อให้เกิดการเชื่อมประสานข้อมูล
ด้านองค์ประกอบของคณะทำงานแก้ไขปัญหาช้างป่าในระดับพื้นที่ ควรจะมีองค์ประกอบ ฝ่ายวิชาการ ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยดำเนินงานอยู่ในรูปอยู่บนพื้นฐานของปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมช้างในพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องมีข้อมูลของเขตพื้นที่อนุรักษ์ งานวิจัย และข้อเสนอของผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวควรจะนำมาออกแบบเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงต้องมีงบประมาณในดำเนินการเพื่อให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นได้จริง และสามารถติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้านการสนับสนุนชุดความรู้ในชุมขน โดยให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา ทั้งเรื่องพฤติกรรม และสถานการณ์ช้างป่า เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้าใจในพฤติกรรมช้าง และสามารถดูแลจัดการตัวเองได้ในเบื้องต้นเมื่อเกิดสถานการณ์
ประทีป มีคติธรรม เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ให้ความเห็นต่อ มาตรการช่วยเหลือ เยียวยา และแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้าง ในระดับนโยบายและข้อกฎหมาย ดังนี้
จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2535 เพื่อให้เกิดการดูแล ชดเชยเยียวยาความเสียหายตามความเสียหายจริงอย่างเป็นธรรม ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าผลกระทบจากช้างป่าเป็นสาธารณภัยรูปแบบหนึ่ง แต่ความเสียหายที่เกิดจากช้างป่าแตกต่างจากสาธารณะภัยทั่วไป เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบของกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนดให้ต้อง “เสียหายอย่างสิ้นเชิง” นอกจากนั้นก่อนจะจ่ายค่าชดเชยต้องต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งมีกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้เวลา เช่น ต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ บุคคลที่จะได้รับความช่วยเหลือต้องเป็นผู้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร เป็นต้น ดังนั้น กรณีบุคคลไร้สัญชาติ หรือยังไม่ได้รับบัตรประชาชนก็ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเยียวยานี้
ปัจจุบันอำนาจในการประกาศเขตภัยพิบัติเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด ในระยะยาวอาจต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระจายอำนาจให้สามารถประกาศเขตภัยพิบัติในเขตปกครองของตนเอง และสามารถจ่ายเงินชดเชยแก้ไขปัญหาได้ การกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาช้างป่าเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์สำหรับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอื่นๆ ในระดับท้องถิ่น เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ ไฟป่า เป็นต้น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยืนยันว่า ยินดีที่จะจ่ายค่าชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่อยากให้มีความชัดเจน ในประเด็นนี้ คงต้องเสนอต่อ “คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อมีหนังสือสั่งการหรือกำหนดแนวทางที่ชัดเจนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจะได้มั่นใจในการดำเนินการ
ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้กำหนดให้เงินค่าเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือค่าบริการอื่นๆ โดยมาตรา60 (8) กำหนดไว้ให้สามารถนำไปจ่ายช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า รวมทั้งตาม (7) ยังสามารถจ่ายเป็นสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือให้กับเจ้าหน้าที่รวมทั้งอาสาสมัครที่ได้รับอันตราย บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตด้วย ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือสวัสดิการแก่บรรดาเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครทำหน้าที่ผลักดันช้าง อย่างไรก็ตามจำเป็นที่จะต้องกับระเบียบหรือกฎหมายลูกให้สอดคล้องกันด้วย
จากข้อคิดเห็นต่อบทบาทอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า” จากผู้แทนองค์การภาคเอกชนที่ทำงานอยู่ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย คงจะเป็นเสียงสะท้อนจากบทเรียนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาได้ในระดับหนึ่ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะนำข้อคิดเห็นที่เสนอแนะไปเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงแก้ไขอุดช่องโหว่ในการแก้ไขปัญหาที่รื้อรังมานานอย่างจริงจัง ด้วยความหวังอยากให้ทั้ง “คน และ ช้างป่า” อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
อ้างอิง
- ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย
- Pratheep Mekatitam, 23 กันยายน 2565
- พิเชฐ นุ่นโต (สัมภาษณ์) 13 พฤจิกายน 2565
ผู้เขียน
กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk